พระราชบัญญัติศุลกากร
พุทธศักราช ๒๔๖๙
มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า
โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า วิธีจัด และ ปฏิบัติการของกรมศุลกากรนั้น สมควรจะกำหนดลงไว้ให้เป็นระเบียบสืบไป
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้ โดยบทมาตราดังต่อไปนี้
หมวด ๑
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พระพุทธศักราช ๒๔๖๙ และให้ใช้เป็นกฎหมายเมื่อพ้นวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว ๓ เดือน
บทวิเคราะห์
มาตรา ๒ เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือบทกฎหมายอื่นอันเกี่ยวแก่ศุลกากร และในการแปลความแห่งพระราชบัญญัติหรือบทกฎหมายนั้น ๆ ถ้อยคำต่อไปนี้ ถ้าไม่แย้งกับความในบทหรือเนื้อเรื่องไซร้ ให้มีความหมายและกินความรวมไปถึงวัตถุและสิ่งทั้งหลายดังกำหนดไว้ต่อไปนี้ คือ
คำว่า “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้มีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
คำว่า “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมศุลกากร
คำว่า “พนักงานศุลกากร” และ “พนักงาน” หมายความและกินความรวมไปถึงบุคคลใด ๆ ซึ่งรับราชการในกรมศุลกากร หรือนายทหารแห่งราชนาวี หรือนายอำเภอ หรือผู้ช่วยนายอำเภอ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพิเศษให้กระทำการแทนกรมศุลกากร
คำว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความและกินความรวมไปถึงพนักงานใด ๆ ซึ่งได้ตั้งแต่งให้มีหน้าที่เฉพาะการ หรือพนักงานใดซึ่งกระทำหน้าที่โดยเฉพาะในกิจการตามหน้าที่ของตนโดยปรกติ
คำว่า “ท่าต่างประเทศ” “ภาคต่างประเทศ” หรือ “เมืองต่างประเทศ” หมายความว่า ที่ใด ๆ นอกพระราชอาณาจักรสยาม
คำว่า “เรือกำปั่น” หรือ “เรือ” ให้รวมทั้งสิ่งใด ๆ ที่ได้ทำขึ้นหรือใช้ในการนำส่งคนหรือทรัพย์สินโดยทางน้ำ
คำว่า “นายเรือ” หมายความว่า บุคคลใด ๆ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาหรือควบคุมเรือ
คำว่า “ค่าภาษี” หมายความว่า ค่าภาษี ค่าอากร ค่าธรรมเนียม หรือ ค่าภาระติดพันในทางศุลกากร หรือ อากรชั้นใน
คำว่า “ศุลกากรได้ตรวจมอบไปถูกต้องแล้ว” หมายความและกินความรวมว่าได้ปฏิบัติครบถ้วนตามกฎหมาย ได้ทำใบขนสินค้าถูกต้องและได้เสียค่าภาษีและค่าภาระติดพันครบถ้วนแล้ว
คำว่า “ผู้นำของเข้า” หมายความรวมทั้งและใช้ตลอดถึงเจ้าของหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ครอบครองหรือมีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร และคำว่า “ผู้ส่งของออก” ให้มีความหมายเป็นทำนองเดียวกัน โดยอนุโลม
คำว่า “ราคาศุลกากร” หรือ “ราคา” แห่งของอย่างใดนั้น
(๑) ในกรณีส่งของออก หมายความว่า ราคาขายส่งเงินสดซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลา และที่ที่ส่งของออกโดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด หรือ
(๒) ในกรณีนำของเข้า หมายความว่า ราคาของของเพื่อความมุ่งหมายในการจัดเก็บอากรตามราคาอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(ก) ราคาซื้อขายของที่นำเข้า
(ข) ราคาซื้อขายของที่เหมือนกัน
(ค) ราคาซื้อขายของที่คล้ายกัน
(ง) ราคาหักทอน
(จ) ราคาคำนวณ
(ฉ) ราคาย้อนกลับ
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้ราคาและการกำหนดราคาตาม (ก) (ข) (ค) (ง) (จ) และ (ฉ) ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
คำว่า “อากร” หมายความว่า ค่าภาษี ค่าอากร ค่าธรรมเนียมหรือค่าภาระติดพันในทางศุลกากร หรืออากรชั้นใน
“คำว่า “คลังสินค้า” หมายความว่า โรงพักสินค้า ที่มั่นคงและคลังสินค้าทัณฑ์บน
คำว่า “เขตปลอดอากร” หมายความว่า เขตพื้นที่ที่กำหนดไว้สำหรับการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ โดยของที่นำเข้าไปในเขตดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ
หมวด ๑ ทวิ
คณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากร
มาตรา ๒ ทวิ ให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากรประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสรรพากร อธิบดีกรมสรรพสามิต ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้ทรงคุณวุฒิอีกจำนวนสามคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ
ให้คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการสังกัดกระทรวงการคลังเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ
มาตรา ๒ ตรี ให้กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา ๒ ทวิ มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้
มาตรา ๒ จัตวา นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๒ ตรี กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) รัฐมนตรีให้ออก
(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือเป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทน
กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามวรรคสอง อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน
มาตรา ๒ เบญจ การประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากรต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม
ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
มติของคณะกรรมการให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๒ ฉ ให้กรรมการในคณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากรเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๒ สัตต คณะกรรมการตามมาตรา ๒ ทวิ มีอำนาจดำเนินการ
(๑) กำหนดขอบเขตในการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่
(๒) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการตรวจสอบและประเมินภาษีอากร
(๓) วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับภาษีอากรที่กรมศุลกากรขอความเห็น
(๔) ให้คำปรึกษาหรือเสนอแนะแก่รัฐมนตรีในการจัดเก็บภาษีอากร
การกำหนดตาม (๑) และ (๒) เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตาม
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากรตาม (๓) ให้เป็นที่สุด และในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยในภายหลัง คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงนั้นมิให้มีผลใช้บังคับย้อนหลัง เว้นในกรณีที่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัย ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการตามคำพิพากษาในส่วนที่เป็นโทษย้อนหลังได้เฉพาะบุคคลซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้น
มาตรา ๒ อัฏฐ กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งซึ่งมีส่วนได้เสียในเรื่องใดที่ต้องวินิจฉัยตามมาตรา ๒ สัตต (๓) จะเข้าร่วมประชุมหรือลงมติในเรื่องนั้นมิได้
หมวด ๒
วิธีจัดการและกำหนดท่า ฯลฯ
มาตรา ๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงตั้งหรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รัฐมนตรีตั้งบุคคลผู้สมควรขึ้นเป็นหัวหน้าจัดการงานในกรมศุลกากร และกำกับตรวจตรากิจการอันเป็นหน้าที่ของกรมนั้น บุคคลผู้นั้นซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า “อธิบดี” ให้มีหน้าที่บังคับบัญชาควบคุมบรรดาพนักงานทั้งหลายในกรมศุลกากร มีอำนาจให้เงินเดือนและเงินรางวัล เรียกประกันสำหรับความประพฤติดี และออกข้อบังคับสำหรับกรมตามที่เห็นว่าจำเป็น เพื่อดำเนินการให้เป็นไปโดยเรียบร้อย และบังคับการให้เป็นไปตามนั้น
มาตรา ๔ เพื่อความประสงค์แห่งการนำของเข้าหรือส่งของออกหรือนำของเข้าและส่งของออกและการศุลกากรให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวง
(๑) กำหนดท่าหรือที่ใด ๆ ในราชอาณาจักรให้เป็นท่าหรือที่สำหรับการนำเข้า หรือส่งออกหรือนำเข้าและส่งออกซึ่งของประเภทใด ๆ หรือทุกประเภททางทะเลหรือทางบก หรือให้เป็นท่าหรือที่สำหรับการส่งออกซึ่งของที่ขอคืนอากรขาเข้าหรือของที่มีทัณฑ์บน ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขตามแต่จะเห็นสมควร
(๒) กำหนดสนามบินใด ๆ ในราชอาณาจักรให้เป็นสนามบินศุลกากรโดยมีเงื่อนไขตามแต่จะเห็นสมควร
(๓) ระบุเขตศุลกากร ณ ท่าใด หรือที่ใด หรือสนามบินใดซึ่งได้กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้น
มาตรา ๕ อธิบดีจะตั้งด่านตรวจเรือกำปั่นเข้าและออก และจะวางพนักงานไว้ในเรือกำปั่นลำใด ๆ ในเวลาที่เรือนั้นอยู่ในเขตน่านน้ำสยามก็ได้
มาตรา ๖ (๑) อธิบดีจะกำหนดที่อันสมควรมากน้อยแห่งให้เป็นทำเนียบท่าเรือ ตามกฎหมายสำหรับบรรทุกของลง และขนของขึ้น และกำหนดแสดงเขตแห่งทำเนียบท่าเรือนั้น ๆ ไว้ก็ได้ ห้ามมิให้เรือลำใดบรรทุกสินค้าลง หรือขนสินค้าขึ้น ณ ที่อื่น นอกจาก ณ ที่ซึ่งได้ให้อนุมัติดังว่านั้น หรือภายในเขตที่อธิบดีได้อนุมัติ และอธิบดีจะเรียกประกันจากเจ้าของหรือผู้ปกครองที่นั้น โดยให้ทำทัณฑ์บนหรืออย่างอื่นจนเป็นที่พอใจก็ได้
(๒) อธิบดีอาจดำริสั่งได้ว่า การตรวจสินค้าเข้าและออกนั้นจะพึงกระทำ ณ ที่ใดและโดยวิธีใด และจะบังคับให้สร้างและอนุมัติการสร้างโรงพักสินค้า หรือที่มั่นคงสำหรับเป็นที่ตรวจและเก็บสินค้าที่ยังไม่ได้ตรวจมอบก็ได้ บรรดาโรงพักสินค้าและที่มั่นคงเหล่านั้น ต้องจัดให้มีที่อันสมควรไว้เป็นที่ทำการ ทั้งต้องมีรั้วและประตูให้สมควรจนเป็นที่พอใจของอธิบดี บรรดาประตูนอกและในทั้งปวงต้องลั่นด้วยกุญแจของรัฐบาล ส่วนลูกกุญแจนั้นให้เก็บรักษาไว้ที่ศุลกสถาน ผู้ใดเอากุญแจนั้นออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือบังอาจลอบเข้าไปในโรงพักสินค้าหรือที่มั่นคงเช่นว่านั้น ท่านว่ามีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน
(๓) ถ้าผู้ค้าหรือเจ้าของหรือผู้ปกครองทำเนียบท่าเรือ โรงพักสินค้า หรือที่มั่นคงต้องรับความเสียหาย เพราะเหตุมิได้ไขกุญแจของรัฐบาล ในเวลาอันควรเพื่อเริ่มทำการ (คือเวลาเริ่มทำราชการประจำวัน หรือเวลาเริ่มทำการล่วงเวลาตาม ซึ่งมีใบอนุญาตทางราชการ) ท่านว่ากรมศุลกากรต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนให้แก่ผู้ค้าเจ้าของหรือผู้ปกครองที่นั้นไม่เกินที่ได้เสียหายไป
(๔) ของที่ยังไม่ตรวจมอบนั้น ห้ามมิให้เคลื่อนย้ายที่หรือเอาเข้ารวม หรือเลือกคัด หรือแบ่งแยกกอง หรือบรรจุ หรือกลับบรรจุใหม่ ณ ทำเนียบท่าเรือหรือโรงพักสินค้าใด ๆ นอกจากจะได้รับอนุญาตและมีพนักงานกำกับตรวจตราอยู่ด้วย
(๕) พนักงานกำกับทำเนียบ ท่าเรือ หรือโรงพัก สินค้าใด ๆ จะสั่งให้เอาของที่ยังไม่ได้ตรวจมอบเข้าเก็บไว้ในโรงพักสินค้าหรือที่ล้อมอันมั่นคงก็ได้ ในเมื่อเป็นวิสัยจะทำได้และเมื่อเป็นการจำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์รายได้ของแผ่นดิน และของที่ยังไม่ได้ตรวจมอบนี้ห้ามมิให้ปล่อยทิ้งไว้ในที่ส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งทำเนียบท่าเรืออันเป็นที่โล่ง ซึ่งอธิบดีเห็นว่าศุลกากรจะไม่สามารถระวังรักษาให้เพียงพอได้
(๖) เพื่อให้การจัดเก็บอากรสำหรับสินค้าอันตรายเป็นไปโดยสอดคล้องกับความปลอดภัยในการขนถ่ายหรือการเก็บรักษาสินค้าในเขตศุลกากรแห่งใดแห่งหนึ่ง เมื่ออธิบดีได้หารือกับผู้รับผิดชอบประจำท่าหรือที่หรือสนามบินที่เป็นเขตศุลกากรแห่งนั้นแล้วให้มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดชนิดหรือประเภทของสินค้าอันตรายและวิธีการเก็บอากรของสินค้าดังกล่าว ตลอดจนกำหนดเงื่อนไขในการขนถ่าย การเก็บรักษาสินค้า และการนำสินค้านั้นออกไปจากเขตศุลกากรแห่งนั้น ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
มาตรา ๗ (๑) บรรดาทำเนียบท่าเรือ โรงพักสินค้าและที่มั่นคงทั้งหลายในท่ากรุงเทพฯ ซึ่งใช้อยู่ในเวลาที่ประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ถือเป็นทำเนียบท่าเรือ โรงพักสินค้าและที่มั่นคงซึ่งได้อนุมัติแล้วตามความในมาตราก่อน แต่หากต้องเป็นที่ซึ่งไม่มีทางจะเข้าไปในโรงพักสินค้าและที่มั่นคงนั้น ๆ ได้ เมื่อได้ลั่นกุญแจของรัฐบาลแล้ว
(๒) เมื่อได้ประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้แล้ว ถ้าผู้ใดร้องขออนุมัติทำเนียบท่าเรือโรงพักสินค้าหรือที่มั่นคงแห่งหนึ่งแห่งใด และอธิบดีไม่เต็มใจจะให้อนุมัติไซร้ ให้อธิบดีแจ้งข้อขัดข้องเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังผู้ร้องภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง ในเมื่อที่นั้น ๆ ตั้งอยู่ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ หรือภายในสองเดือนถ้าตั้งอยู่ที่อื่น ถ้าและคำแจ้งข้อขัดข้องนั้นมิได้ส่งไปภายในกำหนดเวลาดังระบุไว้นี้ไซร้ ให้พึงถือว่าที่นั้น ๆ เป็นอันได้อนุมัติแล้ว ถ้าอธิบดีและผู้ร้องไม่สามารถจะตกลงกันได้ ก็ให้ตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายละสองคนเป็นผู้ตัดสินข้อโต้เถียง ถ้าอนุญาโตตุลาการทั้งสองฝ่ายตกลงกันมิได้ ให้อนุญาโตตุลาการนั้น ๆ ตั้งผู้ชี้ขาด และให้เป็นอันยุติถึงที่สุดตามคำตัดสินของผู้ชี้ขาดนั้น
(๓) การให้อนุมัติชั่วคราวสำหรับที่ต่าง ๆ ซึ่งคิดจะตั้งขึ้นนั้น เมื่อผู้ร้องได้ทำแผนผังส่งแล้ว ก็ให้อนุมัติชั่วคราวได้
(๔) เจ้าของหรือผู้ปกครองทำเนียบท่าเรือ โรงพักสินค้า หรือที่มั่นคงทุกแห่ง ซึ่งได้อนุมัติตามพระราชบัญญัตินี้ จะได้รับคำแจ้งความแถลงการให้อนุมัตินั้นเป็นลายลักษณ์อักษร ในคำแจ้งความนี้ให้แสดงเขตและระเบียบการแห่งที่นั้นลงไว้ให้ชัดเจน และถ้าเจ้าของหรือผู้ปกครองที่ได้ยื่นแผนผังอันแท้จริงแห่งที่นั้นด้วย ก็ให้อธิบดีเขียนคำรับรองแผนผังนั้น อนึ่งการให้อนุมัติที่ใด ๆ ดังได้ระบุและกำหนดเขตไว้นั้น ให้เป็นอันสมบูรณ์อยู่ตราบเท่าเวลาซึ่งที่นั้น ๆ คงรูปอยู่ไม่เปลี่ยนแปลงในทางก่อสร้างและระเบียบการ และตราบเท่าเวลาที่ประกัน ซึ่งได้ให้ไว้ยังคงเป็นที่พอใจของอธิบดี
มาตรา ๗ (ก) เจ้าของหรือผู้ปกครองโรงพักสินค้า จะต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสำหรับโรงพักสินค้าประจำปี ทุกโรงพักสินค้า ซึ่งได้รับอนุมัติตามมาตรา ๖ หรือมาตรา ๗ ดังแจ้งไว้ในใบแนบ ๔ (ฉ)
มาตรา ๘ อธิบดีจะอนุมัติและกำหนดสถานที่ตรวจและเก็บของซึ่งมีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นคลังสินค้าทัณฑ์บนก็ได้ โดยอาจกำหนดวิธีการและข้อจำกัดเกี่ยวกับการเก็บของตลอดจนข้อบังคับเพื่อการดำเนินการและตรวจตราควบคุมคลังสินค้าทัณฑ์บนตามที่เห็นสมควร
เพื่อเป็นประกันค่าภาษีอากรหรือค่าชดใช้อย่างอื่นซึ่งกรมศุลกากรอาจเรียกร้องได้ตามกฎหมายหรือข้อตกลง อธิบดีอาจเรียกประกันจากเจ้าของหรือผู้ปกครองคลังสินค้าทัณฑ์บนโดยให้ทำทัณฑ์บน และหรืออย่างอื่นจนเป็นที่พอใจ
เจ้าของหรือผู้ปกครองคลังสินค้าทัณฑ์บนจะต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประจำปีตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยกฎกระทรวง
มาตรา ๘ ทวิ อธิบดีมีอำนาจ
(๑) อนุมัติให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับแสดงและขายของที่เก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บนนั้น โดยให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
(๒) อนุมัติให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับทำการผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการอื่นใดกับของที่นำเข้ามาและเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บนนั้น โดยให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
เว้นแต่จะมีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้คลังสินค้าทัณฑ์บนตาม (๑) และ (๒) อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติว่าด้วยคลังสินค้าทัณฑ์บน
มาตรา ๙ บรรดาคลังสินค้า โรงเก็บสินค้า หรือที่มั่นคงอย่างอื่นจะเป็นที่สำหรับตรวจหรือเก็บของก็ดี ให้พ่อค้าหรือบุคคลอื่นซึ่งเกี่ยวข้องสร้างขึ้น และบำรุงรักษาโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง
หมวด ๓
การเสียค่าภาษี
มาตรา ๑๐ บรรดาค่าภาษีนั้น ให้เก็บตามบทพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร การเสียค่าภาษีให้เสียแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้
ถ้าค่าภาษีที่ได้เสียไว้ไม่ครบถ้วนตามจำนวนที่จะต้องเสียจริง กรมศุลกากรมีสิทธิเรียกเก็บส่วนที่ขาดจนครบ แต่ในกรณีที่ปรากฏหลังจากที่ได้ปล่อยของไปจากอารักขาของศุลกากร หรือได้ส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรแล้วว่า ค่าภาษีที่ได้เสียไว้ไม่ครบถ้วนตามจำนวนที่จะต้องเสียจริง และค่าภาษีที่ขาดมีจำนวนไม่เกินยี่สิบบาทตามใบขนสินค้าฉบับหนึ่ง ๆ อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายจะสั่งให้งดการเรียกเก็บเพิ่มเติมก็ได้
เว้นแต่ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของใด ๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ นั้น ให้มีอายุความสิบปี แต่ในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิด ให้มีอายุความสองปี ทั้งนี้นับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออก
ในกรณีที่เห็นสมควร อธิบดีมีอำนาจคืนเงินอากรส่วนที่เสียไว้เกินเฉพาะในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิดโดยไม่จำต้องมีคำเรียกร้องขอคืน แต่มิให้สั่งคืนเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออก
สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงเป็นอันสิ้นไปเมื่อครบกำหนดสองปีนับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออก แล้วแต่กรณี แต่คำเรียกร้องขอคืนอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของใด ๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ นั้น มิให้รับพิจารณาหลังจากที่ได้เสียอากรและของนั้น ๆ ได้ส่งมอบหรือส่งออกไปแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่ได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบหรือส่งออกว่าจะยื่นคำเรียกร้องดังกล่าว หรือในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พึงต้องรู้อยู่ก่อนส่งมอบหรือส่งออกว่าอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่พึงต้องเสียสำหรับของที่ส่งมอบหรือส่งออก
มาตรา ๑๐ ทวิ ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ
ภายใต้บังคับมาตรา ๘๗ และมาตรา ๘๘ การคำนวณค่าภาษีให้ถือตามสภาพของราคาของและพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีเกิดขึ้น แต่ในกรณีของที่เก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บน ให้คำนวณตามพิกัดอัตราศุลกากรที่ใช้อยู่ในเวลาซึ่งได้ปล่อยของเช่นว่านั้นออกไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บน ไม่ว่าจะปล่อยออกไปในสภาพเดิมที่นำเข้าหรือในสภาพอื่น
ในกรณีของที่ปล่อยออกไปจากเขตปลอดอากร ให้คำนวณค่าภาษีตามสภาพของราคาของและพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาซึ่งได้ปล่อยของเช่นว่านั้นออกไปจากเขตปลอดอากร แต่ในกรณีที่ได้นำของที่มีอยู่ในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตปลอดอากร โดยของที่นำเข้าไปนั้นไม่มีสิทธิได้รับการคืนหรือยกเว้นอากร ไม่ต้องนำราคาของดังกล่าวมาคำนวณค่าภาษี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีเห็นชอบหรือที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา ๑๐ ตรี ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่ส่งออกเกิดขึ้นในเวลาที่ส่งของออกสำเร็จ
