ปกติเรา ๆ ท่าน ๆ มักจะได้ยินการเตือนให้ระวังภัย ’ไฟไหม้“ ในช่วงฤดูร้อน-ฤดูหนาว ที่อากาศร้อนจัด-อากาศแห้ง แต่กับฤดูฝนนี่ก็ใช่ว่าภัยไฟไหม้จะไม่เกิดขึ้น
ซึ่งฤดูฝนในไทยปีนี้ก็มีเหตุไฟไหม้เกิดขึ้นบ่อยมาก และการสันนิษฐานเบื้องต้นถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้ที่ได้ยินกันเป็นประจำเลยก็คือ ’ไฟฟ้าลัดวงจร“
’กระแสไฟฟ้า“ ในช่วงฤดูฝนนี่ยิ่งต้องระวังให้ดี
ทั้งกรณีทำให้ไฟไหม้ และกรณี ’ไฟฟ้าดูดตาย“
“อุบัติภัยจากไฟฟ้าดูด และไฟไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร เป็นภัยใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะหากไม่รู้วิธีป้องกัน วิธีใช้งานที่ถูกต้อง
”...นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการระบุของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งกับการที่จะปลอดภัยจาก “อุบัติภัยกระแสไฟฟ้า” ก็ต้องเริ่มที่ “ไม่ประมาท”
เมื่อไม่ประมาทแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อความปลอดภัย โดยกรณี “ป้องกันไฟไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร” คำแนะนำโดยสังเขปคือ...ต้องตรวจสอบสายไฟฟ้า
ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยอยู่เสมอ เลือกใช้สายไฟฟ้าให้เหมาะกับปริมาณการใช้ไฟฟ้า ไม่เดินสายไฟฟ้าใกล้แหล่งความร้อน หรือใกล้บริเวณที่มีของหนักวางทับ
เพราะจะทำให้ฉนวนหุ้มสายไฟฟ้าชำรุด ส่งผลให้ไฟฟ้ารั่วไหล และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้
นอกจากนี้ ต้องหมั่นตรวจสอบสายไฟฟ้าที่อยู่ภายนอกบ้าน ภายนอกอาคาร ใต้ฝ้าเพดาน หรือฝาผนัง ซึ่งเป็นจุดที่สามารถชำรุดได้ง่าย
และหากเกิดไฟฟ้าลัดวงจรขึ้นก็จะยากต่อการสังเกตเห็น
และอาคาร หรือบ้านเรือนหลังใด หากฟิวส์ขาดบ่อยครั้ง หรือพบว่าสายไฟเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ มีความร้อนผิดปกติ หรือมีเสียงดัง ขณะใช้ไฟ ต้องรีบให้ช่างผู้ชำนาญมาตรวจซ่อม
เพื่อป้องกันไฟไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร
กับ การใช้เครื่องไฟฟ้าต่าง ๆ ก็จำเป็นต้องระมัดระวังการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรจนไฟไหม้ ซึ่งคำแนะนำก็เช่น...ไม่เปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าติดต่อกันเป็นเวลานานมากเกินไป
โดยเฉพาะกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีส่วนประกอบของมอเตอร์ เช่น พัดลม เป็นต้น และต้องระมัดระวังในการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าประเภทที่ให้ความร้อน เช่น เตารีด เตาไฟฟ้า
กระทะไฟฟ้า กระติกน้ำร้อน เพราะอาจเกิดความร้อนสะสมจนทำให้เกิดไฟไหม้ได้
ปลั๊กไฟ ก็ไม่ควรเสียบค้างไว้เป็นเวลานาน ไม่ควรเสียบปลั๊กไว้หลายอันในเต้าเสียบเดียวกัน เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรจนทำให้เกิดไฟไหม้
ต้องถอดปลั๊กไฟ รวมถึงปิดสวิตช์ไฟหลังใช้งาน
’ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างระมัดระวัง“ คือหัวใจสำคัญ
และจะให้ดีก็ ’ควรมีอุปกรณ์ป้องกันไฟไหม้“ ด้วย
ในส่วนของอุปกรณ์ป้องกันไฟไหม้ ที่สำคัญคือเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติที่แผงสวิตช์ควบคุมไฟ ขณะที่การมีถังดับเพลิงเคมีไว้ในจุดที่หยิบใช้งานสะดวกหากเกิดไฟไหม้
ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยกรณีไฟไหม้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งทั้งเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าและถังดับเพลิงนี่ก็ต้องหมั่นตรวจสอบให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
ทั้งนี้ จากกรณีป้องกันไฟไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร ต่อด้วยกรณี “ป้องกันไฟฟ้าดูด” ซึ่งมีคำแนะนำโดยสังเขปคือ...เลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
(มอก.) ไม่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ชัดเจนเรื่องคุณภาพซึ่งอาจทำให้ได้รับอันตรายจากการใช้งานได้ และอย่านำเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในสภาพชำรุดมาใช้งานอย่างเด็ดขาด เครื่องใช้ไฟฟ้า
ที่อยู่ภายนอกบ้านหรือติดตั้งบริเวณที่เปียกชื้นก็ควรมีฝาครอบปิดอย่างมิดชิดปลอดภัย เพื่อช่วยป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วไหลจนทำให้ไฟฟ้าดูด โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน
น้ำ น้ำฝน เป็นสื่อนำไฟฟ้า หากมีกระแสไฟฟ้ารั่วไหลจะเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูด ห้ามใช้และสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้าในขณะที่ตัวเปียกชื้นหรือยืนอยู่บนพื้นที่ชื้นแฉะ
และการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีระบบการทำงานเกี่ยวข้องกับน้ำ เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว เหล่านี้ต้องระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ
ควรศึกษาการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าจากคู่มือและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากไม่มีความรู้เกี่ยวกับระบบไฟฟ้า ห้ามซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยตนเอง
เพราะอาจเกิดข้อผิดพลาดจนทำให้ไฟฟ้าดูดได้ อีกทั้งควรใช้ฝาครอบปลั๊กไฟ หรือใช้ปลั๊กที่มีช่องเสียบแบบหมุน เพื่อป้องกันเด็กนำนิ้วไปแหย่จนทำให้ถูกไฟฟ้าดูด
’ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างระวัง“ จะไม่เสี่ยงถูกไฟดูด
และ ’ควรมีอุปกรณ์ป้องกันไฟดูด“ เป็นอีกตัวช่วย
เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ นี่ก็เป็นตัวช่วยในการป้องกันไฟดูดเช่นเดียวกับกรณีไฟไหม้ ซึ่งเครื่องที่มีสภาพพร้อมใช้งานจะตัดไฟฟ้ากรณีมีไฟรั่วหรือไฟช็อต นอกจากนี้
ควร ต้องติดตั้งสายดินกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีโครงหรือเปลือกหุ้มเป็นโลหะ เช่น ตู้เย็น เครื่องทำน้ำอุ่น ไมโครเวฟ ซึ่งจะช่วยป้องกันการถูกไฟฟ้าดูด’ไฟฟ้าลัดวงจรจนไฟไหม้-ไฟฟ้าดูด“...อันตราย
ในช่วง ’ฤดูฝน...อันตรายนี้อาจยิ่งอยู่ใกล้ตัว“
’อย่าลืมกลัว“...มิฉะนั้นอาจจะสายเกิน!!!!!