การคำนวณค่าภาษีให้ถือตามสภาพของ ราคาของ และพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้
การขอคืนค่าภาษีในกรณีที่มิได้ส่งของออกนอกราชอาณาจักร ให้กระทำได้เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวัน แต่ไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่ออกใบขนสินค้าให้
มาตรา ๑๑ การกำหนดราคาศุลกากรในกรณีนำของเข้าจะต้องรวมค่าประกันภัย ค่าขนส่งของที่นำเข้ามายังท่าหรือที่ที่นำของเข้า ค่าขนของลง ค่าขนของขึ้นและค่าจัดการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งของที่นำเข้ามายังท่าเรือหรือที่ที่นำของเข้า
ในกรณีที่ไม่มีมูลค่าของรายการค่าประกันภัย หรือค่าขนส่งของที่นำเข้ามายังท่าหรือที่ที่นำของเข้าหรือไม่มีค่าขนของลง ค่าขนของขึ้น หรือค่าจัดการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งของที่นำเข้ามายังท่าหรือที่ที่นำของเข้า การกำหนดมูลค่าของรายการดังกล่าวให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด
มาตรา ๑๑ ทวิ ในกรณีที่พิจารณาเห็นว่า ราคาสำแดงของของที่นำเข้ามีราคาต่ำอย่างปรากฏชัดหรือไม่น่าจะเป็นมูลค่าอันแท้จริง และหากได้มีการกำหนดราคาศุลกากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้ราคาและการกำหนดราคาศุลกากรตามความใน (๒) (ก) (ข) (ค) (ง) และ (จ) ของบทนิยามคำว่า “ราคาศุลกากร” หรือ “ราคา” ในมาตรา ๒ แล้วยังคงมีราคาต่ำอย่างปรากฏชัดหรือไม่น่าจะเป็นมูลค่าอันแท้จริงของของนั้นอีก ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดราคาศุลกากรของของดังกล่าวได้
มาตรา ๑๒ ถ้าไม่ตกลงในเรื่องราคาศุลกากรสำหรับของอย่างใด ๆ ให้อธิบดีมีอำนาจที่จะรับของนั้นไว้เป็นค่าภาษี หรือจะซื้อของนั้นไว้ทั้งหมดหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด หรือกองหนึ่งกองใดในของชนิดหนึ่ง หรือประเภทหนึ่ง เต็มทั้งส่วนหรือทั้งกองตามราคาที่สำแดงไว้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละสองกึ่งหรือถ้าไม่รับของไว้เป็นค่าภาษีหรือรับซื้อไว้ดังว่านี้ อธิบดีและเจ้าของต่างมีอำนาจตั้งอนุญาโตตุลาการมีจำนวนเท่ากัน แต่ไม่เกินฝ่ายละสองคน เพื่อช่วยให้ตกลงกันในข้อโต้เถียง
ถ้าอนุญาโตตุลาการทั้งสองฝ่ายไม่ตกลงกันได้ ให้อนุญาโตตุลาการนั้น ๆ ตั้งผู้ชี้ขาด และให้เป็นอันยุติถึงที่สุดตามคำตัดสินของผู้ชี้ขาดนั้น
มาตรา ๑๓ บรรดาการชั่งของ การสอบ การตีราคาของ ฯลฯ เพื่อประเมินค่าภาษี หรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่นในราชการนั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในกรมศุลกากรเป็นผู้ทำ
หมวด ๔
การตรวจของและป้องกันลักลอบหนีศุลกากร
มาตรา ๑๔ เมื่อของผ่านศุลกากร หรืออยู่ในความกำกับตรวจตราของศุลกากรด้วยประการใด ๆ ก็ดี พนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรคนหนึ่งคนใดจะให้เปิดหีบห่อและตรวจของนั้นในเวลาใด ๆ ก็ได้ พนักงานนั้นจะเอาตัวอย่างของใด ๆ ไปเพื่อตรวจหรือสอบ หรือตีราคา หรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่นก็ได้แล้วแต่จะเห็นว่าจำเป็น ตัวอย่างของนี้ต้องส่งให้โดยไม่คิดราคา และพนักงานนั้นจะเลือกเอาออกจากหีบห่อหรือส่วนใดแห่งของนั้นก็ได้ แต่ว่าตัวอย่างของเช่นนี้จะต้องเอาไปแต่เพียงขนาดหรือปริมาณพอสมควร และจะต้องเอาออกโดยวิธีอันจะทำให้เจ้าของเสียหายหรือลำบากอย่างน้อยที่สุดที่จะเป็นได้ และเมื่อไรสามารถจะคืนได้ ก็ให้คืนแก่เจ้าของไปโดยเร็ว
มาตรา ๑๕ พนักงานศุลกากรอาจขึ้นไปบนเรือลำใด ๆ ก็ได้ภายในพระราชอาณาเขต และอาจอยู่ในเรือนั้นได้ตลอดเวลาที่ทำการบรรทุกสินค้าลงหรือขนสินค้าขึ้น หรือจนกว่าเรือนั้นออกไป ไม่ว่าในที่ส่วนใด ๆ ของเรือ และไม่ว่าในเวลาใด ๆ ให้พนักงานศุลกากรเข้าถึงและตรวจค้นได้ และอาจตรวจดูสมุดหนังสือหรือบันทึกเรื่องราว หรือเอกสารไม่ว่าอย่างใด ๆ ที่เกี่ยวกับสินค้าในเรือได้ อาจสั่งให้เปิดห้องส่วนใด ๆ ของเรือ หรือให้เปิดหีบห่อ หรือที่บรรจุของอย่างใด ๆ ได้ หรือถ้าจำเป็นจะให้หักเปิดสิ่งนั้น ๆ ก็ได้ อาจประจำเครื่องหมายหรือประทับตรา หรือลั่นกุญแจ หรือผูกมัดของใด ๆ ที่อยู่ในเรือ หรือที่ใด หรือหีบห่อใด ๆ ก็ได้ และถ้าเครื่องหมาย ดวงตรา กุญแจ หรือเครื่องผูกมัดนั้นได้มีผู้ถอนไป หรือเปิดออก หรือหักต่อย หรือเปลี่ยนแปลงไปโดยจงใจไซร้ ท่านว่านายเรือมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๑๕ ทวิ ผู้ใดขึ้นไปบนเรือเดินต่างประเทศขณะที่อยู่ในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่นายเรือ ลูกเรือ ผู้โดยสารและผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติบนเรือนั้น
มาตรา ๑๖ ของใดที่ศุลกากรยังมิได้ตรวจมอบไปโดยชอบ พนักงานศุลกากรอาจถอนไป ขนขึ้นและเก็บไว้ในที่มั่นคงก็ได้
มาตรา ๑๗ พนักงานศุลกากรอาจตรวจค้นหีบห่อของคนโดยสารแล้วปล่อยผ่านภาษีได้ และถ้าในหีบห่อนั้นมีของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีก็ดี ของต้องจำกัดก็ดี ของต้องห้ามก็ดี พนักงานจะกักหีบห่อนั้นไว้ก็ได้
มาตรา ๑๘ พนักงานศุลกากรอาจตรวจค้นบุคคลใด ๆ ในเรือกำปั่นลำใด ๆ ในเขตท่า หรือบุคคลที่ขึ้นจากเรือกำปั่นลำใด ๆ ก็ได้ แต่ต้องมีเหตุอันสมควรสงสัยว่าบุคคลนั้น ๆ มีหรือพาไปกับตนซึ่งของอันยังมิได้เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม จึงให้ตรวจค้นได้ อนึ่ง ก่อนที่จะตรวจค้นบุคคลผู้ใด บุคคลผู้นั้นอาจร้องขอให้นำตนอย่างเร็วตามควรแก่เหตุไปยังพนักงานศุลกากรผู้ใหญ่มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าสารวัตรหรือนายด่าน นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ หรือหัวหน้าสถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด ส่วนพนักงานที่มีผู้นำบุคคลเช่นนี้มาส่งนั้นจะต้องวินิจฉัยว่ามีเหตุอันควรสงสัยเพียงพอ หรือไม่ และจะควรให้ตรวจค้นหรือไม่ ถ้าบุคคลนั้นเป็นหญิงก็ให้ใช้หญิงเป็นผู้ตรวจค้น
ถ้าพนักงานผู้ใดตรวจค้นบุคคลใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ท่านว่าพนักงานผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
มาตรา ๑๙ พนักงานศุลกากรอาจสั่งให้หยุดรถ เกวียน หรือยานพาหนะอย่างอื่นๆ และตรวจค้นเพื่อให้ทราบว่ามีของที่ลักลอบหนีศุลกากรหรือไม่ แต่ต้องมีเหตุอันควรสงสัยว่ารถเกวียน หรือยานพาหนะนั้นได้ใช้ หรือกำลังใช้เนื่องกับเรือกำปั่น หรือคลังสินค้า หรือโรงเก็บสินค้า หรือที่ขนของขึ้น หรือทำเนียบท่าเรือ หรือทางน้ำ หรือทางผ่านพรมแดน หรือทางรถไฟ ผู้ใดไม่ยอมหรือขัดขวาง หรือพยายามจะขัดขวางต่อการตรวจเช่นนี้ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
มาตรา ๒๐ ถ้าพบผู้ใดกำลังกระทำผิดหรือพยายามกระทำผิด หรือใช้ หรือช่วย หรือยุยงให้ผู้อื่นกระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจจับผู้นั้นได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ แล้วนำส่งยังสถานีตำรวจพร้อมด้วยของกลางที่เกี่ยวกับการกระทำผิดหรือพยายามกระทำผิด เพื่อจัดการตามกฎหมาย และถ้ามีเหตุอันสมควรสงสัยว่าบุคคลใดได้กระทำผิด พระราชบัญญัตินี้ก็ดี หรือมีสิ่งของไปกับตัวอันจะเป็นของที่เกี่ยวกับการกระทำผิดมาแล้ว หรืออาจได้กระทำผิดขึ้นก็ดี พนักงานเจ้าหน้าที่อาจจับผู้นั้นส่งไปจัดการโดยทำนองเดียวกัน
มาตรา ๒๐ ทวิ ในกรณีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นในทะเลอาณาเขต เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จับผู้ต้องหาและส่งตัวผู้ต้องหาให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ใด ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่นั้นเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ในกรณีนี้ มิให้นับระยะเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหาส่งให้พนักงานสอบสวนเป็นเวลาควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๒๑ เรือทุกลำเมื่อมาถึงเขตท่าต้องหยุดลอยลำ ณ ด่านตรวจที่กำหนดไว้ และต้องให้ความสะดวกทุกอย่างแก่พนักงานศุลกากร ในการที่จะเข้าไปและขึ้นบนเรือ ถ้าพนักงานศุลกากรสั่งให้เรือนั้นทอดสมอก็ต้องกระทำตาม นายเรือต้องตอบคำถามใด ๆ ของพนักงานอันเกี่ยวแก่เรือ คนประจำเรือ คนโดยสาร การเดินทางและลักษณะของสินค้าในเรือ ให้นายเรือรายงานถึงอาวุธปืน กระสุนปืน ดินปืน หรือวัตถุระเบิดอันมีอยู่ในเรือ และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สั่ง นายเรือต้องส่งมอบ อาวุธปืน และกระสุนปืนทั้งหมดให้อยู่ในความรักษาของพนักงานกำกับด่านตรวจ และให้ส่งวัตถุระเบิดทั้งหมดไปในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้ตั้งแต่งขึ้นเพื่อการนี้ นายเรือต้องปฏิบัติตามคำสั่งอันควรของพนักงานศุลกากรทุกประการ ให้วางพนักงานศุลกากรลงประจำเรือ เพื่อกำกับไปจนถึงที่จอดในท่าอันจะได้กำหนดให้สำหรับลำเรือนั้น ให้ประพฤติต่อพนักงานศุลกากรโดยสุภาพ และให้พนักงานนั้น ๆ มีที่พักบนเรือโดยสมควร ห้ามมิให้เรือลำใดล่วงด่านตรวจไปโดยไม่มีพนักงานศุลกากรลงประจำบนเรือ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตพิเศษจากพนักงานกำกับด่าน ถ้าและนายเรือหรือบุคคลผู้ใดซึ่งเป็นผู้ควบคุมเรือ ไม่ยอมหรือละเลยไม่กระทำตามดังว่านี้ ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๒๒ เรือลำใดออกไปจากท่าจะให้มีพนักงานศุลกากรกำกับไปจนถึงด่านตรวจก็ได้ เมื่อไปถึงที่นั้นให้เรือหยุดลอยลำ เพื่อส่งพนักงานขึ้น และเพื่อให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจ ส่วนอาวุธปืน กระสุนปืน ดินปืน หรือวัตถุระเบิดใด ๆ ที่ได้ส่งมอบไว้ในความรักษาของศุลกากรเมื่อเรือมาถึงนั้น ให้คืนแก่เรือไป ถ้าเรือลำใดมีพนักงานศุลกากร หรือพนักงานอื่นของรัฐบาลอยู่บนเรือ และออกจากท่าไป โดยพนักงานนั้น ๆ ไม่ยินยอมก็ดี หรือไม่ให้ความสะดวกอันควรแก่พนักงานเพื่อทำการตามหน้าที่ ท่านว่านายเรือมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๒๓ ถ้าเรือลำใดที่จะพึงต้องถูกยึดหรือตรวจตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่หยุดลอยลำเมื่อได้สั่งให้หยุด และมีเรือในราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือของกรมศุลกากร ชักธงหมายตำแหน่ง ธงหมายราชการไล่ติดตามไป เมื่อได้ให้ยิงปืนเป็นอาณัติสัญญานัดหนึ่งก่อนแล้ว ท่านว่าพนักงานควบคุมเรือที่ไล่ติดตามนั้น มีอำนาจตามกฎหมายที่จะยิงเรือซึ่งกำลังหนีนั้นได้
มาตรา ๒๔ สิ่งใด ๆ อันจะพึงต้องริบตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานศุลกากร พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ มีอำนาจยึดในเวลาใด ๆ และ ณ ที่ใด ๆ ก็ได้
สิ่งที่ยึดไว้นั้น ถ้าเจ้าของหรือผู้มีสิทธิไม่มายื่นคำร้องเรียกเอาภายในกำหนด หกสิบวัน สำหรับยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำผิด หรือสามสิบวันสำหรับสิ่งอื่น นับแต่วันที่ยึด ให้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของ และให้ตกเป็นของแผ่นดิน โดยมิพักต้องคำนึงว่าจะมีการฟ้องคดีอาญานั้นหรือไม่
มาตรา ๒๕ บรรดาของหรือสิ่งที่ยึดไว้ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องส่งมอบให้อยู่ในความรักษาของพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือถ้าไม่มีพนักงานเช่นว่านี้ภายในระยะใกล้พอควร ก็ให้ส่งมอบให้อยู่ในความรักษาของอำเภอที่ใกล้ที่สุด ซึ่งจะได้รักษาไว้แทนศุลกากร สิ่งของที่ยึดและริบไว้ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือบทกฎหมายอื่นอันเกี่ยวแก่ศุลกากรนั้น ให้จำหน่ายตามแต่อธิบดีจะสั่ง
ถ้าของที่ยึดไว้นั้นเป็นของเสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาจะมากเกินสมควร อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายจะสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นตามที่เห็นสมควรก่อนที่ของนั้นจะตกเป็นของแผ่นดินก็ได้ เงินค่าขายของนั้นเมื่อได้หักค่าใช้จ่ายและค่าภาระติดพันทั้งปวงออกแล้ว ให้ถือไว้แทนของ
มาตรา ๒๖ สิ่งใด ๆ อันจะพึงต้องยึดตามพระราชบัญญัตินี้ จะนำไปแสดงที่สถานีตำรวจหรือศาลก็ได้ในเมื่อเป็นของต้องการในคดีที่ตำรวจฟ้อง ในการนี้ให้พนักงานตำรวจแจ้งความเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังพนักงานศุลกากรว่า ของนั้นได้ยึดไว้ แล้วให้จัดการนำของนั้นไปยังศุลกสถานโดยเร็วตามแต่จะทำได้ และส่งมอบให้อยู่ในความรักษาของศุลกากร
มาตรา ๒๗ ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในพระราชอาณาจักรสยามก็ดี หรือส่ง หรือพาของเช่นว่านี้ออกไปนอกพระราชอาณาจักรก็ดี หรือช่วยเหลือด้วยประการใด ๆ ในการนำของเช่นว่านี้เข้ามา หรือส่งออกไปก็ดี หรือย้ายถอนไป หรือช่วยเหลือให้ย้ายถอนไปซึ่งของดังกล่าวนั้นจากเรือกำปั่น ท่าเทียบเรือ โรงเก็บสินค้า คลังสินค้า ที่มั่นคง หรือโรงเก็บของโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ดี หรือให้ที่อาศัยเก็บ หรือเก็บ หรือซ่อนของเช่นว่านี้ หรือยอม หรือจัดให้ผู้อื่นทำการเช่นว่านั้นก็ดีหรือเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการขนหรือย้ายถอน หรือกระทำอย่างใดแก่ของเช่นว่านั้นก็ดี หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร หรือในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดใด ๆ อันเกี่ยวแก่การนำของเข้า ส่งของออก ขนของขึ้น เก็บของในคลังสินค้า และการส่งมอบของโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ก็ดี หรือหลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือข้อจำกัดอันเกี่ยวแก่ของนั้นก็ดี สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
มาตรา ๒๗ ทวิ ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านศุลกากร โดยถูกต้องก็ดี หรือเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวแก่ของนั้นก็ดี มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๗ ตรี ห้ามมิให้เรือขนถ่ายสิ่งของใด ๆ ในทะเลนอกเขตท่าโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้านายเรือหรือบุคคลใดฝ่าฝืน มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นเงินสามเท่าของราคาของหรือปรับเป็นเงินหนึ่งแสนบาท แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า หรือทั้งจำทั้งปรับ
ของใด ๆ อันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรานี้ ให้ริบเสียสิ้นโดยไม่พักต้องคำนึงว่าบุคคลผู้ใดจะต้องรับโทษหรือไม่
มาตรา ๒๘ ถ้าปรากฏว่าเรือลำใดอยู่ในเขตท่ามีสินค้าในเรือ และภายหลังมาปรากฏว่าเรือลำนั้นเบาลอยตัวขึ้น หรือมีแต่อับเฉาและนายเรือไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ว่า ได้ขนสินค้าขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่านายเรือนั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และจะให้ริบตัวเรือนั้นก็ได้
มาตรา ๒๙ ถ้าปรากฏว่าเรือลำใดมีที่ปิดบังหรือที่พราง หรือเครื่องกลอุบายอย่างใด ๆ ทำขึ้นไว้เพื่อลักลอบหนีศุลกากร ท่านว่า นายเรือ นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท แต่นายเรือไม่พึงต้องรับโทษ นอกจากจะมีเหตุอันควรเชื่อว่าได้ละเลยไม่ระวังให้เข้มงวดตามควรที่จะป้องกัน หรือว่าได้เกี่ยวข้อง หรือรู้เห็นด้วยในการสร้าง หรือทำ หรือวาง หรือใช้ที่ หรือเครื่องกลอุบายนั้น อนึ่งที่หรือเครื่องกลอุบายนี้ให้ทำลายเสีย หรือทำเสียให้เป็นของไร้โทษทุจริตจนเป็นที่พอใจของพนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา ๓๐ ถ้าปรากฏว่าเรือลำใดมีของเป็นหีบห่อซึ่งมีขนาด หรือลักษณะขัดต่อบทพระราชบัญญัตินี้ หรือบทกฎหมาย หรือประกาศอื่น ท่านว่านายเรือมีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และของนั้นให้ริบเสีย
มาตรา ๓๑ ของที่ต้องเสียค่าภาษี หรือที่ต้องจำกัด หรือต้องห้ามนั้น ผู้ใดนำ หรือยอมให้ผู้อื่นนำ หรือเกี่ยวข้องในการนำลงใน หรือออกจากเรือลำใดในทะเล หรือในแม่น้ำลำคลอง ซึ่งอาจเป็นทางแก่การฉ้อประโยชน์รายได้ของแผ่นดินก็ดี การหลีกเลี่ยงข้อจำกัด หรือข้อห้ามก็ดี ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗
มาตรา ๓๒ เรือชนิดใด ๆ อันมีระวางบรรทุกไม่เกินสองร้อยห้าสิบตัน รถ เกวียน ยานพาหนะ หีบห่อ หรือภาชนะใด ๆ หากได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการย้าย ซ่อนเร้น หรือขนของที่มิได้เสียค่าภาษีหรือที่ต้องจำกัดหรือต้องห้าม ให้ริบเสียสิ้น โดยไม่พักต้องคำนึงว่าบุคคลผู้ใดจะต้องรับโทษหรือไม่ และถ้ามีของอื่นรวมอยู่ในหีบห่อหรือภาชนะอื่น หรือในเรือ รถ เกวียน หรือยานพาหนะอันปรากฏว่ามีของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีหรือที่ต้องจำกัดหรือต้องห้าม ก็ให้ริบของนั้น ๆ เสียดุจกัน
ถ้าเรือที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำตามวรรคหนึ่งมีระวางบรรทุกเกินสองร้อยห้าสิบตันให้ศาลมีอำนาจสั่งริบเรือนั้นได้ตามควรแก่การกระทำความผิด
มาตรา ๓๒ ทวิ ในกรณีของที่ริบได้เนื่องจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้มิได้เป็นของผู้กระทำความผิด ให้ศาลมีอำนาจสั่งริบได้ถ้าเจ้าของนั้นรู้หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีหรือจะมีการกระทำความผิด แต่มิได้กระทำการใดเพื่อมิให้เกิดการกระทำความผิดหรือแก้ไขมิให้การกระทำนั้นบรรลุผล หรือมิได้ระมัดระวังมิให้ของนั้นไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
มาตรา ๓๓ ถ้ามีความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรเกิดขึ้นเกี่ยวกับเรือซึ่งมีระวางบรรทุกเกินสองร้อยห้าสิบตัน และนายเรือนั้นไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ว่าตนได้จัดการเต็มตามวิสัยที่จะจัดได้ เพื่อที่จะสืบค้นให้พบและป้องกันเสียซึ่งการกระทำผิดนั้นแล้วไซร้ ท่านว่านายเรือมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท
มาตรา ๓๔ (ยกเลิก)
มาตรา ๓๕ บรรดาของที่นำเข้ามา หรือส่งออกโดยทางไปรษณีย์นั้น ต้องสำแดงและลงบัญชีโดยถูกต้อง และมีระวางโทษเป็นทำนองเดียวกันกับของที่นำเข้ามา หรือส่งออกโดยทางเรือ เว้นไว้แต่ความรับผิด และโทษนั้นจะตกแก่ผู้มีชื่อที่จะรับของอันนำเข้ามา และผู้ส่งของอันจะส่งออกไป หรือตกแก่ผู้รับ หรือผู้นำของส่ง ณ ที่ทำการไปรษณีย์แล้วแต่กรณี
มาตรา ๓๖ บทบัญญัติแห่งมาตรา ๒๗ ให้ใช้บังคับแก่ของที่นำเข้ามา หรือส่งออกไปโดยทางไปรษณีย์ด้วย
มาตรา ๓๗ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจตรวจห่อพัสดุไปรษณีย์ที่เข้ามาหรือออกไปจากพระราชอาณาจักรได้ และถ้ามีความสงสัย อาจกักห่อจดหมายใด ๆ ไว้ ณ ศุลกสถานได้ จนกว่าผู้ส่ง หรือผู้มีชื่อที่จะรับจะได้กระทำให้เป็นที่พอใจว่า ไม่มีของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีหรือที่ต้องจำกัด หรือต้องห้ามในห่อนั้น การที่ศุลกากรจะตรวจห่อไปรษณีย์นี้ จะกระทำ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ หรือที่ศุลกสถานก็ได้
หมวด ๔ ทวิ
อำนาจทางศุลกากรในเขตต่อเนื่อง
มาตรา ๓๗ ทวิ เรือทุกลำที่เข้ามาหรือหยุดลอยลำหรือจอดเรือในเขตต่อเนื่องต้องตอบคำถามใด ๆ ของพนักงานศุลกากรเกี่ยวแก่เรือ คนประจำเรือ คนโดยสาร การเดินทาง ลักษณะของสินค้าในเรือ และสิ่งที่นำมาในเรือตามที่พนักงานศุลกากรถาม และต้องปฏิบัติตามคำสั่งอันควรของพนักงานศุลกากร ถ้านายเรือไม่ตอบคำถามหรือไม่ปฏิบัติตาม มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
มาตรา ๓๗ ตรี ห้ามมิให้เรือที่อยู่ในเขตต่อเนื่องขนถ่ายสิ่งของใด ๆ โดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้านายเรือหรือบุคคลใดฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับเป็นเงินสองเท่าของราคาของหรือปรับเป็นเงินห้าหมื่นบาทแล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า หรือทั้งจำทั้งปรับ
ของใด ๆ อันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรานี้ให้ริบเสียสิ้นโดยไม่พักต้องคำนึงถึงว่าบุคคลผู้ใดจะต้องรับโทษหรือไม่
มาตรา ๓๗ จัตวา ให้นำความในมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๕ ทวิ มาตรา ๑๘ มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๓ มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๒ ทวิ และมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พระพุทธศักราช ๒๔๖๙ มาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ และบทกำหนดโทษอันเกี่ยวกับบทบัญญัติดังกล่าว มาใช้บังคับในเขตต่อเนื่องโดยอนุโลม
มาตรา ๓๗ เบญจ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการลักลอบหรือจะลักลอบหนีศุลกากรหรือมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ในเขตต่อเนื่อง ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจสั่งหรือบังคับให้นายเรือหยุดหรือนำเรือไปยังที่แห่งหนึ่งแห่งใด เพื่อการตรวจค้นจับกุมหรือดำเนินคดีได้
เมื่อพนักงานศุลกากรได้จับผู้ต้องหาและส่งให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ใดแล้ว ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่นั้นมีอำนาจสอบสวนในระหว่างรอคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบจากอัยการสูงสุด หรือผู้รักษาการแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้ มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหาส่งให้พนักงานสอบสวนดังกล่าว เป็นเวลาควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
หมวด ๔ ตรี
อำนาจทางศุลกากรในพื้นที่พัฒนาร่วม
มาตรา ๓๗ ฉ ในหมวดนี้
“พื้นที่พัฒนาร่วม” หมายความว่า พื้นที่พัฒนาร่วมตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย
“ของที่ได้รับความเห็นชอบทางศุลกากร” หมายความว่า ของที่ได้รับยกเว้นอากรศุลกากร ทั้งตามกฎหมายของราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียที่เกี่ยวกับศุลกากร
มาตรา ๓๗ สัตต การจัดระเบียบการเคลื่อนย้ายของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปจากพื้นที่พัฒนาร่วมให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๓๗ อัฏฐ ภายใต้บังคับมาตรา ๓๗ นว มาตรา ๓๗ ทศ และ มาตรา ๓๗ เตรส (๔) กรมศุลกากรยังคงใช้อำนาจทางศุลกากรทั้งปวงที่เกี่ยวกับของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปจากพื้นที่พัฒนาร่วม
มาตรา ๓๗ นว การเคลื่อนย้ายของใด ๆ เข้ามาในหรือส่งออกไปจากพื้นที่พัฒนาร่วม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
(๑) ของใด ๆ ที่เข้ามาในพื้นที่พัฒนาร่วมจาก
(ก) ประเทศอื่นใดนอกจากราชอาณาจักรไทยหรือมาเลเซีย คลังสินค้าใด ๆ ที่ได้รับใบอนุญาต หรือบริเวณทัณฑ์บนของราชอาณาจักรไทยหรือมาเลเซีย ให้ถือว่าเป็นของนำเข้า
(ข) ราชอาณาจักรไทยหรือมาเลเซีย ให้ถือว่าเป็นการเคลื่อนย้ายภายในประเทศ ทั้งนี้ ของนั้นจะต้องเป็นของที่ได้รับความเห็นชอบทางศุลกากร เครื่องมือเครื่องใช้ และวัสดุสิ่งของสำหรับใช้ในพื้นที่พัฒนาร่วม
(๒) ของที่ผลิตในพื้นที่พัฒนาร่วมที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทย หรือไปยังมาเลเซีย หรือประเทศ ที่สาม ให้ถือว่าเป็นของส่งออก
(๓) ของที่เคลื่อนย้ายเข้าไปในพื้นที่พัฒนาร่วมตาม (๑) (ข) และต่อมาของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรไทยหรือมาเลเซีย ให้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายของราชอาณาจักรไทยหรือมาเลเซีย แล้วแต่กรณี
มาตรา ๓๗ ทศ ของใด ๆ ที่จัดอยู่ในบัญชีของต้องห้ามตามกฎหมายของราชอาณาจักรไทยและมาเลเซีย จะไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าไปในพื้นที่พัฒนาร่วม เว้นแต่ในกรณีที่จำเป็นจะต้องมีการยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับการนำเข้ารายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ การยกเว้นนั้นจะกระทำได้ก็ด้วยความตกลงระหว่างหน่วยงานที่มีอำนาจของราชอาณาจักรไทยและมาเลเซีย
มาตรา ๓๗ เอกาทศ การนำเข้า การส่งออก และการเคลื่อนย้ายภายในสำหรับของในพื้นที่พัฒนาร่วมให้ใช้แบบศุลกากรตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา ๓๗ ทวาทศ พนักงานและพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมมีอำนาจในส่วนที่เกี่ยวกับการผ่านพิธีการศุลกากร รวมทั้งการเก็บภาษีอากรในเรื่องที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และใช้อำนาจนั้นได้ภายในบริเวณที่ทำการศุลกากรร่วม
คำว่า “ที่ทำการศุลกากรร่วม” หมายความว่า ที่ทำการของคณะกรรมการศุลกากรร่วม ที่จัดตั้งขึ้นในสำนักงานใหญ่ขององค์กรร่วม เพื่อวัตถุประสงค์ของการประสานงานด้านการดำเนินการตามกฎหมายศุลกากรและสรรพสามิตในพื้นที่พัฒนาร่วม
คำว่า “คณะกรรมการศุลกากรร่วม” หมายความว่า คณะกรรมการที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากร และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานศุลกากรและสรรพสามิตของมาเลเซีย ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ของการประสานงานด้านการดำเนินการตามกฎหมายศุลกากรและสรรพสามิตในพื้นที่พัฒนาร่วม
มาตรา ๓๗ เตรส การกระทำที่ได้ทำลงในพื้นที่พัฒนาร่วม
(๑) หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับศุลกากรของราชอาณาจักรไทยหรือมาเลเซีย ประเทศใดประเทศหนึ่ง ประเทศที่มีการอ้างว่ากฎหมายของตนถูกละเมิดมีสิทธิเข้าใช้เขตอำนาจเหนือความผิดนั้น
(๒) หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับศุลกากรของราชอาณาจักรไทยและมาเลเซีย ประเทศที่เจ้าพนักงานของตนเป็นผู้ทำการจับกุมหรือยึดเป็นคนแรกในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดดังกล่าวมีสิทธิเข้าใช้เขตอำนาจเหนือความผิดนั้น
(๓) หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับศุลกากรของราชอาณาจักรไทยและมาเลเซีย และเป็นกรณีที่มีการจับกุมหรือยึดพร้อม ๆ กันโดยกรมศุลกากรและหน่วยงานศุลกากรและ สรรพสามิตของมาเลเซีย ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดดังกล่าว ประเทศที่มีสิทธิเข้าใช้เขตอำนาจเหนือความผิดนั้นให้กำหนดโดยการหารือระหว่างกรมศุลกากร และหน่วยงานศุลกากรและสรรพสามิตของมาเลเซีย
(๔) เงินที่ได้จากการขายของซึ่งเป็นผลิตผลของพื้นที่พัฒนาร่วมที่ถูกริบ ให้แบ่งเท่า ๆ กัน ระหว่างราชอาณาจักรไทยและมาเลเซีย
มาตรา ๓๗ จตุทศ เพื่อประโยชน์แห่งหมวดนี้ คำว่า “พระราชอาณาจักรสยาม” “พระราชอาณาเขต” และ “ราชอาณาจักร” ในพระราชบัญญัตินี้ให้หมายความถึง “พื้นที่พัฒนาร่วม”
มาตรา ๓๗ ปัญจทศ ให้ศาลภาษีอากรกลาง ศาลจังหวัดสงขลา หรือศาลอาญา มีเขตอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีศุลกากรที่เกี่ยวกับพื้นที่พัฒนาร่วม
หมวด ๕
การนำของเข้า
มาตรา ๓๘ นายเรือทุกลำที่บรรทุกสินค้า หรือมีแต่อับเฉา ซึ่งมาแต่ภายนอกพระราชอาณาเขต ต้องทำรายงานอันถูกต้องยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่กำหนดไว้ (ใบแนบ ๑) ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เมื่อเรือมาถึงท่า เมื่อยื่นรายงานนี้ให้นายเรือแสดงใบทะเบียนเรือเพื่อตรวจด้วย และรายงานนี้ต้องทำยื่นก่อนเปิดระวางเรือ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตพิเศษและถ้าเรือลำใดมาถึงท่า มีสินค้าต่างประเทศที่ประสงค์จะส่งออกก็ดี หรือจะขนขึ้น ณ ที่อื่นภายในพระราชอาณาจักรก็ดี นายเรือจะต้องแถลงข้อความว่าด้วยสินค้านั้นๆ ลงไว้ในรายงานด้วย ถ้าและเรือลำนั้นจะเดินต่อไปยังท่าอื่นภายในพระราชอาณาจักร นายเรือจะต้องมีสำเนาเดินทาง ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่รับรองแล้วไปด้วย และจะต้องแสดงสำเนานี้ในเมื่อทำรายงานขาเข้ายื่น ณ ท่าอื่น และจะต้องทำดังนี้ต่อไปทุก ๆ ท่าจนกว่าเรือนั้นจะได้ออกพ้นไป หรือจนกว่าจะได้ถ่ายสินค้าต่างประเทศออกจากเรือหมด แล้วแต่กรณี ถ้ามีการทำผิดต่อบทมาตรานี้ด้วยประการใด ๆ ท่านว่านายเรือมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และบรรดาของที่มิได้ทำรายงานยื่นไว้โดยถูกต้องนั้น ให้กักไว้จนกว่าจะได้รายงานให้ถูกต้อง หรือจนกว่าจะได้อธิบายเหตุที่ทำการขาดตกบกพร่องนั้นให้เป็นที่พอใจของอธิบดี
มาตรา ๓๙ ถ้านายเรือรายงานว่า ไม่รู้ว่าในหีบห่อที่ประสงค์จะส่งออกไปกับเรือนั้นมีสิ่งใดบ้าง พนักงานศุลกากรจะสั่งให้เปิดหีบห่อนั้นออกเพื่อตรวจดูก็ได้ และถ้าปรากฏว่าในหีบห่อนั้นมีของซึ่งต้องห้ามมิให้นำเข้ามา ท่านให้ริบของนั้นไว้ เว้นแต่อธิบดีจะอนุญาตให้ส่งออกไปได้
มาตรา ๔๐ ก่อนที่จะนำของใด ๆ ไปจากอารักขาของศุลกากร ผู้นำของเข้าต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัตินี้ และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากร กับต้องยื่นใบขนสินค้าโดยถูกต้อง และเสียภาษีอากรจนครบถ้วนหรือวางเงินไว้เป็นประกัน การขอวางเงินประกันให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
ในกรณีที่มีการร้องขอและอธิบดีเห็นว่าของใดมีความจำเป็นที่จะต้องนำออกไปจากอารักขาของศุลกากรโดยรีบด่วน อธิบดีมีอำนาจให้นำของนั้นไปจากอารักขาของศุลกากรได้โดยยังไม่ต้องปฏิบัติตามวรรคหนึ่งก่อนแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด และในกรณีที่อาจต้องเสียภาษีอากร ให้วางเงินหรือหลักประกันอย่างอื่นเป็นที่พอใจอธิบดีเพื่อเป็นประกันค่าภาษีอากรด้วย
มาตรา ๔๑ ถ้ามีความจำเป็นด้วยประการใด ๆ เกี่ยวด้วยการศุลกากรที่จะกำหนดเวลาเป็นแน่นอนว่า การนำของใดๆ เข้ามา จะพึงถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อไรไซร้ ท่านให้ถือว่าการนำของเข้ามาเป็นอันสำเร็จแต่ขณะที่เรือซึ่งนำของเช่นนั้นได้เข้ามาในเขตท่าที่จะถ่ายของจากเรือ หรือท่าที่มีชื่อส่งของถึง
มาตรา ๔๒ (ยกเลิก)
มาตรา ๔๓ ถ้าพ้นเวลาสิบวันนับแต่วันที่เรือมาถึง ยังมีของเหลืออยู่ในเรือก็ดี หรือยังมีของที่ขนขึ้นบกแล้วแต่ยังมิได้ยื่นใบขน หรือยังมิได้ตรวจ หรือยังมิได้ส่งมอบไปโดยถูกต้องก็ดี ศุลกากรอาจนำของนั้นมารักษาไว้ได้โดยพลัน และจะเก็บไว้ในที่มั่นคงโดยให้เจ้าของต้องออกค่าใช้จ่ายก็ได้ บรรดาค่าใช้จ่ายซึ่งอาจรวมทั้งค่าเช่าตามอัตราที่กำหนดไว้ในแนบ ๔ (ก) นั้น ต้องชำระให้เสร็จก่อนส่งมอบของนั้นไปจากที่รักษา
มาตรา ๔๔ ถ้ายังมีของเหลืออยู่ในเรือที่นำของเข้า เมื่อพ้นเวลาเกินกว่ายี่สิบเอ็ดวันนับแต่วันที่เรือมาถึงไซร้ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจกักเรือนั้นไว้ได้จนกว่าจะได้ใช้ค่าใช้จ่ายในการเฝ้ารักษา (ตามใบแนบ ๔ (ข)) และค่าใช้จ่ายอื่นซึ่งจะพึงมีขึ้นด้วย แต่อธิบดีอาจยกเว้นการเรียกค่าใช้จ่ายนี้ได้ เมื่อได้ยื่นหลักฐานอันสมควรแสดงให้เห็นว่าการเนิ่นช้านั้นมิอาจที่จะหลีกเลี่ยงเสียได้
หมวด ๖
การส่งของออก
มาตรา ๔๕ ก่อนที่จะส่งของใด ๆ ออกนอกราชอาณาจักร ผู้ส่งของออกต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัตินี้ และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากร กับต้องยื่นใบขนสินค้าโดยถูกต้อง และเสียภาษีอากรจนครบถ้วนหรือวางเงินไว้เป็นประกัน การขอวางเงินประกันให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
ในกรณีที่มีการร้องขอและอธิบดีเห็นว่าของใดมีความจำเป็นที่จะต้องส่งออกนอกราชอาณาจักรโดยรีบด่วน อธิบดีมีอำนาจให้ส่งของนั้นออกไปได้โดยยังไม่ต้องปฏิบัติตามวรรคหนึ่งก่อนแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด และในกรณีที่อาจต้องเสียภาษีอากร ให้วางเงินหรือหลักประกันอย่างอื่นเป็นที่พอใจอธิบดีเพื่อเป็นประกันค่าภาษีอากรด้วย
มาตรา ๔๖ ถ้ามีความจำเป็นด้วยประการใด ๆ เกี่ยวด้วยการศุลกากรที่จะกำหนดเวลาเป็นแน่นอนว่าการส่งของใด ๆ ออก จะพึงถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อไรไซร้ท่านให้ถือว่าการส่งของออกเป็นอันสำเร็จแต่ขณะที่เรือซึ่งส่งของออก ได้ออกจากเขตท่าซึ่งได้ออกเรือเป็นชั้นที่สุดเพื่อไปจากพระราชอาณาจักรนั้น
มาตรา ๔๗ ก่อนจะขนของใด ๆ ลงเรือ หรือย้ายขนไปเพื่อบรรทุกลงเรือส่งออกไปนอกพระราชอาณาจักร ให้ทำใบขนสินค้าเป็นสองฉบับ มีข้อความต้องกันตามแบบที่กำหนดไว้ (ใบแนบ ๕) ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้รับไว้
มาตรา ๔๘ ห้ามมิให้ขนสินค้าขาออกลงบรรทุกในเรือลำใดจนกว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้ออกใบปล่อยเรือขาเข้าให้แก่เรือนั้น เว้นแต่จะได้อนุญาตพิเศษ
มาตรา ๔๙ ก่อนจะปล่อยเรือลำใดที่บรรทุกสินค้า หรือมีแต่อับเฉาออกไปนอกพระราชอาณาจักร ให้นายเรือ หรือถ้านายเรือไม่อยู่ โดยเหตุจำเป็นอันจะหลีกเลี่ยงมิได้ ก็ให้บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งได้รับอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรจากนายเรือไปรายงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ศุลกสถาน และต้องตอบคำถามใด ๆ ของพนักงานเจ้าหน้าที่อันเกี่ยวแก่เรือ สินค้า และการเดินทาง และต้องยื่นหนังสือรายการสินค้าในเรือต่อพนักงานนั้น ๆ ตามแบบที่กำหนดไว้ในใบแนบ ๖ หรือแบบอย่างอื่นแล้วแต่อธิบดีจะได้กำหนด ให้นายเรือแสดงใบทะเบียนเรือ ใบปล่อยเรือขาเข้าต่อพนักงานเพื่อตรวจสอบ กับทั้งหลักฐานอื่นตามแต่จะต้องการ เพื่อแสดงว่าได้ใช้ค่าภาระติดพันสำหรับเรือ หรือสินค้านั้นเสร็จแล้ว
เมื่อเป็นที่พอใจว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้ออกใบปล่อยเรือ ตามแบบที่กำหนดไว้ในใบแนบ ๗ ให้ไป ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมปล่อยเรือตามอัตราที่แจ้งไว้ในใบแนบ ๔ (ช)
ถ้าเรือลำใดออกจากท่าในพระราชอาณาจักรไปภาคต่างประเทศโดยมิได้มีใบปล่อยเรือ หรือมิได้ปฏิบัติตามบทมาตราต่อไปนี้ ท่านว่านายเรือหรือตัวแทนในเมื่อนายเรือไม่อยู่ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท แต่ส่วนตัวแทนนั้นต้องพิสูจน์ได้ว่าได้ทำการสมคบกันกับนายเรือด้วย จึงมีความผิด
มาตรา ๕๐ ถ้าเรือลำใดได้รับใบปล่อยเรือแล้วออกจากท่าหนึ่งไปยังท่าอื่นใดในพระราชอาณาจักรเพื่อรับของส่งออกไป เมื่อได้ขนของลงบรรทุกเรือ ณ ท่าอื่นนั้นแล้ว ให้นายเรือส่งมอบหนังสือรายการสินค้าที่ได้บรรทุกเพิ่มลงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่นั้น กับทั้งให้แสดงใบปล่อยเรือที่เจ้าพนักงานได้ออกให้ ณ ท่าแรกที่มาออกเรือมานั้นด้วย และจะต้องทำเช่นนี้ต่อไปทุก ๆ ท่า จนกว่าจะได้รับใบปล่อยเรือชั้นที่สุดออกนอกพระราชอาณาจักร และทุกคราว ๆ ที่ทำเช่นนี้ ให้เอาใบปล่อยเรือเพิ่มเติมติดแนบเข้ากับใบปล่อยเรือที่ได้ออกให้ ณ ท่าแรกที่ออกเรือนั้นด้วย ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับใบปล่อยเรือเพิ่มเติมทุกฉบับตามอัตราที่แจ้งไว้ในใบแนบ ๔ (ช)
มาตรา ๕๑ ให้นายเรือทุกลำซึ่งบรรทุกสินค้าขาออก ยื่นหรือจัดให้ตัวแทนยื่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือ ซึ่งต้องมีรายละเอียดแห่งสินค้าตามที่ระบุไว้ในบัญชีรายชื่อสินค้าขาออกของศุลกากรนั้น ต่อศุลกสถานภายในหกวันเต็มนับแต่วันที่ได้ออกใบปล่อยเรือขาออกให้ บัญชีสินค้าสำหรับเรือนี้ให้ทำเป็นสองฉบับมีข้อความต้องกัน และต้องมีใบรับรองสินค้าตามแบบที่กำหนดไว้ในใบแนบ ๘ แห่งพระราชบัญญัตินี้ติดไปด้วย
มาตรา ๕๒ ให้นายเรือทุกลำที่ได้รับใบปล่อยเรือขาออกยื่นบัญชีคนโดยสารในเรือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนเวลาที่จะออกนอกเขตท่า บัญชีนี้ต้องแสดงจำนวน เพศและสัญชาติของคนโดยสาร และต้องทำตามแบบซึ่งอธิบดีจะได้กำหนด
มาตรา ๕๓ นายเรือทุกลำชนิดที่มีระวางจดทะเบียนต่ำกว่าสองร้อยตันซึ่งออกจากท่ากรุงเทพฯต้องได้รับใบเบิกร่องผ่านปากน้ำก่อนจึงออกเรือได้ และต้องส่งมอบใบเบิกร่องนี้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปากน้ำ นายเรือชนิดอื่นที่ออกจากท่ากรุงเทพฯเมื่อผ่านด่านศุลกากรที่ปากน้ำต้องเดินเบาลง และเมื่อพนักงานศุลกากรเรียกถาม ก็ต้องตอบโดยบอกชื่อเรือและที่ที่จะไป นายเรือคนใดกระทำผิดต่อบทมาตรานี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท
มาตรา ๕๔ ถ้าการบรรทุกสินค้าลงในเรือขาออกได้ทำอยู่เนิ่นช้ากว่ายี่สิบเอ็ดวัน นับแต่วันเริ่มบรรทุกก็ดี หรือเรือขาออกเมื่อได้บรรทุกสินค้าลงแล้ว ยังอยู่ในท่าเกินกำหนดนี้ก็ดี อาจเรียกค่าธรรมเนียมตามอัตราในใบแนบ ๔ (ข) แห่งพระราชบัญญัตินี้ และพนักงานเจ้าหน้าที่อาจกักเรือนั้นไว้ได้จนกว่าจะได้ใช้ค่าธรรมเนียมนั้น และค่าใช้จ่ายอย่างอื่นซึ่งหากจะพึงมีขึ้นในการเฝ้าเรือนั้นด้วย แต่อธิบดีอาจยกเว้นการเรียกค่าธรรมเนียมนี้ได้ เมื่อได้ยื่นหลักฐานอันสมควรแสดงให้เห็นว่าการเนิ่นช้านั้น มิอาจที่จะหลีกเลี่ยงเสียได้
มาตรา ๕๕ ถ้าของใดซึ่งได้ทำทัณฑ์บนหรือให้ประกันไว้ว่า จะส่งออกโดยเรือลำใด มิได้นำลงบรรทุกให้เสร็จก่อนเรือลำนั้นออก ท่านให้ริบของนั้นไว้ เว้นแต่จะได้แจ้งเหตุที่มิได้นำลงบรรทุกนั้นแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในทันทีภายหลังที่เรือนั้นออก เพื่อพนักงานจะได้รับรองการบรรทุกขาด ถ้าและของนั้นมิได้นำไปเก็บในคลังสินค้าหรือทำใบขนใหม่ เพื่อส่งออกไปกับเรือลำอื่น โดยทำทัณฑ์บนหรือให้ประกันไว้ภายในสิบสี่วัน นับแต่วันได้รับใบปล่อยเรือชั้นที่สุดไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้ยื่นใบขนสินค้าเพื่อส่งออกนั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
มาตรา ๕๖ (ยกเลิก)
มาตรา ๕๗ เรือทุกลำที่เตรียมจะออกจากท่าต้องชักธงลาขึ้นที่เสาหน้า ธงนี้ต้องชักไว้จนกว่าเรือจะออกเดิน ถ้าเรือจะออกเวลาบ่าย ให้ชักธงขึ้นไว้แต่เช้า ถ้าเรือจะออกเวลาเช้าให้ชักธงขึ้นไว้แต่บ่ายวันก่อน นายเรือคนใดละเลยไม่ปฏิบัติตามบทมาตรานี้ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท
มาตรา ๕๘ การลำเลียงถ่ายของจากเรือลำหนึ่งลงเรืออีกลำหนึ่งนั้น จะพึงอนุญาตให้ทำได้ต่อเมื่อบุคคลผู้ได้รับอำนาจทำการถ่ายของเช่นว่านี้ ได้ยื่นใบขนสินค้าทำเป็นสองฉบับมีข้อความต้องกันตามแบบที่กำหนดไว้ (ใบแนบ ๙) แต่ห้ามมิให้ทำการลำเลียงถ่ายของเช่นนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตและมีพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรกำกับอยู่ด้วย
มาตรา ๕๙ (ยกเลิก)
มาตรา ๖๐ ถ้าของใดที่ขอคืนหรือได้อนุญาตคืนค่าภาษีแล้วได้บรรทุกลงเรือ หรือนำไปยังทำเนียบท่าเรือ ท่าเทียบเรือ หรือที่อื่นเพื่อส่งออกไป และพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าของนั้นไม่ตรงตามใบขนสินค้า บัญชีบรรทุกสินค้า คำร้องขอหรือเอกสารอื่นก็ดี หรือถ้าคำร้องขออันเกี่ยวแก่ของนั้นปรากฏว่าเป็นการทุจริตด้วยประการใดก็ดี ท่านให้ริบของนั้นเสียสิ้น กับทั้งหีบห่อและของสิ่งอื่นที่อยู่ในหีบห่อนั้นด้วย และบุคคลผู้ขออนุญาตส่งและขอคืนค่าภาษีสำหรับของนั้น มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือสามเท่าของจำนวนค่าภาษีที่ขอคืน หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมวด ๗
ของตกค้าง
มาตรา ๖๑ ของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นของตกค้าง
(๑) ของนำเข้าที่เป็นสินค้าอันตรายตามชนิดหรือประเภทที่อธิบดีประกาศกำหนดตามมาตรา ๖ (๖) ที่ผู้นำของเข้ามิได้เสียอากร และนำของออกไปจากเขตศุลกากรภายในระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
(๒) ของนำเข้าอื่นใดนอกจาก (๑) เมื่ออยู่ในอารักขาของศุลกากรถึงสองเดือน โดยไม่มีใบขนสินค้าอันได้รับรองและไม่ได้เสียอากรหรือวางประกันค่าอากรที่พึงเรียกเก็บแก่ของนั้น ให้อธิบดีมีคำบอกกล่าวไปยังตัวแทนของเรือที่นำของเข้ามาโดยพลัน และเมื่อตัวแทนของเรือนั้นได้รับคำบอกกล่าวครบสิบห้าวันแล้ว
การดำเนินการกับของตกค้างตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ทำลายหรือนำของนั้นออกขายทอดตลาด หรือสั่งให้ผู้นำของเข้าหรือตัวแทนของเรือที่นำของเข้าส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรและถ้าไม่มีการปฏิบัติตามให้มีอำนาจสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ทำลายได้ โดยผู้นำของเข้าหรือตัวแทนของเรือ แล้วแต่กรณี เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนั้น
ในการสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำลายของตกค้างตามวรรคสอง ให้ดำเนินการตามวิธีการที่ปลอดภัยต่อบุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม
ถ้าอธิบดีเห็นว่าการขายทอดตลาดตามวรรคสอง จะไม่ได้เงินเท่าที่ควรหรือมีเหตุอันสมควรประการอื่น อธิบดีจะสั่งให้ขายโดยวิธีอื่นก็ได้ และในกรณีที่การขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นดังกล่าวจะไม่ได้เงินคุ้มค่าภาษีหรืออาจจะทำให้เกิดความเสียหายอันไม่สมควรอย่างหนึ่งอย่างใด ให้จำหน่ายของนั้นตามแต่อธิบดีจะสั่ง
สำหรับของตกค้างตามวรรคหนึ่ง (๑) ให้อธิบดีกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาเพื่อให้การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในมาตรานี้แล้วเสร็จโดยเร็วโดยคำนึงถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นประกอบด้วย
มาตรา ๖๒ ของสดของเสียซึ่งยังมิได้รับมอบไปโดยยื่นใบขนบริบูรณ์ และมีอาการแสดงชัดว่าของนั้นบูดเน่าแล้ว อธิบดีจะสั่งจำหน่ายหรือทำลายเมื่อใดก็ได้ โดยอาจเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้นำของเข้าหรือตัวแทนของเรือก็ได้
มาตรา ๖๓ เงินที่ได้จากการขายตามมาตรา ๖๑ นั้น ให้หักใช้ค่าภาษี ค่าเก็บรักษา ค่าย้ายขน หรือค่าภาระติดพันอย่างอื่นอันค้างชำระแก่กรมศุลกากรเสียก่อน เหลือเท่าใดให้ใช้ค่าภาระติดพันต่าง ๆ อันสมควรจะได้และค้างชำระแก่ตัวแทนของเรือที่นำของเข้ามา เมื่อได้หักใช้เช่นนี้แล้ว ยังมีเงินเหลืออยู่อีกเท่าใด ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่เจ้าของจะได้เรียกร้องเอาภายในหกเดือนนับแต่วันขาย
มาตรา ๖๓ ทวิ ในกรณีที่ของตกค้างเป็นของเสียที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายต่อบุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏต่ออธิบดีว่านายเรือรู้เห็นเป็นใจให้นำของเสียนั้นเข้ามาก็ดีหรือนายเรือไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าตนได้จัดการเต็มวิสัยที่จะจัดได้เพื่อที่จะสืบค้นให้พบหรือป้องกันการนำของเสียนั้นเข้ามาทิ้งเป็นของตกค้างก็ดี นอกจากโทษที่มีตามกฎหมายแล้ว ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ผู้รับผิดชอบท่าเรือหรือสนามบินแห่งหนึ่งแห่งใดหรือทุกแห่งในประเทศดำเนินการโดยพลันให้ตัวแทนของเรือที่นำของเสียเข้ามานำของเสียนั้นออกไปนอกราชอาณาจักร หรืองดการให้ใช้ท่าเรือหรือสนามบินและบริการต่าง ๆ แก่เรือลำนั้นหรือเรืออื่น ๆ ทั้งหมดของเจ้าของเรือลำนั้นได้ตามระยะเวลาที่จะกำหนดตามความร้ายแรงแห่งการกระทำ
หมวด ๘
การค้าชายฝั่ง
มาตรา ๖๔ การค้าทางทะเลจากภาคหนึ่งไปยังอีกภาคหนึ่งแห่งพระราชอาณาจักรนั้น ท่านให้ถือว่าเป็นการค้าชายฝั่งและบรรดาเรือทั้งหลายที่ใช้ในการค้าเช่นนี้ ได้ชื่อว่าเป็นเรือค้าขายชายฝั่ง
มาตรา ๖๕ เรือลำใดมาจากภาคต่างประเทศ และแวะ ณ ท่าหรือที่แห่งใดในพระราชอาณาจักรในระหว่างทางไปยังท่าหรือ ที่อื่นในพระราชอาณาจักรก็ดี และเรือลำใดออกจากท่าหรือที่แห่งหนึ่งในพระราชอาณาจักรไปยังท่าหรือที่แห่งอื่นในระหว่างทางขาออกไปยังภาคต่างประเทศก็ดี ในส่วนที่เกี่ยวกับการไปมาค้าขายในเขตชายฝั่ง ท่านให้บังคับด้วยบทกฎหมายและข้อบังคับว่าด้วยการค้าชายฝั่ง แต่ในส่วนการไปมาค้าขายหรือรับส่งสินค้าอันเกี่ยวกับภาคต่างประเทศ ให้บังคับด้วยบทกฎหมายและข้อบังคับว่าด้วยการค้าต่างประเทศ
มาตรา ๖๖ อันเรือค้าชายฝั่งนั้น ถ้าทำการบรรทุกของใด ๆ ลง หรือขนของใดๆขึ้นจากเรือในท้องทะเลหรือนอกเขตท่า หรือนอกพระราชอาณาเขตก็ดี หรือถ้าเรือค้าชายฝั่งลำใดแวะ ณ ที่ใดนอกพระราชอาณาเขตหรือเปลี่ยนทางเดิน โดยมิได้มีพฤติการณ์อันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ มาบังคับให้ต้องกระทำเช่นนั้นก็ดี หรือถ้านายเรือค้าชายฝั่งลำใดซึ่งได้แวะ ณ ที่ใดนอกพระราชอาณาเขต มิได้แจ้งเหตุการณ์นั้น ๆ เป็นลายลักษณ์อักษรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ท่าแรกที่มาถึงในพระราชอาณาจักรในทันใดที่เรือนั้นมาถึงก็ดี ท่านว่านายเรือนั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๖๗ ก่อนที่จะบรรทุกของใดซึ่งตั้งใจจะส่งไปตามชายฝั่งลงในเรือลำใดที่จะไปหรืออาจจะไปตามชายฝั่งก่อน แล้วจึงเลยไปยังภาคต่างประเทศนั้น ให้ยื่นบัญชีสินค้าตามแบบที่กำหนดไว้ (ใบแนบ ๑๐) และถ้ามีค่าภาษีจะพึงต้องเสียในการส่งของนั้น ๆ ออกเท่าไร ก็ต้องวางเงินค่าภาษีไว้จงเต็มจำนวน ณ ท่าที่ได้รับใบปล่อยเรือ เงินที่วางไว้นี้อาจคืนให้เมื่อได้ยื่นใบรับรองอันถูกต้องของเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ (ใบแนบ ๑๐(ก))ภายในสองเดือนนับแต่วันที่ได้รับใบปล่อยเรือ อันแสดงว่าของนั้นได้ขนขึ้นภายในพระราชอาณาเขต
มาตรา ๖๘ ก่อนเรือค้าชายฝั่งลำใดจะออกจากท่า หรือที่ขนสินค้าลง หรือถ่ายสินค้าออก ให้ทำบัญชีเป็นสองฉบับ มีข้อความต้องกันตามแบบที่กำหนดไว้ในใบแนบ ๑๑ ลงชื่อนายเรือแสดงรายละเอียดของเรือ และสินค้าในเรือตามที่กำหนดไว้ และส่งมอบแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งจะได้ยึดใบคู่ฉบับไว้และลงวันเดือนปี และลงชื่อในต้นฉบับคืนให้ไป บัญชีนี้ให้ถือว่าเป็นใบอนุญาตปล่อยสินค้า และปล่อยเรือให้เดินทางได้ด้วย ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมปล่อยเรือตามอัตราที่แจ้งไว้ในใบแนบ ๔ (ช) ทุก ๆ ท่าที่ระบุชื่อไว้ในใบแนบนั้น ถ้าเรือค้าชายฝั่งลำใดออกจากที่แห่งใดโดยมิได้มีใบอนุญาตเช่นนี้ก็ดี หรือถ้าไม่แสดงใบอนุญาตนี้ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เมื่อเรือถึงท่า และก่อนเริ่มขนสินค้าขึ้นก็ดี ท่านว่านายเรือมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
มาตรา ๖๙ เมื่ออธิบดีเห็นสมควรจะออกใบอนุญาตปล่อยสินค้าอย่างคุ้มได้ทั่วไปให้แก่เรือลำใด ๆ ที่ไปมาค้าอยู่เสมอเป็นปกติระหว่างท่าต่าง ๆ ในพระราชอาณาเขตก็ได้ โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องยื่นบัญชีอันถูกต้องแห่งสินค้าที่บรรทุกไปนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ตรงต่อระเบียบการทุก ๆ เที่ยว และต้องส่งใบแจ้งความตามแบบที่กำหนดไว้ในใบแนบ ๑๒ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ท่าที่เรือออกก่อนเวลาที่จะออกเรือ และให้ยื่นคำแจ้งความตามที่กำหนดไว้ในใบแนบอันเดียวกันนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ท่าที่เรือไปถึงภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เมื่อเรือไปถึงและก่อนเริ่มขนสินค้าขึ้น ใบอนุญาตปล่อยสินค้าอันคุ้มได้ทั่วไปนี้อาจถอนเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ โดยแจ้งความให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าผู้ทรงใบอนุญาตปล่อยสินค้าอันคุ้มได้ทั่วไป ละเลยไม่ยื่นบัญชีสินค้าและคำแจ้งความดังกล่าวไว้ในมาตรานี้ ท่านว่านายเรือมีความผิด ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๘
ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมปล่อยเรือตามอัตราที่แจ้งไว้ในใบแนบ ๔ (ช) สำหรับเรือที่เดินไปมาโดยมีใบอนุญาตอย่างคุ้มได้ทั่วไปกำกับทุก ๆ ท่าที่ระบุชื่อไว้ในใบแนบนั้น และซึ่งจะต้องยื่นรายการแจ้งกำหนดวันเรือมาถึงและออกไปตามความในมาตรานี้ และในอัตราเดียวกับที่จะได้เรียกเก็บจากเรือทีไม่ได้ออกใบอนุญาตอย่างคุ้มได้ทั่วไป แต่อธิบดีจะยอมรับเงินฝากประจำซึ่งจะได้หักออกเป็นค่าธรรมเนียมอันต้องเสียเป็นยอดรวมทุกระยะกึ่งปี
มาตรา ๗๐ ของอันพึงต้องเสียค่าอากรชั้นใน หรือของต้องจำกัดบรรทุกไปในเรือค้าชายฝั่งลำใด ถ้าขนออกจากเรือโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่านายเรือมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
มาตรา ๗๑ นายเรือค้าชายฝั่งทุกลำจะต้องมี หรือจัดให้มีสมุดบัญชีสินค้าไว้ประจำเรือ เพื่อบันทึกข้อความรายละเอียดในการเดินเรือทุกเที่ยว คือประเภทและปริมาณสินค้า วัน เดือน ปี และท่าที่ออกเรือ วัน เดือน ปี และท่าที่ไปถึง และที่ถ่ายสินค้าออก ชื่อนายเรือ และข้อความพิสดารอย่างอื่นที่จำเป็นเฉพาะกรณี และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกร้อง นายเรือต้องแสดงสมุดบัญชีสินค้าให้ตรวจ และพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะจดบันทึกหรือหมายเหตุอย่างใด ๆ ลงในสมุดบัญชีนั้นได้
หมวด ๙
ที่ทอดเรือภายนอก
มาตรา ๗๒ อธิบดีอาจกำหนดที่ทอดเรือภายนอกสำหรับท่ากรุงเทพฯ หรือท่าอื่น เพื่อให้เรือถ่ายสินค้าออก หรือบรรทุกสินค้าลงทั้งหมด หรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง และอาจกำหนดเวลาที่จะให้ใช้ที่ทอดเรือภายนอกนั้น และออกข้อบังคับสำหรับกรมเพื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรกำกับตรวจตรา และควบคุมที่ทอดเรือภายนอกนั้นได้ด้วย ถ้าผู้ใดทำผิด หรือเกี่ยวข้องในการกระทำผิดต่อข้อบังคับนี้ก็ดี หรือพยายาม หรือเกี่ยวข้องในการพยายามกระทำผิดต่อข้อบังคับนี้ก็ดี ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท แต่การที่ต้องรับผิดตามมาตรานี้ หากระทำให้ผู้นั้นหลุดพ้นไปจากความรับผิดตามบทอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นได้ไม่
มาตรา ๗๓ บรรดาเรือที่จอดอยู่ หรือกำลังบรรทุกสินค้าลง หรือกำลังถ่ายสินค้าออก ณ ที่ทอดเรือภายนอก และบุคคลทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการนั้นจะต้องรับผิด และต้องโทษตามพระราชบัญญัตินี้ หรือบทกฎหมายอื่น เหมือนหนึ่งว่าอยู่ในเขตธรรมดาของท่า
มาตรา ๗๔ ถ้าเรือลำใดบรรทุกสินค้าลง หรือถ่ายสินค้าออก ณ ที่ทอดเรือภายนอกใด ๆ ก็ดี หรือ ณ ที่แห่งใด ๆ อันมิได้อนุมัติก็ดี โดยมิได้รับความยินยอมของอธิบดี ท่านว่านายเรือและบุคคลทั้งหลายที่เกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการบรรทุกสินค้าลง หรือถ่ายสินค้าออกนั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และสินค้าที่ได้บรรทุกลง หรือขนขึ้น หรือวาง หรือเหลืออยู่ในเรือนั้น ให้ริบเสีย
มาตรา ๗๕ บรรดาอาวุธปืน กระสุนดินปืน วัตถุระเบิด ฝิ่น สุรา หรือของอย่างใด ๆ ที่ต้องจำกัด หรือหีบห่อซึ่งยังมิได้ตรวจ ท่านห้ามมิให้ถ่ายเปลี่ยนลำเรือ หรือรับมอบจากเรือที่นำของเข้า ณ ที่ทอดเรือภายนอก เว้นแต่จะได้อนุญาตพิเศษจากอธิบดีหรือพนักงานซึ่งได้รับอำนาจโดยชอบ
มาตรา ๗๖ อธิบดีอาจออกใบอนุญาตโดยให้อำนาจทั่วไปแก่เรือลำใด ๆ เพื่อถ่ายสินค้าออก หรือบรรทุกสินค้าลง ณ ที่ทอดเรือภายนอกได้ และห้ามมิให้เรือซึ่งไม่ได้รับอำนาจทั่วไปเช่นนั้นบรรทุกสินค้าลงหรือถ่ายสินค้าออก ณ ที่นั้น เว้นแต่จะได้อนุญาตพิเศษจากอธิบดี หรือพนักงานซึ่งได้รับอำนาจโดยชอบ
มาตรา ๗๗ บรรดาเรือที่อยู่ ณ ที่ทอดเรือภายนอก จะต้องจอดภายในเขตแห่งที่ทอดเรือนั้นตามที่ได้กำหนดไว้ และห้ามมิให้เรือย้ายไปจากที่จอด เว้นแต่จะได้อนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา ๗๘ นายเรือที่ไปมาค้าอยู่เสมอเป็นปรกติในทางค้าต่างประเทศ และได้รับอำนาจทั่วไปให้ถ่ายสินค้าออก ณ ที่ทอดเรือภายนอกซึ่งได้อนุมัติแล้วนั้น ต้องขออนุญาตจากพนักงานผู้กำกับที่ทอดเรือนั้นก่อนเริ่มถ่ายสินค้าออก
มาตรา ๗๙ นายเรือซึ่งได้รับอำนาจพิเศษเพื่อถ่ายสินค้าออก ณ ที่ทอดเรือภายนอกนั้น ต้องแสดงใบอนุญาตต่อพนักงานผู้กำกับก่อนเริ่มถ่ายสินค้าออก
มาตรา ๘๐ บัญชีรายละเอียดอันถูกต้องแสดงบรรดาของที่ได้ถ่ายออก ณ ที่ทอดเรือภายนอกนั้น พึงทำยื่นให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับรองรายการถ่ายของออกนี้ให้ทำตามแบบที่กำหนดไว้ในใบแนบ ๑๓ เรือลำใดจะบรรทุกสินค้าอันถ่ายลำจากที่ทอดเรือภายนอก เข้าไปยังท่าหนึ่งท่าใด เมื่อมีบัญชีที่พนักงานเจ้าหน้าที่รับรองถูกต้องแล้วก็ให้ไปได้ บัญชีนี้ให้ถือว่าเป็นใบอนุญาตให้อำนาจนำสินค้าไป ภายในบังคับแห่งบรรทัดฐานสำหรับเรือ มีสินค้าขาเข้าในเวลาเมื่อเข้ามาถึงในพระราชอาณาจักรนั้น เมื่อมาถึงท่าผู้ควบคุมเรือต้องส่งมอบบัญชีนั้นให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ศุลกสถาน แล้วจึงจัดการถ่ายของออก และตรวจมอบตามข้อบังคับธรรมดา ถ้าเรือลำใดบรรทุกสินค้าถ่ายลำจากที่ทอดเรือภายนอก โดยไม่มีบัญชีที่รับรองเช่นนี้ ห้ามมิให้เรือลำนั้นเปิดระวางจนกว่าจะได้ยื่นบัญชีสินค้าบริบูรณ์ของเรือที่ได้ถ่ายลำสินค้าให้มานั้นต่อศุลกสถานแห่งท่านั้น
มาตรา ๘๑ นายเรือที่ได้รับมอบอำนาจทั่วไป หรืออำนาจพิเศษให้ทำการบรรทุกสินค้าให้เสร็จ ณ ที่ทอดเรือภายนอกนั้น ต้องไปรับเอาใบปล่อยเรือจากศุลกสถานแห่งท่านั้นตามระเบียบและใช้ค่าภาระติดพันที่ต้องเสียจนครบ ใบปล่อยเรือนี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สลักหลังว่า “เพื่อทำการบรรทุกให้เสร็จที่.........” และเมื่อถึงที่ทอดเรือภายนอก นายเรือต้องส่งมอบใบปล่อยเรือให้แก่พนักงานกำกับด่าน ให้พนักงานยึดใบปล่อยเรือนั้นไว้ จนกว่าจะเป็นที่พอใจว่าค่าภาษีทั้งหมดและค่าธรรมเนียม หรือเงินรายอื่นซึ่งเรือจะพึงต้องเสียภายหลังที่ได้ออกจากท่านั้นได้ใช้เสร็จ หรือได้วางเงินประจำไว้ แล้วให้พนักงานสลักหลังลงวัน เดือน ปี และลงนามในใบปล่อยเรือคืนให้แก่นายเรือ แล้วจึงให้ออกเรือเดินทางต่อไปได้
มาตรา ๘๒ สินค้าขาออกจะย้ายจากท่าแห่งหนึ่งไปยังที่ทอดเรือภายนอก เพื่อบรรทุกลงในเรือลำใดที่ได้อนุญาตให้บรรทุกสินค้า ณ ที่ทอดเรือภายนอกนั้นก็ได้ แต่ก่อนที่จะย้ายสินค้าเช่นว่านี้ไป จะต้องยื่นใบขนสินค้าอย่างเดียวกับสินค้าที่บรรทุกในท่า และต้องเสียค่าภาษีและค่าภาระติดพันให้ครบถ้วนเช่นเดียวกัน ให้ผู้ส่งของออกทำบัญชีสินค้าเรือลำเลียงสำหรับของเหล่านี้ทั้งสิ้น และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ท่าได้สอบกับใบขนสินค้า และลงชื่อให้ไว้เป็นสำคัญแล้ว ให้ส่งบัญชีสินค้าเรือลำเลียงนี้ไปกับสินค้าไปยังที่ทอดเรือภายนอกแล้วส่งมอบให้แก่พนักงานผู้กำกับ ณ ที่นั้น ถ้ารายการละเอียดในบัญชีสินค้าเรือลำเลียงไม่ตรงกับสินค้าพนักงานผู้กำกับ ณ ที่นั้นอาจกักสินค้าไว้ได้
มาตรา ๘๓ ถ้าสินค้าขาออกรายใดไม่ได้บรรทุกลงเรือ หรือบรรทุกลงไม่หมด ณ ที่ทอดเรือภายนอก จะบรรทุกสินค้ารายนั้นลงในเรือลำอื่นซึ่งอยู่ที่ทอดเรือนั้น และซึ่งจะไปยังท่าเดียวกันก็ได้ ให้นายเรือลำที่กล่าวหลังนี้ หรือผู้ส่งของออกทำเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อพนักงานกำกับด่านเพื่อขออนุญาตบรรทุกสินค้านั้น
มาตรา ๘๔ ถ้าจะส่งสินค้าที่ไม่ได้บรรทุกลงเรือกลับมายังท่าที่ส่งออกไป บุคคลซึ่งจะต้องรับผิดต้องไปรับใบรับรองจากพนักงานกำกับด่าน มีข้อความแสดงปริมาณและบอกลักษณะแห่งสินค้านั้น ๆ และใบรับรองนี้จะต้องส่งกำกับมากับสินค้ายังท่า และส่งมอบแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ศุลกสถาน
มาตรา ๘๕ ภายในหกวันนับแต่วันที่ได้รับใบปล่อยเรือชั้นที่สุดจากที่ทอดเรือภายนอก ให้นายเรือหรือตัวแทนยื่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือแก่พนักงานผู้กำกับ ณ ที่นั้น แสดงสินค้าทั้งหมดที่ได้บรรทุกลง ณ ที่ทอดเรือภายนอก
มาตรา ๘๖ เรือทุกลำที่อยู่ ณ ที่ทอดเรือภายนอก ต้องชักธงลาตามบทบัญญัติและต้องระวางโทษตามมาตรา ๕๗
หมวด ๑๐
เก็บของในคลังสินค้า
มาตรา ๘๗ ได้ยื่นใบขนสินค้า และได้ขนของขึ้นเพื่อเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บนให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดรายการละเอียดแห่งของนั้นไว้ และเมื่อพอใจว่าได้มีการปฏิบัติครบถ้วนตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับแล้ว ให้เขียนคำรับรองว่าของนั้นได้เก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บนถูกต้องแล้ว
มาตรา ๘๘ รายการละเอียดแห่งของที่ได้จดไว้ตามมาตรา ๘๗ ให้ใช้สำหรับประเมินอากรแก่ของนั้น แต่ในกรณีที่ได้ใช้ของดังกล่าวในการผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการอื่นใดในคลังสินค้าทัณฑ์บน ให้คำนวณปริมาณที่ใช้ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีเห็นชอบ หรือที่อธิบดีประกาศกำหนด
ให้ยกเว้นการเก็บอากรขาเข้าและอากรขาออกแก่ของที่ปล่อยออกไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักร ทั้งนี้ ไม่ว่าจะปล่อยออกไปในสภาพเดิมที่นำเข้าหรือในสภาพอื่น
การปล่อยของออกไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บน หากเป็นการโอนเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บนอื่นหรือจำหน่ายให้แก่ผู้นำของเข้าตามมาตรา ๑๙ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พุทธศักราช ๒๔๘๒ หรือผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรหรือกฎหมายอื่น ให้ถือว่าเป็นการส่งออกนอกราชอาณาจักรในเวลาที่ปล่อยของเช่นว่านั้นออกไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บน โดยให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
การรับของที่ได้โอนหรือจำหน่ายตามวรรคสาม ให้ถือว่าเป็นการนำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือนำเข้าสำเร็จในเวลาที่ปล่อยของเช่นว่านั้นออกไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บน โดยให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
มาตรา ๘๙ บรรดาของที่เก็บในคลังสินค้านั้น ต้องเก็บไว้ในหีบห่อเดิมตามที่ได้นำเข้ามา เว้นแต่ของซึ่งเมื่อได้ขนขึ้นแล้ว ได้รับอนุญาตให้ย้ายหีบห่อได้ ณ ทำเนียบท่าเรือ หรืออนุญาตให้เอาเข้ารวมให้เลือกคัด ให้แบ่งแยกกองให้บรรจุหรือกลับบรรจุใหม่ในคลังสินค้า ในกรณีเช่นนี้ให้เก็บของนั้นไว้ในหีบห่อตามที่เป็นอยู่ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่จดรายการนั้น และถ้าของนั้นมิได้เก็บไว้ดังกล่าวนี้ก็ดี หรือถ้าในภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงทำลงแก่ของหรือหีบห่อที่เก็บไว้นั้นก็ดี เปลี่ยนแปลงในการบรรจุเข้าหีบห่อในคลังสินค้า หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายและเลขหมายหีบห่อก็ดี หรือถ้าได้ขนย้ายของไปจากห้องในคลังสินค้าซึ่งได้เก็บไว้นั้นก็ดี หากมิได้ทำต่อหน้าและได้อนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ไซร้ ท่านว่าของและหีบห่อนั้นให้ริบเสีย เว้นแต่จะเป็นไปเพื่อส่งมอบตามใบอนุญาตหรือคำสั่ง หรืออำนาจอันถูกต้องสำหรับการนั้น
มาตรา ๙๐ ถ้าผู้ปกครองคลังสินค้าเลินเล่อไม่เก็บของในคลังสินค้าให้มีทางเข้าถึงหีบห่อของทุกห่อได้โดยสะดวกไซร้ เมื่อได้ทำการเลินเล่อเช่นนี้เป็นครั้งแรก จะได้รับคำตักเตือนตามทางการ และต่อนั้นไปเมื่อได้กระทำการเลินเล่ออีก ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับครั้งหนึ่ง ๆ ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
มาตรา ๙๑ ของใดปรากฏว่าได้เก็บไว้ในคลังสินค้า และเป็นของยังมิได้ตรวจและส่งมอบถูกต้อง ถ้าผู้ปกครองคลังสินค้าไม่แสดงของนั้นในเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรร้องขอไซร้ ท่านว่าผู้ปกครองคลังสินค้านั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับครั้งหนึ่ง ๆ ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท สำหรับหีบห่อหนึ่ง ๆ ที่ไม่ได้แสดง นอกจากค่าภาษีที่ต้องเสียสำหรับของนั้น
มาตรา ๙๒ ถ้าของใดที่ได้ยื่นใบขนเพื่อเก็บในคลังสินค้ามิได้เก็บให้ถูกต้องตามใบขนก็ดี หรือเมื่อได้เก็บไว้ในคลังสินค้าแล้ว ได้ซ่อนเร้นหรือย้ายขนไปจากคลังสินค้าด้วยประการใด ๆ หรือได้รื้อออกจากหีบห่อ หรือย้ายจากหีบห่ออันหนึ่งไปบรรจุในหีบห่ออีกอันหนึ่ง หรือทำด้วยประการอื่นใดก็ดี เพื่อที่จะปน ย้าย หรือซ่อนเร้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านให้ริบของนั้นเสีย
มาตรา ๙๓ ผู้ใดบังอาจลอบเปิดคลังสินค้า หรือล่วงเข้าไปถึงของที่อยู่ในคลังสินค้านั้น เว้นแต่จะได้เข้าไปต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรในเวลากระทำการตามหน้าที่ ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับครั้งหนึ่ง ๆ ไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๙๔ อธิบดีไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้นำของเข้า หรือเจ้าของ หรือผู้รับตราสั่ง ในเหตุที่เกิดความเสียหายขึ้นแก่ของระวางที่เก็บอยู่ในคลังสินค้า เพราะเกิดเพลิงไหม้ หรือเพราะอุบัติเหตุอย่างอื่นอันมิอาจหลีกเลี่ยงเสียได้ หรือเพราะเหตุเสียหายไม่ว่าอย่างใด ๆ เว้นแต่การเสียหายนั้นจะเกิดจากความจงใจละเลย หรือการกระทำ หรือละเว้นกระทำของพนักงานในเวลากระทำการตามหน้าที่
มาตรา ๙๕ ถ้าของใดที่เก็บในคลังสินค้า หรือที่ยื่นใบขนเพื่อเก็บในคลังสินค้า หรือที่ยื่นใบขนเพื่อรับมอบไปจากคลังสินค้านั้น สูญหาย หรือถูกทำลายโดยอุบัติเหตุอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงเสียได้ ในขณะที่อยู่บนเรือก็ดี หรือในเวลาย้ายถอนขนขึ้นก็ดี ในเวลารับเข้าเก็บในคลังสินค้า หรือเวลาที่อยู่ในคลังสินค้าก็ดี ท่านว่าอธิบดีอาจยกเว้นค่าภาษีที่จะต้องเสีย หรือคืนค่าภาษีที่ได้เสียแล้วสำหรับของนั้นได้
มาตรา ๙๖ ถ้าในเวลาใดเวลาหนึ่ง ปรากฏว่าของในคลังสินค้ามีปริมาณน้อยลงกว่าที่จดไว้ในใบขนสินค้าเดิมเมื่อนำของนั้นเข้าเก็บ และปริมาณที่ต่างกันนี้ไม่มีเหตุผลปรากฏในบันทึกของพนักงานก็ดี หรือไม่ปรากฏในเหตุที่อธิบดีหากได้เห็นสมควรอนุญาตมิให้ต้องคิดค่าภาระติดพันนั้นก็ดี ท่านให้ถือว่าของตามปริมาณที่ต่างกันอันแสดงเหตุมิได้นั้น เป็นของที่ได้ย้ายขนไปโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงาน และให้ใช้บทบัญญัติมาตรา ๒๗ บังคับแก่กรณีเช่นกล่าวนี้
มาตรา ๙๗ ของใดที่เก็บในคลังสินค้าแห่งหนึ่งนั้น จะย้ายไปเก็บในคลังสินค้าแห่งอื่นใดในพระราชอาณาจักรก็ได้ โดยปฏิบัติตามข้อบังคับสำหรับกรมอันอธิบดีจะได้ตั้งขึ้นไว้
มาตรา ๙๗ ทวิ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า มีของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีหรือของที่หลีกเลี่ยงค่าภาษี หรือของต้องจำกัดหรือของต้องห้าม หรือของที่มิได้รับอนุญาตให้นำเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงหรือเพื่อตรวจสอบเอกสารหรือของใด ๆ รวมทั้งตรวจค้นโรงงาน อาคาร ยานพาหนะ และบุคคล ซึ่งอยู่ในคลังสินค้าทัณฑ์บนนั้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น
หมวด ๑๐ ทวิ
เขตปลอดอากร
มาตรา ๙๗ ตรี ให้อธิบดีมีอำนาจอนุมัติจัดตั้งเขตปลอดอากรสำหรับการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ และให้มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอและการอนุมัติให้จัดตั้งเขตปลอดอากร
ผู้ซึ่งได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเขตปลอดอากรต้องเสียค่าธรรมเนียมประจำปีตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยกฎกระทรวง
มาตรา ๙๗ จัตวา ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดประเภทหรือชนิดของ ของที่จะนำเข้าไปในหรือปล่อยออกจากเขตปลอดอากร และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการนำของเข้าไปในหรือปล่อยออกจากเขตปลอดอากร
มาตรา ๙๗ เบญจ ให้ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อนำเข้าไปในเขตปลอดอากร ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ของที่เป็นเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือและเครื่องใช้ รวมทั้งส่วนประกอบของของดังกล่าวที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อนำเข้าไปในเขตปลอดอากรตามที่อธิบดีอนุมัติ
(๒) ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตปลอดอากร สำหรับใช้ในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ หรือ
(๓) ของที่ปล่อยออกมาจากเขตปลอดอากรอื่น
ให้ยกเว้นอากรขาออกสำหรับของที่ปล่อยออกไปจากเขตปลอดอากรเพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักร
มาตรา ๙๗ ฉ การนำเข้าและการผลิตของที่กระทำในเขตปลอดอากร ให้ได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต
การนำเข้าและการผลิตของที่กระทำในเขตปลอดอากรให้ได้รับยกเว้นภาษีสุรา การปิดแสตมป์และค่าธรรมเนียม ตามกฎหมายว่าด้วยสุรา กฎหมายว่าด้วยยาสูบ และกฎหมายว่าด้วยไพ่ โดยให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการยกเว้นและการจัดเก็บตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิตมาใช้บังคับโดยอนุโลมกับการยกเว้นภาษีสุรา การปิดแสตมป์ และค่าธรรมเนียมดังกล่าว
มาตรา ๙๗ สัตต ในกรณีการนำของเข้ามาในราชอาณาจักรหรือนำวัตถุดิบภายในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตปลอดอากรเพื่อผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการอื่นใดกับของนั้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ของนั้นได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายในบังคับของกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมมาตรฐานหรือคุณภาพ การประทับตราหรือเครื่องหมายใด ๆ แก่ของนั้น ทั้งนี้ โดยให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
มาตรา ๙๗ อัฏฐ ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้ของใดได้รับยกเว้นหรือคืนเงินอากรเมื่อส่งออกนอกราชอาณาจักร หากนำของนั้นเข้าไปในเขตปลอดอากร ให้ได้รับยกเว้นอากรหรือคืนเงินอากรโดยให้ถือว่าของนั้นได้ส่งออกนอกราชอาณาจักรในเวลาที่ได้นำของเช่นว่านั้นเข้าไปในเขตปลอดอากร ทั้งนี้ โดยให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
มาตรา ๙๗ นว การนำของออกจากเขตปลอดอากรเพื่อใช้หรือจำหน่ายภายในราชอาณาจักรหรือเพื่อโอนเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บน หรือจำหน่ายให้แก่ผู้นำของเข้าตามมาตรา ๑๙ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พุทธศักราช ๒๔๘๒ หรือผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรหรือกฎหมายอื่น ให้ถือว่าเป็นการนำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือนำเข้าสำเร็จในเวลาที่นำของเช่นว่านั้นออกจากเขตปลอดอากร ทั้งนี้ โดยให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
การนำของในเขตปลอดอากรไปใช้เพื่อการบริโภคหรือใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเขตปลอดอากร ให้ถือว่าเป็นการนำของออกจากเขตปลอดอากรตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะเป็นการกำจัดหรือทำลายเศษวัสดุ ของที่เสียหาย ของที่ใช้ไม่ได้ หรือของที่ไม่ได้ใช้ ซึ่งอยู่ภายในเขตปลอดอากรโดยได้รับอนุญาตจากอธิบดีและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา ๙๗ ทศ ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๑๐ เก็บของในคลังสินค้า และบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับกับการนำของเข้า การเก็บรักษา การส่งของออก การควบคุมการขนย้ายของในเขตปลอดอากร และอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยอนุโลม
หมวด ๑๑
ประกันและทัณฑ์บน
มาตรา ๙๘ อธิบดีอาจเรียกประกันจากบุคคลคนเดียวหรือหลายคนซึ่งเกี่ยวเป็นผู้ได้ประโยชน์ในกิจการใด ๆ อันอยู่ในหน้าที่อำนวยการหรือบังคับบัญชาของกรมศุลกากร โดยให้ทำทัณฑ์บนหรือให้ประกันอย่างอื่นจนเป็นที่พอใจเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไข คำสั่ง หรือกิจการอันเกี่ยวแก่กรมศุลกากร หรือเนื่องจากกิจการที่กล่าวมานั้นได้ บรรดาทัณฑ์บนหรือประกันอย่างอื่นเช่นว่ามานี้ให้เป็นอันสมบูรณ์ตามกฎหมาย และถ้ากระทำผิดเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งแห่งทัณฑ์บนหรือประกัน ก็อาจยกขึ้นฟ้องร้องและว่ากล่าวต่อไปได้เหมือนเช่นประกันทัณฑ์บนอย่างใดๆ กันระบุหรืออนุญาตไว้ให้ทำได้ เรียกได้ตามพระราชบัญญัตินี้หรือบทกฎหมายอื่น ๆ ฉะนั้น บรรดาทัณฑ์บนเช่นว่ามานี้ให้ทำให้แก่และเพื่อได้แก่รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และอธิบดีพึงเพิกถอนเสียได้เมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันในทัณฑ์บน หรือถ้ามีกำหนดเวลาไว้ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในทัณฑ์บนเป็นประการใด ก็นับแต่กำหนดเวลานั้น
หมวด ๑๒
แสดงเท็จ
มาตรา ๙๙ ผู้ใดกระทำหรือจัดหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำ หรือยื่น หรือจัดให้ผู้อื่นยื่นซึ่งใบขนสินค้า คำแสดง ใบรับรอง บันทึก เรื่องราว หรือตราสารอย่างอื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยพระราชบัญญัตินี้ หรืออันพระราชบัญญัตินี้บังคับให้กระทำนั้นเป็นความเท็จก็ดี เป็นความไม่บริบูรณ์ก็ดี หรือเป็นความชักพาให้ผิดหลงในรายการใด ๆ ก็ดี หรือถ้าผู้ใดซึ่งพระราชบัญญัตินี้บังคับให้ตอบคำถามอันใดของพนักงานเจ้าหน้าที่มิได้ตอบคำถามอันนั้นโดยสัตย์จริงก็ดี หรือถ้าผู้ใดไม่ยอม หรือละเลยไม่ทำไม่รักษาไว้ซึ่งบันทึกเรื่องราว หรือทะเบียน หรือสมุดบัญชี หรือเอกสาร หรือตราสารอย่างอื่น ๆ ซึ่งพระราชบัญญัตินี้บังคับไว้ก็ดี หรือถ้าผู้ใดปลอมแปลงหรือใช้เมื่อปลอมแปลงแล้วซึ่งเอกสารบันทึกเรื่องราว หรือตราสารอย่างอื่นที่พระราชบัญญัตินี้บังคับไว้ให้ทำ หรือที่ใช้ในกิจการใด ๆ เกี่ยวด้วยพระราชบัญญัตินี้ก็ดี หรือแก้ไขเอกสารบันทึกเรื่องราว หรือตราสารอย่างอื่นภายหลังที่ได้ออกไปแล้วในทางราชการก็ดี หรือปลอมดวงตรา ลายมือชื่อ ลายมือชื่อย่อ หรือเครื่องหมายอย่างอื่นของพนักงานกรมศุลกากร หรือซึ่งพนักงานกรมศุลกากรใช้เพื่อการอย่างใด ๆ อันเกี่ยวด้วยพระราชบัญญัตินี้ก็ดี ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมวด ๑๓
การฟ้องร้อง
มาตรา ๑๐๐ ในการฟ้องร้องคดีอันเกี่ยวด้วยของซึ่งต้องยึดเพราะไม่เสียภาษี หรือเพราะเหตุพึงริบโดยประการอื่นก็ดี หรือยึดเพื่อเอาค่าปรับตามพระราชบัญญัตินี้ก็ดี ถ้ามีข้อโต้เถียงเกิดขึ้นว่าค่าภาษีสำหรับของนั้น ๆ ได้ส่งชำระถูกต้องแล้วหรือหาไม่ หรือว่าของนั้น ๆ ได้นำเข้ามา ได้ขนขึ้นจากเรือ ได้ส่งออก ได้บรรทุกลงเรือ ได้ย้ายขนไป ได้เก็บ ได้ขาย หรือได้จัดการอย่างอื่นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือหาไม่ไซร้ ท่านว่าหน้าที่พิสูจน์ตกอยู่แก่จำเลยทุกคดีไป
มาตรา ๑๐๑ ในคดีใดๆ อันเกี่ยวด้วยการศุลกากรนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่คนใดๆ ซึ่งกระทำการโดยอาศัยอำนาจของอธิบดี อาจยื่นฟ้องและทำการฟ้องหรือแก้คดี หรือดำเนินคดีได้ ไม่ว่าในศาลหนึ่งศาลใด
มาตรา ๑๐๒ ภายในบังคับแห่งมาตรา ๑๐๒ ทวิ ถ้าบุคคลใดจะต้องถูกฟ้องตามพระราชบัญญัตินี้ และบุคคลนั้นยินยอมและใช้ค่าปรับ หรือได้ทำความตกลง หรือทำทัณฑ์บน หรือให้ประกันตามที่อธิบดีจะเห็นสมควรแล้ว อธิบดีจะงดการฟ้องร้องเสียก็ได้ และการที่อธิบดีงดการฟ้องร้องเช่นนี้ให้ถือว่าเป็นอันคุ้มผู้กระทำผิดนั้น ในการจะถูกฟ้องร้องต่อไปในกรณีแห่งความผิดอันนั้น
ในกรณีความผิดเกี่ยวกับอากรเล็ก ๆ น้อย ๆ จะออกกฎกระทรวงมอบอำนาจให้พนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบปรับ และงดการฟ้องร้องก็ได้
ในกรณีที่อธิบดีเป็นสมควรที่จะฟ้องบุคคลใดฐานกระทำหรือยื่นคำสำแดงหรือบันทึกเรื่องราวซึ่งเป็นความเท็จหรือเป็นความไม่บริบูรณ์ หรือเป็นความชักพาให้ผิดหลงในรายการใด ๆ หรือฐานหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงด้วยประการใด ๆ บรรดาการเสียอากรตามจำนวนที่ควรต้องเสีย หรือการกำกัดหรือการห้าม ให้อธิบดีบันทึกความเห็นว่า เป็นเพราะเหตุใดจึงควรฟ้องผู้กระทำผิด
มาตรา ๑๐๒ ทวิ สำหรับความผิดตามมาตรา ๒๗ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๙๖ และความผิดตามมาตรา ๕ มาตรา ๕ ทวิ และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๗) พุทธศักราช ๒๔๘๐ ถ้าราคาของกลางรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเกินกว่าสี่แสนบาท ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนกรมศุลกากร ผู้แทนกระทรวงการคลัง และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะเปรียบเทียบและงดการฟ้องร้อง และการที่คณะกรรมการงดการฟ้องร้องเช่นนี้ ให้ถือว่าเป็นอันคุ้มกัน ผู้กระทำผิดนั้นในการที่จะถูกฟ้องร้องต่อไปในกรณีแห่งความผิดอันนั้น
มาตรา ๑๐๒ ตรี ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งจ่ายเงินสินบนและรางวัลตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรี ในกรณีต่อไปนี้
๑. ความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร หรือของต้องห้ามต้องกำกัดในการนำเข้ามาใน หรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรให้หักจ่ายเป็นเงินสินบนและรางวัลร้อยละ ๕๕ จากเงินค่าขายของกลาง แต่กรณีที่มิได้ริบของกลาง หรือของกลางไม่อาจจำหน่ายได้ ให้หักจ่ายจากเงินค่าปรับ ส่วนรายที่ไม่มีผู้แจ้งความนำจับ ให้หักจ่ายเป็นเงินรางวัลร้อยละ ๓๐
๒. ความผิดฐานสำแดงเท็จ ให้หักจ่ายเป็นเงินสินบนและรางวัลร้อยละ ๕๕ จากเงินค่าปรับ แต่ในรายที่ไม่มีผู้แจ้งความนำจับ ให้หักจ่ายเป็นเงินรางวัลร้อยละ ๓๐
๓. กรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาด และเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบ เป็นผลให้เรียกอากรเพิ่มเติมได้ ให้จ่ายเงินรางวัลร้อยละ ๑๐ ของเงินอากรที่กรมศุลกากรเรียกเก็บเพิ่มเติมได้
มาตรา ๑๐๓ ถ้ามีความจำเป็นที่จะประเมินราคาของใด ๆ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดเบี้ยปรับ ท่านว่าราคานั้นให้พึงถือเอาตามราคาของชนิดเดียวกัน ซึ่งได้เสียค่าภาษีศุลกากร หรืออากรชั้นในครบถ้วนแล้วตามที่ซื้อขายในเวลา หรือใกล้เวลาที่กระทำผิดนั้น แต่ผู้กระทำผิดจะเลือกถือเอาตามราคาที่อธิบดีกำหนดให้ก็ได้
มาตรา ๑๐๔ ถึงแม้ว่าพระราชบัญญัตินี้จะบัญญัติไว้ประการใดก็ตาม ศาลอาจใช้ดุลพินิจลงโทษผู้กระทำผิดให้ใช้เบี้ยปรับนอกจากโทษจำอีกก็ได้ แต่ว่าเบี้ยปรับและกำหนดโทษจำนั้น ทั้งสองอย่างต้องไม่เกินอัตราโทษอย่างสูงที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
มาตรา ๑๐๕ เจ้าของเรือจะต้องรับผิดในทางแพ่งในการใช้เบี้ยปรับ ซึ่งได้ลงโทษปรับนายเรือสำหรับความผิดใด ๆ อันเกี่ยวด้วยพระราชบัญญัตินี้ และโดยทำนองเดียวกันเจ้าของหรือเจ้าสำนักใด ๆ จะต้องรับผิดใช้ค่าปรับซึ่งได้ลงโทษปรับตัวแทน หรือผู้ปกครองที่นั้น ๆ ซึ่งกระทำการแทนตน หรือควบคุมดูแลผลประโยชน์ของตนนั้น
หมวด ๑๔
ตัวแทน
มาตรา ๑๐๖ บุคคลใดได้รับอำนาจจากเจ้าของสินค้าโดยแสดงออกชัด หรือโดยปริยาย ให้เป็นตัวแทนในเรื่องสินค้านั้น ๆ เพื่อกิจการอย่างใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ และการให้อำนาจนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ได้อนุมัติแล้วไซร้ ท่านให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของสินค้าในกิจการนั้น ๆ
มาตรา ๑๐๗ ถ้านายเรือลำใดให้อำนาจแก่บุคคลใดให้กระทำกิจการเป็นตัวแทนของตน โดยได้รับอนุมัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ และบุคคลนั้นยอมรับเป็นตัวแทนโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยาย เพื่อกระทำหน้าที่ใด ๆ ตามบังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ไซร้ ในเมื่อไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ท่านว่าตัวแทนนั้นต้องระวางโทษเป็นอย่างเดียวกันกับนายเรือ
มาตรา ๑๐๘ ถ้าบุคคลใดร้องขออนุญาตต่อพนักงาน เพื่อกระทำกิจการเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างแทนบุคคลอื่น พนักงานอาจเรียกให้ผู้ที่ร้องขอเช่นนั้น แสดงใบมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรจากบุคคลซึ่งตนร้องขอจะกระทำการแทนนั้นได้ ถ้าและไม่มีใบมอบอำนาจเช่นนี้มาแสดง พนักงานจะไม่ยอมกระทำกิจการกับผู้นั้นก็ได้
มาตรา ๑๐๙ เสมียนหรือคนใช้ของบุคคลใด หรือห้างใดอาจจะมาทำกิจการทั้งหลายทั้งปวงแทนตัวบุคคล หรือห้างนั้นที่ศุลกสถานได้ แต่ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะไม่ยอมรับรองเสมียนหรือคนใช้นั้นเสียก็ได้ เว้นแต่บุคคลหรือห้างนั้นจะได้ยื่นใบมอบอำนาจทั่วไปไว้ที่ศุลกสถานให้อำนาจเสมียนหรือคนใช้นั้นทำการแทนตน และได้วางประกันโดยทำทัณฑ์บนหรือประการอื่นให้ไว้ตามแต่ที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเห็นสมควรและพอใจ เพื่อให้เสมียนหรือคนใช้นั้นปฏิบัติการโดยถูกต้องสมควร
หมวด ๑๕
บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
มาตรา ๑๑๐ ถ้าเรือลำใดบรรทุกลงหรือถ่ายออกซึ่งของหรือสินค้าอย่างใด ๆ ก็ดี หรือกระทำการงานอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ในวันอาทิตย์ หรือวันหยุด หรือก่อน หรือภายหลังเวลาราชการดังกล่าวไว้ในใบแนบ ๔(ค) แห่งพระราชบัญญัตินี้ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน และได้เสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ในใบแนบ ๔ (ค) นั้นแล้ว ท่านว่านายเรือหรือตัวแทนหรือทั้งสองคนร่วมกันมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท แต่การที่ต้องรับผิดตามมาตรานี้ ไม่กระทำให้ผู้นั้นหลุดพ้นจากโทษที่จะพึงต้องรับตามมาตราอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๑๑ เมื่อมีความจำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์รายได้ของแผ่นดิน จะต้องวางพนักงานประจำเรือ ณ ที่ใด และจะไปยังที่นั้นจากด่านศุลกากรอันใกล้ที่สุดไม่ได้โดยง่ายก็ดี หรือเมื่อนายเรือหรือบุคคลอื่นซึ่งมีประโยชน์ได้เสียประสงค์จะให้มีพนักงานไปทำการ ณ ที่เช่นว่านั้นก็ดี ท่านว่าบรรดาค่าเดินทางและค่าธรรมเนียมประจำวันอัตราในใบแนบ ๔ (ง) นั้นให้คิดเอาแก่เรือหรือบุคคลที่ร้องขอ
มาตรา ๑๑๒ ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรสำหรับของที่กำลังผ่านศุลกากร ให้นำของนั้นไปยังศุลกสถาน หรือนำไปเก็บไว้ในที่มั่นคงแห่งใดแห่งหนึ่ง เว้นแต่พนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าของหรือตัวแทนจะตกลงกันยอมให้เอาแต่ตัวอย่างของไว้วินิจฉัยปัญหาและเพื่อรักษาประโยชน์รายได้ของแผ่นดิน ให้ชำระอากรตามจำนวนที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออก แล้วแต่กรณี สำแดงไว้ในใบขนสินค้าและให้วางเงินเพิ่มเติมเป็นประกันจนครบจำนวนเงินอากรสูงสุดที่อาจจะพึงต้องเสียสำหรับของนั้น แต่อธิบดีจะประกาศกำหนดให้รับการค้ำประกันของกระทรวงการคลังหรือธนาคารแทนการวางเงินเพิ่มเติมเป็นประกันดังกล่าว โดยอาจกำหนดให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เห็นสมควรก็ได้
มาตรา ๑๑๒ ทวิ ในกรณีที่มีการวางประกันค่าอากรตามมาตรา ๑๑๒ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินเงินอากรอันพึงต้องเสียและแจ้งให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออก แล้วแต่กรณีทราบแล้ว ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องชำระเงินอากรตามจำนวนที่ได้รับแจ้งให้ครบถ้วนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
ในกรณีที่มีการวางเงินประกันและเงินประกันที่วางไว้คุ้มค่าอากรที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินแล้ว ให้เก็บเงินประกันดังกล่าวเป็นค่าอากรตามจำนวนที่ประเมินได้ทันที และให้ถือเสมือนว่าผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกได้ชำระเงินอากรที่ได้รับแจ้งภายในเวลาที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งแล้ว
(ยกเลิก)
มาตรา ๑๑๒ ตรี ในกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมิได้ชำระเงินอากรให้ครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนดในวรรคหนึ่งแห่งมาตรา ๑๑๒ ทวิ หรือมิได้ปฏิบัติตามระเบียบหรือเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา ๔๐ หรือมาตรา ๔๕ อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายจะเรียกเงินเพิ่มอีกไม่เกินร้อยละยี่สิบของจำนวนค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มก็ได้ เงินเพิ่มนี้ให้ถือเป็นเงินอากร
มาตรา ๑๑๒ จัตวา เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออก จนถึงวันที่นำเงินมาชำระ แต่มิให้เรียกเก็บเงินเพิ่มดังกล่าวในกรณีที่มีการชำระอากรเพิ่มตามมาตรา ๑๐๒ ตรี อนุมาตรา ๓
ในกรณีที่มีการเปลี่ยนการค้ำประกันเป็นการวางเงินประกันหลังการส่งมอบหรือส่งของออก ให้เรียกเก็บและคำนวณเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออก จนถึงวันที่นำเงินมาวางแทนการค้ำประกัน แต่ในกรณีที่เงินประกันที่นำมาวางแทนนั้นไม่คุ้มค่าอากร ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มสำหรับจำนวนค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่มตามเกณฑ์ในวรรคหนึ่งอีกด้วย
ในการคำนวณเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน และเงินเพิ่มนั้นให้ถือเป็นเงินอากร
ในกรณีที่ต้องคืนเงินอากรหรือเงินประกันค่าอากรเพราะเหตุที่ได้เรียกไว้เกินจำนวนอันพึงต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้คืนพร้อมด้วยดอกเบี้ยอีกร้อยละ ๐.๖๒๕ ต่อเดือนของจำนวนที่ต้องคืนโดยไม่คิดทบต้น นับแต่วันที่ได้ชำระค่าอากรหรือวางเงินประกันค่าอากรครั้งสุดท้ายจนถึงวันที่มีการอนุมัติให้จ่ายคืน ในกรณีที่มีการเปลี่ยนการค้ำประกันเป็นการวางเงินประกันหลังการส่งมอบหรือส่งของออก การคำนวณดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินประกันที่ต้องคืน ให้นับตั้งแต่วันวางเงินประกันครั้งสุดท้ายแทนการค้ำประกัน จนถึงวันที่อนุมัติให้จ่ายคืน การคำนวณดอกเบี้ยตามวรรคนี้ เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายนี้ให้ถือเป็นเงินอากรที่ต้องจ่ายคืน
มาตรา ๑๑๒ เบญจ ในกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกค้างชำระค่าอากร อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายมีอำนาจกักของใด ๆ ของผู้นั้นที่กำลังผ่านศุลกากรหรืออยู่ในความกำกับตรวจตราของศุลกากรด้วยประการใด ๆ จนกว่าจะได้ชำระเงินอากรที่ค้างให้ครบถ้วน และถ้ามิได้ชำระภายในสามสิบวันนับแต่วันที่กักของเช่นว่านั้น ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้นำของนั้นออกขายทอดตลาด และเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดนี้ ให้หักค่าอากรค้างชำระ ค่าอากรสำหรับของที่ขายทอดตลาด ค่าเก็บรักษา ค่าย้ายขน และค่าภาระติดพันอย่างอื่นอันค้างชำระแก่ศุลกากรเสียก่อน เหลือเท่าใดให้ใช้ค่าภาระติดพันต่าง ๆ อันสมควรจะได้แก่ผู้เก็บรักษา ถ้ายังมีเหลืออยู่อีกก็ให้จ่ายแก่ตัวแทนของเรือที่นำของที่ขายทอดตลาดเข้ามา เมื่อได้หักใช้เช่นนี้แล้วยังมีเงินเหลืออยู่อีกเท่าใด ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่เจ้าของจะได้เรียกร้องเอาภายในหกเดือนนับแต่วันขายทอดตลาด
มาตรา ๑๑๒ ฉ ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามแบบที่อธิบดีกำหนดได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน โดยในกรณีที่เป็นการนำของเข้าหรือส่งของออกในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร อาจอุทธรณ์โดยยื่นผ่านด่านศุลกากรหรือสำนักงานศุลกากรภาคก็ได้ โดยต้องปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
มาตรา ๑๑๒ สัตต ให้กรรมการพิจารณาอุทธรณ์ประกอบด้วยอธิบดีเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งอธิบดีแต่งตั้งอีกจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินเจ็ดคน เป็นกรรมการ
ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่งตั้งข้าราชการสังกัดกรมศุลกากรเป็นเลขานุการและเป็นผู้ช่วยเลขานุการ โดยให้เลขานุการเป็นกรรมการด้วย
มาตรา ๑๑๒ อัฏฐ ให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งอธิบดีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี
เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินการต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
การแต่งตั้งกรรมการใหม่ให้แต่งตั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ
กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
มาตรา ๑๑๒ นว นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งอธิบดีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) อธิบดีมีคำสั่งให้ออกเนื่องจากมีเหตุบกพร่องอย่างยิ่งต่อหน้าที่หรือมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง
(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้อธิบดีแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทน และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน
มาตรา ๑๑๒ ทศ การประชุมคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต้องมีกรรมการมาประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๑๑๒ เอกาทศ ถ้ากรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่วินิจฉัยจะเข้าร่วมประชุมหรือลงมติในเรื่องนั้นมิได้
มาตรา ๑๒๒ ทวาทศ เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกหนังสือเรียกผู้อุทธรณ์หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งบัญชี เอกสาร หลักฐาน หรือข้อมูล ไม่ว่าในสื่อรูปแบบใด ๆ หรือสิ่งของอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่อุทธรณ์มาแสดงได้ โดยให้เวลาบุคคลดังกล่าวไม่น้อยกว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ส่งหนังสือเรียก
ผู้อุทธรณ์ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกตามวรรคหนึ่ง หรือไม่ยอมให้ถ้อยคำโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยกอุทธรณ์นั้นเสีย
มาตรา ๑๑๒ เตรส ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่จะมอบหมายและรายงานต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
ให้นำความในมาตรา ๑๑๒ ทศ และมาตรา ๑๑๒ เอกาทศ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่งตั้งโดยอนุโลม
มาตรา ๑๑๒ จตุทศ ให้กรรมการในคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่งตั้ง เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๑๒ ปัณรส คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด และในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยในภายหลัง คำวินิจฉัยที่เปลี่ยนแปลงนั้นมิให้มีผลใช้บังคับย้อนหลัง เว้นแต่ในกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัย ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการตามคำพิพากษาในส่วนที่เป็นโทษย้อนหลังได้เฉพาะบุคคลซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้น
มาตรา ๑๑๒ โสฬส ในกรณีที่จะต้องชำระอากรเพิ่มหรือเงินประกันไม่คุ้มค่าอากร การอุทธรณ์ตามมาตรา ๑๑๒ ฉ ไม่เป็นเหตุทุเลาการชำระเงินอากรตามจำนวนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินไว้ เว้นแต่กรณีที่ผู้อุทธรณ์ได้รับอนุมัติจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายให้รอคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาได้ ก็ให้มีหน้าที่ชำระภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือได้รับทราบคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสียอากรเพิ่มขึ้น ผู้อุทธรณ์จะต้องชำระภายในกำหนดเวลาเช่นเดียวกับวรรคหนึ่ง
มาตรา ๑๑๒ สัตตรส คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ทำเป็นหนังสือและให้ส่งไปยังผู้อุทธรณ์
มาตรา ๑๑๒ อัฏฐารส ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยฟ้องเป็นคดีต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เว้นแต่ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ตามมาตรา ๑๑๒ ทวาทศ
มาตรา ๑๑๒ เอกูนวีสติ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๑๒ ทวาทศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๑๓ บรรดาใบขนสินค้า บัญชี สมุดบัญชี บันทึกเรื่องราวหรือเอกสารไม่ว่าประเภทใด ๆ ให้ทำและถือไว้เป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ใบขนสินค้า บัญชี หรือบันทึกเรื่องราวอย่างอื่นที่ต้องทำขึ้นตามบังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ท่านมิให้ถือว่าสมบูรณ์ นอกจากจะได้ทำให้ถูกต้องเคร่งครัดตรงตามที่บัญญัติไว้ เมื่อจะต้องจัดและแยกประเภทปริมาณสินค้า ก็ต้องกระทำการนั้นให้ถูกต้องเคร่งครัดตรงตามบัญชี รายชื่อสินค้าขาเข้าและขาออกแบบราชการ ราคาแยกประเภทหนึ่ง ๆ และราคารวมยอดในใบขนสินค้านั้นให้ลงไว้เป็นเงินสยามจำนวนหีบห่อในต้นใบขนสินค้าทุกฉบับให้ลงเป็นตัวอักษร ส่วนสำเนาจะลงเป็นตัวเลขก็ได้ ห้ามมิให้รับใบขนสินค้าฉบับใด นอกจากจะมีรายการละเอียดบริบูรณ์ดังที่กำหนดไว้ในแบบตามที่กฎหมายบัญญัติ พร้อมทั้งคำแสดงของผู้นำของเข้าหรือตัวแทนดังที่กำหนดไว้ด้วย
มาตรา ๑๑๔ พนักงานเจ้าหน้าที่ใด ๆ อาจเรียกให้ยื่นบัญชี ราคาสินค้า บัญชีสินค้าสำหรับเรือ ใบตราส่งสินค้า ใบรับสมุดบัญชี บันทึกเรื่องราว หรือเอกสารอย่างอื่นอันเกี่ยวด้วยของใด ๆ ที่กำลังผ่าน หรือได้ผ่านศุลกากรนั้นได้ เพื่อตรวจสอบหรือเทียบดูให้ถูกต้องกับใบขนสินค้า ใบรับรอง ใบแสดงการหรือรายละเอียดที่ได้ยื่นไว้ต่อกรมศุลกากร และถ้าไม่ยอมยื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จงใจไม่ยอมปฏิบัติตามคำเรียกของพนักงานนั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๑๑๕ ถ้าผู้ใดไม่ยอมยื่นแบบใบรับรอง ใบแสดงการ คำสำแดงบันทึกเรื่องราว หรือไม่ยอมให้คำแสดงข้อความอื่นแก่พนักงานคนใดซึ่งบังคับให้ยื่นหรือแสดง หรือที่เรียกให้ยื่นหรือแสดงโดยชอบตามพระราชบัญญัตินี้ หรือบทกฎหมายอื่นอันเกี่ยวแก่ศุลกากรก็ดี หรือละเลยไม่ยื่นแบบใบรับรอง ใบแสดงการ คำสำแดง บันทึกเรื่องราว หรือไม่ให้คำแสดงข้อความอื่นเช่นว่านั้นภายในเวลาอันควร หรือเวลาอันระบุไว้และตามแบบที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็ดี ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๑๑๕ ทวิ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าได้มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้หรือบทกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากร ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีคำสั่งเป็นหนังสือให้เป็นผู้มีหน้าที่ตรวจสอบมีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) เข้าไปในสถานที่ประกอบการของผู้นำของเข้า ผู้ส่งของออก ตัวแทนของเรือ ตัวแทนของบุคคลดังกล่าว หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง หรือสถานที่อื่นที่เกี่ยวข้องของบุคคลดังกล่าว ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการ ในการนี้ให้มีอำนาจสั่งบุคคลดังกล่าวหรือบุคคลที่อยู่ในสถานที่นั้นให้ปฏิบัติเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ
(๒) สอบถามข้อเท็จจริงหรือเรียกบัญชี เอกสาร หลักฐาน หรือข้อมูล ไม่ว่าในสื่อรูปแบบใด ๆ หรือสิ่งของอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จากผู้นำของเข้า ผู้ส่งของออก ตัวแทนของเรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าว หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการนำเข้าหรือการส่งออก
(๓) ยึดหรืออายัดบัญชี เอกสาร หลักฐาน หรือข้อมูล ไม่ว่าในสื่อรูปแบบใด ๆ หรือสิ่งของอื่นที่อาจใช้พิสูจน์ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือบทกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากร
ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามความในวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๑๕ ตรี ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือตรวจพบว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือบทกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากร เพื่อประโยชน์ในการไต่สวนเกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้นำของเข้า ผู้ส่งของออก ตัวแทนของเรือ ตัวแทนของบุคคลดังกล่าวหรือบุคคลอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับการนำเข้า หรือการส่งออก ให้ถ้อยคำหรือแจ้งข้อเท็จจริงหรือทำคำชี้แจงเป็นหนังสือหรือสั่งให้บุคคลดังกล่าวส่งบัญชี เอกสาร หลักฐาน หรือข้อมูล ไม่ว่าในสื่อรูปแบบใด ๆ หรือสิ่งของอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมาตรวจสอบ โดยให้เวลาแก่บุคคลดังกล่าวไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๑๕ จัตวา ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมหรือตนได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้นแล้ว
มาตรา ๑๑๕ เบญจ ในการปฏิบัติหน้าที่ของอธิบดี ผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร
ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
มาตรา ๑๑๕ ฉ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ อธิบดี ผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๑๖ สำเนาใบรับรอง ใบขนสินค้า หรือเอกสาร และบัญชี หรือข้อความแถลงสิ่งซึ่งไม่ใช่เป็นความลับนั้น เมื่ออธิบดีเห็นสมควรก็ออกให้ได้โดยให้เสียค่าธรรมเนียมตามอัตราในใบแนบ ๔ (จ)
มาตรา ๑๑๗ การบรรทุกของลงเรือ หรือขนขึ้นจากเรือ การพาเอาของไป และการขนของขึ้นบกก็ดี การนำของไปยังที่สำหรับตรวจก็ดี การชั่งของ การนำของขึ้นชั่ง เปิดกลับบรรจุ เอาเข้ารวม คัดเลือก แบ่งแยกกอง ทำเครื่องหมาย และลงเลขหมาย ซึ่งเป็นการจำเป็น หรืออนุญาตให้กระทำนั้นก็ดี การขนย้ายของไปเก็บในที่สำหรับเก็บจนกว่าจะได้รับมอบไปก็ดี ท่านว่าให้เป็นหน้าที่ของผู้นำของเข้า หรือผู้ส่งของออกจะพึงกระทำโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง และถ้ามีการเสียหายเกิดขึ้นแก่ของในระวางที่อยู่ในความรักษา หรือตรวจตราดูแลของกรมศุลกากรอันมิได้เกิดแต่การจงใจกระทำหรือเกิดแต่ความบกพร่องไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ไซร้ ท่านว่ากรมศุลกากรหาต้องรับผิดในการเสียหายนั้นไม่
มาตรา ๑๑๘ บรรดาหีบห่อซึ่งมีของอยู่ข้างใน ต้องมีเครื่องหมายและเลขหมาย และต้องแสดงเครื่องหมาย และเลขหมายเช่นว่านั้นลงไว้ในเอกสารทุกฉบับ ที่เกี่ยวด้วยของนั้น
มาตรา ๑๑๙ ถ้าผู้ใดกระทำผิดพระราชบัญญัตินี้ และความผิดนั้นมิได้มีบัญญัติโทษไว้เป็นอย่างอื่นในพระราชบัญญัตินี้ หรือบทกฎหมายอื่นไซร้ ท่านว่าผู้นั้นต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
มาตรา ๑๒๐ เมื่อใดบทพระราชบัญญัตินี้แตกต่างกับบทกฎหมายพระราชบัญญัติ หรือประกาศอื่นที่ใช้อยู่ ณ บัดนี้ ท่านว่าในเรื่องอันเกี่ยวแก่ศุลกากรนั้น ให้ยกเอาบทพระราชบัญญัตินี้ขึ้นบังคับ และกฎหมายพระราชบัญญัติหรือประกาศใดซึ่งจะได้ให้ใช้ในภายหน้านั้น มิให้ถือว่าเพิกถอนจำกัดเปลี่ยนแปลงหรือถอนไปเสียซึ่งอำนาจและบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ เว้นไว้แต่ในกฎหมายพระราชบัญญัติหรือประกาศใหม่นั้น จะแสดงไว้โดยชัดแจ้งว่า มีประสงค์จะให้เป็นเช่นนั้น
มาตรา ๑๒๑ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การนำของเข้า และส่งของออก หรือการค้าอย่างใด ๆ ข้ามแดนแห่งพระราชอาณาจักร ทางบกเสมอกันกับการค้าทางทะเล และบทบัญญัติการบังคับ และโทษานุโทษทั้งปวงในพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บังคับแก่การค้าข้ามแดนทางบกตามที่จะพึงใช้ได้โดยมิพักต้องคำนึงถึงถ้อยคำสำนวนซึ่งใช้ตามปรกติในทางการเรือและเมื่อใดมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ถ้อยคำสำนวนที่ใช้นั้นให้หมายความและกินความรวมไปถึงรถไฟ ล้อเลื่อน คนหาบหาม สัตว์บรรทุกอากาศยาน ด่านศุลกากร พรมแดน สนามบินที่กำหนดเป็นด่านภาษี การบรรทุกของลง การถ่ายของออก แล้วแต่กรณี หรือถ้อยคำสำนวนอื่นทำนองนี้ อันใช้อยู่ในการค้าทางบกหรือทางอากาศนั้น
มาตรา ๑๒๒ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดวันหยุดและเวลาราชการศุลกากร กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ค่าภาระติดพัน ค่าใบอนุญาต ค่าแบบพิมพ์ ค่าเดินทาง และกิจการอื่น ๆ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ประกาศมา ณ วันที่ ๓๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙ เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบันนี้
[เอกสารแนบท้าย]
(๑) ใบแนบ ๑ (รายงาน)
(๒) ใบขนสินค้าขาเข้า
(๓) ใบแนบ ๓ ใบขอเปิดตรวจ
(๔) ใบแนบ ๔ อัตราค่าธรรมเนียมและภาระติดพัน
(๕) ใบขนสินค้าขาออก
(๖) ใบแนบ ๖
(๗) ในแนบ ๗ ใบปล่อยเรือออก
(๘) ใบแนบ ๘ คำแสดงที่ยื่นพร้อมกับบัญชีสินค้าสำหรับเรือ
(๙) ใบแนบ ๙ ใบขนสินค้าถ่ายลำ
(๑๐) ใบแนบ ๑๐ ใบขนสำหรับสินค้าส่งไปตามชายฝั่งโดยเรือไปต่างประเทศ
(๑๑) ใบแนบ ๑๑ ใบอนุญาตปล่อยสินค้า
(๑๒) ใบแนบ ๑๒ คำแจ้งความในเรื่องใบอนุญาตปล่อยสินค้าอันคุ้มได้ทั่วไปขาเข้า และคำแจ้งความในเรื่องใบอนุญาตปล่อยสินค้าอันคุ้มได้ทั่วไปขาออก
(๑๓) ใบแนบ ๑๓ บัญชีรายละเอียดของสินค้าที่ขนขึ้น
(ดูข้อมูลภาพกฎหมาย)
หมายเหตุ : เพื่อสะดวกและให้ทันท่วงทีในการค้าอธิบดีมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการแห่งใบแนบ ๑, ๓, ๕ ถึง ๑๓ ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ และใบแนบ ๒ ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากรแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๗๒ และกำหนดแบบขึ้นใช้ใหม่ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการศุลกากร (มาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๘) พุทธศักราช ๒๔๘๐)
พระราชบัญญัติศุลกากรแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๔๗๑
พระราชบัญญัติศุลกากรแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒)พุทธศักราช ๒๔๗๒
พระราชบัญญัติศุลกากรแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๗๔
พระราชบัญญัติศุลกากรแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๔๗๕
พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๗๙
พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๗) พุทธศักราช ๒๔๘๐
มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะมีข้อความแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“ทางอนุมัติ” ให้หมายความว่า ทางที่กำหนดโดยกฎกระทรวงให้เป็นทางที่จะใช้ขนส่งของเข้าในหรือออกนอกราชอาณาจักรได้ หรือจากเขตแดนทางบกมายังด่านศุลกากร หรือจากด่านศุลกากรไปยังเขตแดนทางบกได้
“ด่านพรมแดน” ให้หมายความว่า ด่านที่ตั้งขึ้นไว้โดยกฎกระทรวง ณ ทางอนุมัติ เพื่อตรวจของที่ขนส่งโดยทางนั้น
“ด่านศุลกากร” ให้หมายความว่า ด่านที่ตั้งขึ้นไว้โดยกฎกระทรวง ณ ทางอนุมัติ เพื่อเก็บศุลกากรแก่ของที่ขนส่งโดยทางนั้นและเพื่อตรวจของด้วย
“การนำของเข้าหรือส่งของออกทางบก” ให้หมายความรวมตลอดถึงการนำของเข้าหรือส่งของออกทางลำน้ำ ซึ่งเป็นเขตแดนทางบกหรือตอนหนึ่งแห่งเขตแดนนั้น แต่ไม่รวมถึงการนำของเข้าหรือส่งของออกทางไปรษณีย์หรือทางอากาศ
“เขตแดนทางบก” ให้หมายความว่า เขตแดนทางบกระหว่างราชอาณาจักรกับดินแดนต่างประเทศ และรวมตลอดถึงลำน้ำใดๆ ซึ่งเป็นเขตแดนแห่งราชอาณาจักรหรือตอนหนึ่งแห่งเขตแดนนั้น
“ผู้ควบคุมยวดยาน” หรือ “ผู้ขนส่ง” เมื่อใช้เกี่ยวแก่รถไฟ ให้หมายความว่าพนักงานรักษารถ
“พนักงานหรือพนักงานศุลกากร” นอกจากพนักงานต่างๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๗๙ แล้ว ให้หมายความรวมตลอดถึงพนักงานใด ๆ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้กระทำการเป็นพนักงานศุลกากรด้วย
มาตรา ๔ ของใด ๆ ที่นำเข้าในหรือส่งออกนอกราชอาณาจักรโดยผ่านเขตแดนใด ๆ ทางบกหรือตอนใดแห่งเขตแดนนั้น อาจมีพระราชกฤษฎีกาให้ยกเงินอากรซึ่งเรียกเก็บตามพระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากรที่ใช้อยู่ในเวลาที่นำเข้าหรือส่งออกนั้น ให้ทั้งหมดหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้
มาตรา ๕ ห้ามมิให้ผู้ใดขนส่งของหรือพยายามขนส่งของผ่านเขตแดนทางบกเข้าในหรือออกนอกราชอาณาจักรหรือตั้งแต่เขตแดนทางบกมายังด่านศุลกากรหรือจากด่านศุลกากรไปยังเขตแดนนั้น ตามทางใด ๆ นอกจากทางอนุมัติ หรือในเวลาใด ๆ นอกจากเวลาที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
การขนส่งของตามทางอนุมัติในเวลาอื่นนอกจากที่กำหนดตามวรรคก่อนนั้น จะทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากอธิบดีหรือผู้แทน และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขซึ่งอธิบดีกำหนดขึ้นไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ
ห้ามมิให้ผู้ใดช่วยเหลือการขนส่งอันต้องห้ามดังกล่าวแล้ว หรือเก็บหรือซ่อนหรือยินยอมให้เก็บหรือซ่อนหรือจัดให้เก็บหรือซ่อนของใด ๆ โดยรู้อยู่แล้วว่าของนั้น ๆ ได้ขนส่งโดยฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าวแล้ว
มาตรา ๕ ทวิ ในกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกหรือผู้ขนส่งมีเหตุจำเป็นและแสดงความจำนงล่วงหน้าต่ออธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายว่าจะขนส่งของผ่านเขตแดนใด ๆ ทางบกหรือตอนใดแห่งเขตแดนนั้นตามทางอื่นนอกจากทางอนุมัติ อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายอาจอนุญาตเป็นหนังสือให้ขนส่งตามทางที่ขอ โดยจะกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติประการใดก็ได้ ให้ถือว่าทางที่ได้อนุญาตเช่นว่านี้เป็นทางอนุมัติเฉพาะคราว
มาตรา ๖ อธิบดีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาห้ามมิให้ผู้ควบคุมเรือลำใดหรือเรือประเภทใด ที่ใช้ขนของส่งตามลำน้ำซึ่งเป็นเขตแดนทางบก จอดเทียบท่าเพื่อขนของขึ้นลงตามลำน้ำนั้น ณ ที่ใด ๆ เว้นแต่ที่ซึ่งประกาศไว้
มาตรา ๗ ผู้ขนส่งของอันมิใช่เป็นหีบห่อของส่วนตัวผู้ที่โดยสารในยวดยานที่บรรทุกนั้น เมื่อผ่านเขตแดนทางบกเข้าในราชอาณาจักร ให้ปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้มีบัญชีสินค้าแสดงรายการของทั้งปวงที่ขนส่งตามแบบที่อธิบดีต้องการเป็นสองฉบับ และยื่นบัญชีนั้นต่อพนักงานด่านพรมแดนและด่านศุลกากรและเมื่อพนักงานด่านพรมแดนได้ลงลายมือชื่อในบัญชีสินค้าฉบับหนึ่งแล้ว ให้ถือว่าบัญชีฉบับนั้นเป็นใบอนุญาต ให้นำของผ่านด่านพรมแดนมายังด่านศุลกากรได้
(๒) เมื่อได้รับใบอนุญาตผ่านด่านจากพนักงานด่านพรมแดนแล้ว ให้ขนของมายังด่านศุลกากรโดยพลันตามทางอนุมัติ ของนั้นต้องขนด้วยยวดยานเดียวกันกับที่ใช้นำเข้ามา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากรให้ขนด้วยวิธีอื่นได้ และมิให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงของหรือหีบห่อซึ่งบรรจุของนั้นด้วยประการใด ๆ
มาตรา ๘ ผู้ขนส่งของอันมิใช่เป็นหีบห่อของส่วนตัวผู้ที่โดยสารในยวดยานที่บรรทุกนั้น เมื่อจะผ่านเขตแดนทางบกออกนอกราชอาณาจักร ให้ปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้นำของให้พนักงานศุลกากรตรวจที่ด่านศุลกากร ณ ทางอนุมัติซึ่งใช้ขนส่งของนั้น
(๒) เมื่อพนักงานศุลกากรได้สั่งปล่อยของ และได้ออกใบอนุญาตหรือรับรองใบขนสินค้าฉบับใดเท่าที่จำเป็นแก่การย้ายถอนของนั้นไปแล้ว ก็ให้ขนของไปจากด่านศุลกากรผ่านด่านพรมแดนและข้ามเขตแดนไปโดยพลัน แต่ต้องยื่นใบอนุญาตหรือใบขนสินค้าที่เกี่ยวแก่ของนั้นต่อพนักงานประจำด่านพรมแดน
(๓) อธิบดีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา สั่งให้ผู้ขนส่งทำบัญชีสินค้าแสดงรายการของทั้งปวงที่ขนส่ง และเมื่ออธิบดีได้ประกาศสั่งแล้ว ก็ให้ผู้ขนส่งทำบัญชีเช่นว่านั้นตามแบบที่อธิบดีต้องการเป็นสองฉบับ และยื่นบัญชีนั้นต่อพนักงาน ณ ด่านศุลกากรและด่านพรมแดน
มาตรา ๙ ผู้ควบคุมยวดยานหรือเรือใด ๆ ทั้งที่บรรทุกและมิได้บรรทุกของหรือผู้ควบคุมสัตว์พาหนะที่บรรทุกของและบุคคลใด ๆ ที่ขนส่งของโดยวิธีใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อเข้าในหรือจะออกนอกราชอาณาจักรตามทางอนุมัติ ให้หยุดที่ด่านพรมแดนอันตั้งอยู่ที่ทางนั้น และต้องยอมให้พนักงานตรวจยวดยานหรือเรือและของที่ขนส่ง กับทั้งยอมให้พนักงานทำบัญชีของนั้น ๆ ด้วยตามแต่พนักงานจะเห็นสมควร
บุคคลที่กล่าวมาแล้วนั้น เมื่อพนักงานเรียกร้องในเวลาหรือที่ใด ๆ ภายในระยะ ๕๐ กิโลเมตรจากเขตแดนทางบกต้องหยุดและยอมให้พนักงานนั้นตรวจยวดยานหรือเรือและของที่ขนส่ง ทำบัญชีของนั้น ๆ และตรวจเอกสารใด ๆ ซึ่งต้องมีกำกับของนั้นๆ ตามความในพระราชบัญญัตินี้หรือพระราชบัญญัติอื่น
บุคคลที่กล่าวมาแล้วนั้นต้องตอบคำถามซึ่งพนักงานถามว่าด้วยการเดินทางหรือของที่ขนส่ง และต้องตอบตามความสัตย์จริงทุกประการ
มาตรา ๑๐ ผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๕ หรือมาตรา ๕ ทวิ ผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พระพุทธศักราช ๒๔๖๙ และของทั้งปวงอันเนื่องด้วยการกระทำความผิดนั้นให้ริบเสียสิ้น โดยมิพักต้องคำนึงว่าบุคคลผู้ใดจะต้องรับโทษหรือไม่
มาตรา ๑๑ ผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๗ หรือ ๘ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับครั้งหนึ่ง ๆ ไม่เกินหนึ่งแสนบาท และของทั้งปวงอันเนื่องด้วยการกระทำผิดนั้นให้ยึดไว้จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทบัญญัติที่กล่าวนั้น หรือจนกว่าจะได้อธิบายเหตุให้เป็นที่พอใจของอธิบดีหรือผู้แทน
มาตรา ๑๒ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามประกาศของอธิบดีที่ออกตามมาตรา ๖ หรือฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๙ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขซึ่งกำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๑๓ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
มาตรา ๑๓ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงให้บุคคลจำพวกใด หรือของหรือยวดยานหรือเรือประเภทใด ได้รับยกเว้นจากบทบังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ตลอดทั้งบทกฎหมายว่าด้วยการศุลกากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ และจะกำหนดเงื่อนไขไว้ในกฎกระทรวงนั้นด้วยก็ได้
มาตรา ๑๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๘) พุทธศักราช ๒๔๘๐
มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เมื่อพ้นกำหนดหกเดือน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ (๑) เพียงที่เกี่ยวแก่การเดินอากาศ คำต่อไปนี้ซึ่งใช้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ให้มีความหมายดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะมีข้อความแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“เรือกำปั่น” หรือ “เรือ” ให้มีความหมายรวมถึงอากาศยาน
“ท่า” ให้มีความหมายรวมถึงสนามบินศุลกากร
“นายเรือ” ให้มีความหมายรวมถึงผู้ควบคุม
“ด่านตรวจเรือ” ให้มีความหมายรวมถึงสถานีตรวจอากาศยาน
“ทำเนียบท่าเรือ” ให้มีความหมายรวมถึงที่สำหรับบรรทุกของลงในหรือขนของขึ้นจากอากาศยาน
“เขตน่านน้ำสยาม” ให้หมายความรวมถึง เขตแห่งราชอาณาจักร และอากาศเหนือราชอาณาจักร
(๒) คำว่า “อากาศยาน” “สนามบิน” “ผู้ควบคุม” และ “ผู้ประจำหน้าที่” ให้มีความหมายตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ เว้นแต่จะมีข้อความแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“สนามบินศุลกากร” ให้หมายความว่า สนามบินที่รัฐมนตรีได้กำหนดขึ้นไว้ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นสนามบินสำหรับการนำเข้า หรือส่งออก หรือนำเข้าและส่งออกซึ่งของประเภทใด ๆ หรือทุกประเภททางอากาศ
มาตรา ๕ ในการเข้าในหรือออกนอกราชอาณาจักรห้ามมิให้อากาศยานลงในหรือขึ้นจากที่ใดนอกจากสนามบินศุลกากร
แต่ในกรณีที่อากาศยานจำต้องลงก่อนมาถึงหรือหลังแต่ได้ไปจากสนามบินศุลกากรเพราะเหตุสุดวิสัย เมื่อได้ปฏิบัติตามวิธีที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖ แล้ว ก็ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าได้ลงในหรือขึ้นจากสนามบินศุลกากร เพื่อความประสงค์แห่งความในวรรคก่อน
มาตรา ๖ ถ้าอากาศยานซึ่งเดินทางเข้าในหรือออกนอกราชอาณาจักรจำต้องลงในที่ใดนอกจากสนามบินศุลกากรเพราะเหตุสุดวิสัย ก็ให้ผู้ควบคุมรายงานต่อพนักงานศุลกากรหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยพลัน และเมื่อได้รับคำเรียกร้องก็ให้แสดงสมุดปูมซึ่งเป็นของอากาศยานนั้นต่อพนักงานที่กล่าวแล้ว และห้ามมิให้ผู้ควบคุมอนุญาตให้ขนของใด ๆ ขึ้นจากอากาศยานนั้นโดยมิได้รับความยินยอมของพนักงานศุลกากร และห้ามมิให้ผู้โดยสารหรือผู้ประจำหน้าที่ในอากาศยานนั้นออกห่างไปจากที่นั้น โดยมิได้รับความยินยอมของพนักงานศุลกากรหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ถ้าที่ที่ลงนั้นเป็นสนามบินก็ให้ผู้ควบคุมรายงานต่อเจ้าของหรือพนักงานประจำสนามบินโดยพลัน ว่าอากาศยานนั้นได้มาลงแล้วและมาจากที่ใด และให้เจ้าของหรือพนักงานประจำสนามบินรายงานต่อพนักงานศุลกากรโดยพลันว่า อากาศยานนั้นได้มาลงและต้องไม่ยอมให้ขนของใด ๆ ขึ้นจากอากาศยานนั้น หรือให้ผู้โดยสารหรือผู้ประจำหน้าที่ในอากาศยานนั้นไปจากสนามบินโดยมิได้รับความเห็นชอบของพนักงานศุลกากร
มาตรา ๗ ห้ามมิให้ผู้ใดในอากาศยานที่เดินทางเข้าในราชอาณาจักรทำลายหรือเปลี่ยนแปลงตราเครื่องหมายใด ๆ ซึ่งพนักงานศุลกากร ณ สนามบินซึ่งตนได้จากมาก่อนเข้าในราชอาณาจักร ได้ประทับไว้กับส่วนใดของอากาศยานหรือกับของใดในอากาศยานนั้น
มาตรา ๘ เมื่อได้ออกใบปล่อยสำหรับอากาศยานแล้วตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้รับความยินยอมของพนักงานศุลกากรขนของใด ๆ ที่บรรทุกไว้ในอากาศยานนั้น เพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักรขึ้นจากอากาศยาน
มาตรา ๙ ในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ ความว่า “อาจตรวจดูสมุดหนังสือหรือบันทึกเรื่องราว หรือเอกสาร ไม่ว่าอย่างใด ๆ ที่เกี่ยวกับสินค้า” ให้หมายความรวมถึงว่าอาจตรวจและสลักหลังเอกสารใด ๆ ทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับอากาศยาน หรือกับของที่บรรทุกไว้หรือจะบรรทุกลงในอากาศยาน
มาตรา ๑๐ ในมาตรา ๒๑ แห่งราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ บทบัญญัติให้วางพนักงานศุลกากรลงประจำเรือนั้น มิให้ใช้บังคับแก่อากาศยาน
มาตรา ๑๑ บทบัญญัติในมาตรา ๒๒, ๒๘, ๓๘, ๔๔, ๔๙, ๕๐, ๕๓, ๕๔, ๕๗, และ ๖๔ ถึง ๘๖ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ และบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม มาตราเหล่านี้มิให้ใช้บังคับแก่การเดินอากาศ
มาตรา ๑๒ ในมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ ความว่า “ในทะเลหรือในแม่น้ำลำคลอง” ให้หมายความรวมตลอดถึงที่ใด ๆ ในราชอาณาจักรซึ่งอากาศยานได้ลง
มาตรา ๑๓ ในการใช้บทบัญญัติมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ บังคับ ห้ามมิให้ริบอากาศยานไม่ว่าประเภทใด ๆ
มาตรา ๑๔ ให้ใช้บทบัญญัติมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ บังคับแก่อากาศยานทุกประเภท
มาตรา ๑๕ ผู้ควบคุมอากาศยานทุกลำที่บรรทุกของมาแต่ภายนอกราชอาณาจักร ต้องทำรายงานอันถูกต้องยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เมื่ออากาศยานมาถึงสนามบินศุลกากร เมื่อยื่นรายงานนี้ให้ผู้ควบคุมยื่นสมุดปูมและบัญชีของทั้งปวงที่บรรทุกมา บัญชีนั้นต้องได้ลงลายมือชื่อพนักงานศุลกากรประจำสนามบินที่บรรทุกของก่อนเข้ามาในราชอาณาจักรและรายงานนี้ต้องทำยื่นก่อนเปิดระวางอากาศยาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตพิเศษ และถ้าอากาศยานลำใดมาถึงสนามบินศุลกากรมีของต่างประเทศที่ประสงค์จะส่งออกก็ดี หรือจะขนขึ้น ณ ที่อื่นภายในราชอาณาจักรก็ดี ผู้ควบคุมจะต้องแถลงข้อความว่าด้วยของนั้น ๆ ลงไว้ในรายงานด้วย ถ้ามีการทำผิดต่อบทมาตรานี้ด้วยประการใด ๆ ผู้ควบคุมมีความผิด.ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และบรรดาของที่มิได้ทำรายงานยื่นไว้โดยถูกต้องนั้นให้กักไว้จนกว่าจะได้รายงานให้ถูกต้อง หรือจนกว่าจะได้อธิบายเหตุที่ทำการขาดตกบกพร่องนั้นให้เป็นที่พอใจของอธิบดี
เมื่ออากาศยานใดมิได้บรรทุกของ ก็ไม่ต้องทำรายงานตามมาตรานี้ แต่ต้องยื่นสมุดปูมเพื่อพนักงานศุลกากรตรวจและสลักหลัง
มาตรา ๑๖ ก่อนจะปล่อยอากาศยานลำใดที่บรรทุกของหรือมิได้บรรทุกของออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ผู้ควบคุมหรือถ้าผู้ควบคุมไม่อยู่โดยเหตุจำเป็นอันจะหลีกเลี่ยงมิได้ก็ให้ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งได้รับอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ควบคุมไปรายงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ศุลกสถานและต้องตอบคำถามใด ๆ ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในข้อใด ๆ อันเกี่ยวแก่อากาศยานของที่บรรทุกและการเดินทาง ต้องยื่นสมุดปูมเพื่อพนักงานตรวจและต้องยื่นใบแจ้งความว่าจะออกไปต่างประเทศ ต่อพนักงานนั้นตามแบบที่อธิบดีกำหนดเมื่อพนักงานได้ลงลายมือชื่อในใบแจ้งความแล้วก็ให้ถือว่าใบแจ้งความนั้นเป็นใบปล่อยให้อากาศยานออกเดินทางไปต่างประเทศได้
ถ้าอากาศยานนั้นบรรทุกของใด ๆ ก็ให้ผู้ควบคุมยื่นบัญชีของและทำคำสำแดงรายการของทั้งปวงที่บรรทุกตามแบบที่อธิบดีกำหนด ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมปล่อยอากาศยานตามอัตราที่แจ้งไว้ในใบแนบ ๔ (ช)
ถ้าอากาศยานลำใดออกจากสนามบินศุลกากรในราชอาณาจักรไปภาคต่างประเทศโดยมิได้มีใบปล่อยอากาศยานหรือมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ควบคุมหรือตัวแทนในเมื่อผู้ควบคุมไม่อยู่ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
อธิบดีมีอำนาจงดเก็บค่าธรรมเนียมปล่อยอากาศยานที่ตั้งเก็บตามมาตรานี้
มาตรา ๑๗ ถ้าอากาศยานลำใดได้รับใบปล่อยอากาศยาน แล้วออกจากสนามบินศุลกากรหนึ่งไปยังสนามบินศุลกากรอื่นใดในราชอาณาจักร ให้ผู้ควบคุมยื่นสมุดปูมต่อพนักงานประจำสนามบินนั้นเพื่อตรวจ และให้ยื่นใบแจ้งความว่าจะออกไปต่างประเทศต่อพนักงานนั้นด้วยอีกฉบับหนึ่ง และถ้าบรรทุกของไว้ในอากาศยานก็ให้ยื่นบัญชีของและแสดงรายการของที่บรรทุกด้วยอีกฉบับหนึ่งเช่นกัน กับทั้งให้แสดงใบปล่อยอากาศยานที่พนักงานได้ออกให้ ณ สนามบินศุลกากรแรกที่อากาศยานได้จากมานั้นด้วย และจะต้องทำเช่นนี้ต่อไปทุก ๆ สนามบินศุลกากร จนกว่าจะได้รับใบปล่อยอากาศยานชั้นที่สุดออกนอกราชอาณาจักรและทุกคราว ๆ ที่ทำเช่นนี้ ให้เอาใบปล่อยอากาศยานเพิ่มเติมติดแนบเข้ากับใบปล่อยอากาศยานที่ได้ออกให้ ณ สนามบินศุลกากรแรกที่อากาศยานได้จากมานั้นด้วย ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับใบปล่อยอากาศยานเพิ่มเติมทุกฉบับตามอัตราที่แจ้งไว้ในใบแนบ ๔ (ช)
อธิบดีมีอำนาจงดเก็บค่าธรรมเนียมปล่อยอากาศยานที่ตั้งเก็บตามมาตรานี้
มาตรา ๑๘ อธิบดีมีอำนาจสั่งลดหย่อนหรืองดเก็บค่าธรรมเนียมและค่าภาระติดพันที่ตั้งเก็บตามมาตรา ๑๑๐ และ ๑๑๑ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ แก่อากาศยานได้
มาตรา ๑๙ เพื่อสะดวกและให้ทันท่วงทีในการค้าอธิบดีมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการแห่งใบแนบ ๑, ๓, ๕ ถึง ๑๓ ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ และใบแนบ ๒ ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากรแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๗๒ และกำหนดแบบขึ้นใช้ใหม่ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการศุลกากร
มาตรา ๒๑ เพื่อสะดวกแก่การคมนาคมระหว่างประเทศในพฤติการณ์พิเศษ รัฐมนตรีจะมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรเฉพาะกรณีให้อากาศยานใด หรือบุคคลใดได้รับยกเว้นจากบทบังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ตลอดทั้งบทกฎหมายว่าด้วยการศุลกากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ และจะกำหนดเงื่อนไขไว้ในคำสั่งนั้นด้วยก็ได้
มาตรา ๒๒ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา ๕, ๖, ๗, หรือ ๘ และความผิดนั้นมิได้บัญญัติโทษไว้เป็นอย่างอื่นในพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ ผู้นั้นต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
มาตรา ๒๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พุทธศักราช ๒๔๘๒
มาตรา ๑๐ เมื่อนำของใด ๆ เข้ามาหรือส่งของใด ๆ ออกไปและของนั้นต้องเสียอากรหรือไม่ก็ตาม ให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกแสดงรายการต่อไปนี้ในใบขนสินค้า คือ ชนิดของคุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก ราคาศุลกากร และรายการอย่างอื่น ๆ ตามแต่อธิบดีจะต้องการ และให้ลงนามรับรองในใบขนสินค้าหรือใช้วิธีการอื่นใดตามที่อธิบดีกำหนดเพื่อรับรองใบขนสินค้าว่าข้อความที่ได้แสดงไว้นั้นเป็นความสัตย์จริง
ถ้าไม่พึงสอบทราบราคาศุลกากรได้ ให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกแสดงค่าแห่งของประเภทและชนิดเดียวกันซึ่งจะพึงส่งมอบได้ ณ ที่ที่นำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี แต่ในส่วนของขาเข้าไม่รวมค่าอากร
มาตรา ๑๑ ก่อนจะขนของใด ๆ ออกจากเรือลำใด ให้ผู้นำของเข้ายื่นใบขนสินค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามแบบและมีฉบับคู่เป็นจำนวนเท่าที่อธิบดีต้องการ และถ้าต้องเสียอากรก็ให้เสียอากรที่พึงเรียกเก็บแก่ของนั้น หรือถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่สั่ง ก็ให้วางเงินเป็นประกันเงินอากรนั้น
อธิบดีจะอนุญาตให้ขนของใด ๆ ออกจากเรือ เมื่อมีใบขอเปิดตรวจดังบัญญัติไว้ต่อไปก็ได้ หรือเมื่อมีคำขอของนายเรือหรือตัวแทนของเรือที่นำของเข้าก็ได้ โดยให้ปฏิบัติภายในบังคับแห่งเงื่อนไขตามที่เห็นควรกำหนด
แต่หีบห่อของส่วนตัวผู้โดยสารนั้น ไม่ต้องมีใบขนสินค้าและอาจตรวจขนขึ้นบก และส่งมอบไปได้ ตามข้อบังคับที่อธิบดีกำหนด
มาตรา ๑๒ ถ้าผู้นำของใด ๆ เข้ามาไม่สามารถทำใบขนสินค้าสำหรับของนั้น ๆ ได้ เพราะยังไม่ทราบรายการบริบูรณ์จะยื่นใบขอเปิดตรวจตามแบบที่อธิบดีต้องการก็ได้
ใบขอเปิดตรวจนั้น เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับรองแล้วก็ให้เป็นใบอนุญาตให้ผู้นำของเข้าตรวจของนั้นได้ และให้ผู้นำของเข้าตรวจของนั้นต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในสามวัน นับแต่วันที่ได้รับรองใบขอเปิดตรวจ แล้วให้ทำใบขนสินค้ายื่นโดยพลัน
ถ้าผู้นำของเข้าไม่ยื่นใบขนสินค้าสำหรับของนั้น และไม่เสียอากรที่พึงเรียกเก็บแก่ของนั้น ถ้าต้องเสีย หรือไม่วางเงินเป็นประกันเงินอากรเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับรองใบขอเปิดตรวจ ก็ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้นำของนั้นออกขายทอดตลาด เพื่อใช้ค่าอากร ค่าใช้จ่าย และค่าภาระติดพันอย่างอื่น ๆ ทั้งสิ้น ถ้ามีเงินเหลืออยู่อีกเท่าใด ก็ให้สั่งจ่ายให้ผู้นำของเข้า
มาตรา ๑๓ (ยกเลิก)
มาตรา ๑๔ ของใด ๆ ที่นำเข้าในราชอาณาจักรนั้น รัฐมนตรีอาจออกกฎกระทรวงกำหนดได้ว่า ก่อนส่งมอบไปจากความอารักขาของศุลกากร ให้ผู้นำของเข้าปิดแสตมป์หรือตอกตราของศุลกากรที่ของหรือหีบห่อของนั้น ๆ ตามวิธีการที่กำหนดในกระทรวง
มาตรา ๑๕ ในกรณีที่ตัวแทนถูกศาลพิพากษาให้ปรับเพราะได้กระทำการใด ๆ ที่เป็นความผิดฐานทำหรือยื่นคำแสดงหรือบันทึกเรื่องราวหรือเอกสาร ซึ่งเป็นความเท็จหรือเป็นความไม่บริบูรณ์หรือเป็นความชักพาให้ผิดหลงในรายการใด ๆ หรือฐานหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงด้วยประการใด ๆ บรรดาการเสียอากรตามจำนวนที่ควรต้องเสีย หรือการกำกัดหรือการห้ามนั้น ตัวการจะต้องรับผิดในทางแพ่งใช้ค่าปรับนั้นโดยมิพักต้องคำนึงว่า ตัวแทนจะสามารถชำระค่าปรับนั้นได้หรือไม่ หรือมิพักต้องคำนึงว่าตัวแทนได้ถูกจำแทนค่าปรับนั้นแล้วหรือไม่
มาตรา ๑๖ การกระทำที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗ และมาตรา ๙๙ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ นั้น ให้ถือว่าเป็นความผิดโดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กระทำมีเจตนาหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือหาไม่
มาตรา ๑๗ ของใด ๆ อันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ ประกอบด้วยมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พุทธศักราช ๒๔๘๒ ท่านให้ริบเสียสิ้นโดยมิพักต้องคำนึงว่าบุคคลผู้ใดจะต้องรับโทษหรือหาไม่
มาตรา ๑๘ (ยกเลิก)
มาตรา ๑๙ ของใดที่พิสูจน์เป็นที่พอใจอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายว่าเป็นของรายเดียวกันกับที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและเสียอากรแล้ว ถ้าส่งกลับออกไปยังเมืองต่างประเทศหรือส่งกลับไปเป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือเดินทางไปเมืองต่างประเทศ ให้คืนเงินอากรขาเข้าให้แก่ผู้นำของเข้าเก้าในสิบส่วนหรือส่วนที่เกินหนึ่งพันบาทของจำนวนที่ได้เรียกเก็บไว้ โดยคำนวณตามใบขนสินค้าขาออกแต่ละฉบับ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
(ก) ระหว่างที่อยู่ในราชอาณาจักร ของนั้นมิได้ใช้ประโยชน์ด้วยประการใด ๆ เว้นแต่เพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งของนั้นกลับออกไป และมิได้เปลี่ยนแปลงรูปลักษณะใด ๆ
(ข) ของนั้นได้ส่งกลับออกไปทางท่าหรือที่สำหรับการส่งออกซึ่งของที่ขอคืนอากรขาเข้า
(ค) ของนั้นได้ส่งกลับออกไปภายในหนึ่งปีนับแต่วันนำเข้า และ
(ง) ต้องขอคืนเงินอากรภายในหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นกลับออกไป
อธิบดีมีอำนาจออกข้อบังคับว่าด้วยการพิสูจน์ของ การส่งของกลับออกไป การจัดทำ และยื่นเอกสารต่าง ๆ การคำนวณเงินอากรที่พึงคืนให้ และวิธีการอื่น ๆ เกี่ยวกับการขอคืนเงินอากรนี้
มาตรา ๑๙ ทวิ ของที่ส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศหรือส่งไปเป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือเดินทางไปเมืองต่างประเทศ ถ้าพิสูจน์เป็นที่พอใจอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายว่าได้ผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุด้วยของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ให้คืนเงินอากรขาเข้าสำหรับของดังกล่าวที่ได้เรียกเก็บไว้แล้วให้แก่ผู้นำของเข้า ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(ก) ของที่นำเข้ามานั้นมิใช่ของที่กฎกระทรวงระบุห้ามคืนเงินอากร
(ข) ปริมาณของที่นำเข้าซึ่งใช้ในการผลิต หรือผสมหรือประกอบ หรือบรรจุ เป็นของที่ส่งออก ให้ถือตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีเห็นชอบหรือประกาศกำหนด
(ค) ของนั้นได้ส่งออกไปทางท่าหรือที่สำหรับการส่งออกซึ่งของที่ขอคืนอากรขาเข้า
(ง) ของนั้นได้ส่งออกไปภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นำของซึ่งใช้ในการผลิต ผสม หรือประกอบเป็นของที่ส่งออก หรือใช้บรรจุของที่ส่งออก เข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่อาจส่งออกภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ อธิบดีอาจขยายเวลาออกไปได้อีกไม่เกินหกเดือน และ
(จ) ต้องขอคืนเงินอากรภายในหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นออกไป แต่อธิบดีจะขยายเวลาออกไปตามที่เห็นสมควรก็ได้
อธิบดีมีอำนาจออกข้อบังคับว่าด้วยการพิสูจน์ของ การส่งออกไป การจัดทำ และยื่นเอกสารต่าง ๆ การคำนวณเงินอากรที่พึงคืนให้ และวิธีการอื่น ๆ เกี่ยวกับการขอคืนเงินอากรนี้
มาตรา ๑๙ ตรี เมื่อผู้นำของเข้าแสดงความจำนงว่าของที่นำเข้าจะใช้เฉพาะในการผลิต ผสม ประกอบ หรือบรรจุ เพื่อการส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศ หรือส่งไปเป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือเดินทางไปเมืองต่างประเทศ อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะอนุญาตให้รับการค้ำประกันของกระทรวงการคลังหรือธนาคาร หรือหลักประกันอื่น แทนการชำระอากรขาเข้าที่ต้องเสีย โดยอาจกำหนดเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ เมื่อมีการส่งออกซึ่งของที่จะได้คืนเงินอากรตามมาตรา ๑๙ ทวิ ก็ให้คืนหลักประกันโดยถือเสมือนว่าเป็นการคืนเงินอากร
มาตรา ๑๙ จัตวา ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อใช้ในการผลิต ผสม ประกอบ หรือบรรจุตามมาตรา ๑๙ ทวิ หากโอนเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บน หรือจำหน่ายให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรหรือกฎหมายอื่น ให้ถือว่าของนั้นได้ส่งออกตามมาตรา ๑๙ ทวิ ในเวลาที่โอนหรือจำหน่ายของเช่นว่านั้น ทั้งนี้ โดยให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
การรับของที่ได้โอนหรือจำหน่ายตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการนำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือนำเข้าสำเร็จในเวลาที่โอนหรือจำหน่ายของเช่นว่านั้น โดยให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
มาตรา ๒๐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๐) พุทธศักราช ๒๔๘๓
มาตรา ๔ ให้แก้ไขถ้อยคำบางคำในมาตราต่าง ๆ ดังที่ปรากฏในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้เป็น “ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง” ทุกแห่ง
มาตรา ๕ ให้ยกเลิกใบแนบ ๔ (ก), ๔ (ข), ๔ (ค) และ ๔ (ง) ต่อท้ายพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ ใบแนบ ๔ (ค) เพิ่มเติม, ๔(ฉ) เพิ่มเติม ต่อท้ายพระราชบัญญัติศุลกากรแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๗๔ ใบแนบ ๔(จ) ต่อท้ายพระราชบัญญัติศุลกากรแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๔๗๕ ใบแนบ ๔(ช) ต่อท้ายพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๘) พุทธศักราช ๒๔๘๐
มาตรา ๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๔๙๐
พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๒) พุทธศักราช ๒๔๙๗
มาตรา ๑๐ ถ้าปรากฏว่า ผู้ใดมีสิ่งซึ่งต้องห้าม หรือสิ่งซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นสิ่งต้องกำกัด หรือเป็นสิ่งลักลอบหนีศุลกากรไว้ในครอบครอง ให้อธิบดี พนักงานศุลกากรผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพิเศษจากอธิบดี พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มีอำนาจบันทึกข้อเท็จจริงที่ตนเองได้พบเห็น บันทึกนี้ถ้าเสนอต่อศาลในเมื่อมีการดำเนินคดี ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นความจริงตามข้อเท็จจริงที่จดแจ้งไว้ในบันทึกนั้น และผู้นั้นได้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือนำเข้ามาโดยการลักลอบหนีศุลกากร แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น
ให้นำบทบัญญัติในวรรคก่อนมาใช้บังคับแก่การกระทำผิดต่อกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการส่งออกไปนอก และการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง และกฎหมายว่าด้วยการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรด้วย
มาตรา ๑๑ สิ่งที่ยึดไว้ก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้เมื่อยึดไว้ครบสามสิบวันนับแต่วันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ ถ้าเจ้าของ หรือผู้มีสิทธิไม่มายื่นคำร้องเรียกเอา ให้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของ และให้ตกเป็นของแผ่นดิน
มาตรา ๑๒ เมื่อเห็นเป็นการสมควรกำหนดเขตท้องที่ใดเป็นเขตควบคุมศุลกากร ให้ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมศุลกากร
ภายในเขตควบคุมศุลกากร ให้
บรรดาโรงเรือน หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น ตกอยู่ในอำนาจการตรวจค้นของพนักงานศุลกากรตลอดไป ไม่ว่าในเวลากลางวันหรือกลางคืนโดยไม่ต้องมีหมายค้น แต่ในการใช้อำนาจดังกล่าวแต่ละคราว พนักงานศุลกากรต้องแสดงว่าตนมีเหตุอันสมควรที่จะใช้อำนาจนั้น และต้องแสดงบัตรประจำตัวว่าเป็นพนักงานศุลกากรด้วย
บรรดายานพาหนะซึ่งเข้าใน หรือออกไป หรือพักอยู่ในหรือผ่านเขตนั้นตกอยู่ในอำนาจการตรวจค้นทำนองเดียวกัน
บรรดาบุคคลซึ่งสัญจรไปมาภายในเขตนั้นอยู่ในอำนาจการตรวจค้นทำนองเดียวกัน แต่ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลดังกล่าวนั้นได้กระทำผิดต่อกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และบุคคลนั้นไม่สามารถแสดงเหตุผลของตนให้เป็นที่พอใจของพนักงานศุลกากร พนักงานศุลกากรมีอำนาจจับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ แล้วนำส่งตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
อำนาจการตรวจค้นของพนักงานศุลกากร เกี่ยวกับโรงเรือนหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นในเวลากลางคืนจะต้องเป็นพนักงานศุลกากรผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพิเศษจากอธิบดี
มาตรา ๑๓ ภายในเขตควบคุมศุลกากร อธิบดีมีอำนาจประกาศให้ผู้ทำการค้าสินค้าชนิดใด ตามลักษณะเงื่อนไขใดที่อธิบดีกำหนดไว้ จัดให้มีสมุดควบคุมตามแบบที่อธิบดีกำหนดและให้ลงรายการในขณะที่ได้รับและจำหน่ายสินค้าชนิดนั้นในการประกอบการค้าเป็นรายวันในสมุดนั้น การประกาศ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศตามความในวรรคก่อน ให้ผู้ทำการค้าจัดให้มีสมุดควบคุมและลงรายการในสมุดควบคุมเป็นรายวัน
ถ้าการตรวจแสดงให้เห็นว่ามีสินค้าขาดหรือเกินจำนวนที่ควรจะปรากฏตามสมุดควบคุม ในเมื่อคำนึงถึงจำนวนสินค้าที่ผู้ทำการค้าสมควรมีไว้เพื่อใช้สอยเอง และให้ครอบครัวใช้สอยตามปกติแล้ว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า สินค้าซึ่งขาดหรือเกินนั้นได้นำมาไว้ในครอบครองของผู้ทำการค้า หรือย้ายขนไปโดยผิดกฎหมาย แล้วแต่กรณี โดยยังไม่ได้ชำระค่าอากร
มาตรา ๑๔ อธิบดีมีอำนาจประกาศระบุบริเวณพิเศษในเขตควบคุมศุลกากร ซึ่งจะต้องอยู่ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรานี้ และให้มีแผนที่แสดงเขตของบริเวณดังกล่าวต่อท้ายประกาศนั้น การประกาศ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ภายในบริเวณพิเศษนั้น ผู้ใดมีสินค้าเพื่อการค้าของตนหรือของผู้อื่น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า สินค้านั้นเป็นสินค้าที่ยังไม่ได้ชำระค่าอากร เว้นแต่จะแสดงให้เป็นที่พอใจว่าได้ชำระอากรแล้ว
ห้ามมิให้ผู้ใดทำการขนสินค้าเข้าไป หรือออกมา หรือขนภายในบริเวณพิเศษนั้น เว้นแต่จะมีใบอนุญาตขนซึ่งพนักงานศุลกากรได้ออกให้ และต้องแสดงใบอนุญาตขนนั้นเมื่อพนักงานศุลกากรเรียกร้อง
มาตรา ๑๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
มาตรา ๑๖ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๔ วรรคสาม มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๑๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากอัตราโทษปรับตามกฎหมายศุลกากรในปัจจุบันได้กำหนดขึ้นไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙ ในขณะนี้จึงเป็นอัตราโทษปรับที่ต่ำเกินไปไม่เหมาะสมกับสถานะการณ์ เป็นเหตุให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวและไม่เข็ดหลาบ สมควรจะต้องเพิ่มอัตราโทษปรับให้สูงขึ้นสิบเท่าของอัตราโทษเดิม ทั้งการยึดของกลางในการกระทำผิดกฎหมายศุลกากรในกรณีไม่มีตัวผู้ต้องหา กว่าจะตกเป็นของแผ่นดิน จะต้องยึดไว้จนครบหกเดือนโดยผู้มีสิทธิไม่มายื่นคำร้องเรียกเอาจึงจะตกเป็นของแผ่นดิน เป็นการล่าช้ามากเกินสมควรโดยไม่จำเป็น ทำให้ของกลางนั้นเสื่อมคุณภาพ ทั้งเป็นเรื่องที่ไม่มีปัญหาอย่างใดแล้ว และเป็นเหตุให้ผู้แจ้งความนำจับและเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมได้รับเงินสินบนและรางวัลล่าช้าไปด้วยเป็นผลเสียในการปราบปรามจึงจำเป็นต้องย่นระยะเวลาให้สั้นเข้า ส่วนการมอบอำนาจให้พนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบกรณีความผิดเกี่ยวกับภาษีเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นเดียวกับอธิบดีกรมศุลกากร ก็เนื่องจากขณะนี้ปรากฏว่า มีคดีที่กระทำผิดกฎหมายศุลกากรเกิดขึ้นในส่วนภูมิภาคเป็นจำนวนมาก ทั้งบางรายเกิดขึ้นในท้องที่ที่ไม่มีด่านศุลกากรตั้งอยู่ การที่จะส่งเรื่องมาให้อธิบดีกรมศุลกากรทำการเปรียบเทียบปรับทุก ๆ รายเป็นการล่าช้าและยุ่งยากมาก สมควรมอบอำนาจให้พนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบกรณีความผิดเกี่ยวกับภาษีเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นเดียวกับอธิบดีกรมศุลกากรได้ และสำหรับคดีที่ราคาของกลางรวมค่าอากรเกินกว่า ๔๐,๐๐๐ บาท ก็สมควรให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้แทนกรมศุลกากรผู้แทนกระทรวงการคลัง และผู้แทนกรมตำรวจทำการเปรียบเทียบ แทนที่จะให้เป็นอำนาจของอธิบดีกรมศุลกากรแต่ผู้เดียว เพื่อเป็นการรัดกุมรอบคอบเป็นประโยชน์แก่ราชการยิ่งขึ้น การกำหนดจ่ายเงินสินบนและรางวัลนั้นเล่า เพื่อเป็นประกันแก่ผู้แจ้งความนำจับและเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม เป็นกำลังน้ำใจสืบเสาะและปราบปรามการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากร จึงสมควรกำหนดการจ่ายเงินสินบนและรางวัลสำหรับการจับกุมการกระทำผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร ฐานสำแดงเท็จ และตรวจพบเงินอากรขาดไว้ในกฎหมายศุลกากรให้เป็นการแน่นอนยิ่งขึ้น อนึ่ง การฟ้องผู้ต้องหาในความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรอยู่ในขณะนี้ ผู้กล่าวหาย่อมมีหน้าที่นำสืบ ซึ่งมักจะหาพยานหลักฐานได้ไม่เพียงพอที่จะลงโทษผู้ต้องหาได้ถ้าให้อำนาจแก่อธิบดีกรมศุลกากร พนักงานศุลกากรผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพิเศษจากอธิบดี และพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ บันทึกข้อเท็จจริงที่ตนเองได้พบเห็นการกระทำผิดต่อกฎหมายว่าด้วยศุลกากรแล้วเสนอต่อศาล โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นความจริงตามข้อเท็จจริงที่จดแจ้งไว้ในบันทึกนั้นก็ย่อมจะเป็นผลดีในทางคดี เพราะหน้าที่นำสืบตกอยู่แก่จำเลย นอกจากนี้แล้วสมควรกำหนดเขตควบคุมศุลกากรเพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรมีอำนาจตรวจค้นและป้องกันการลักลอบหนีศุลกากรโดยเข้มงวด ทั้งนี้เนื่องจากตามกฎหมายศุลกากรในปัจจุบันมีบทบัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในเรื่องการตรวจค้นและป้องกันการลักลอบหนีศุลกากรไม่เพียงพอ ส่วนการกำหนดเขตควบคุมศุลกากรพิเศษขึ้น ก็เนื่องจากขณะนี้บางท้องที่ริมพรมแดนเป็นที่กักตุนสินค้าที่ลักลอบหนีศุลกากร และไม่มีบทกฎหมายที่จะปราบปรามได้ จึงสมควรที่จะกำหนดเขตควบคุมศุลกากรพิเศษขึ้น เพื่อปราบปรามให้หมดสิ้นไปซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่รัฐในการที่จะเก็บอากรได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๔๙๙
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยปัจจุบันนี้การอุตสาหกรรมภายในประเทศได้ขยายตัวขึ้น โรงงานอุตสาหกรรมภายในประเทศสามารถผลิตสินค้าส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ แต่การผลิตสินค้าเหล่านี้อาจต้องใช้วัตถุดิบทั้งหมดหรือบางส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศโดยเสียอากรขาเข้า วัตถุดิบส่วนที่ไม่ได้ใช้บริโภคภายในประเทศนี้จึงควรได้รับคืนเงินอากรขาเข้า แต่ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรปัจจุบัน กรมศุลกากรไม่อาจจะคืนให้ได้ จึงสมควรแก้ไขให้มีการคืนเงินอากรในกรณีเช่นนี้ได้ เพื่อความเป็นธรรมและส่งเสริมการประกอบกิจการอุตสาหกรรมภายในประเทศอันจะยังประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ตามมา
นอกจากนั้นปรากฏว่า ในปัจจุบันกฎหมายลงโทษแต่เฉพาะผู้ลักลอบนำของซึ่งหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามหรือข้อจำกัดเข้ามาในราชอาณาจักร สำหรับผู้ซึ่งรู้ว่าของนั้นได้นำเข้ามาโดยหลีกเลี่ยงดังกล่าว แล้วช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของดังกล่าวนั้น ยังไม่มีบทลงโทษ และถ้าไม่ลงโทษบุคคลเช่นว่านี้ก็ไม่ได้ผลในทางปฏิบัติ เพราะเมื่อผู้ลักลอบนำของเข้ามาแล้วไม่มีผู้รับซื้อไว้ ผู้ลักลอบนำเข้าก็ย่อมจะไม่นำเข้ามา ความประสงค์ที่นำเข้ามาก็เพื่อที่จะขายเป็นส่วนสำคัญ และข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฏอยู่ก็มีผู้คอยรับซื้ออยู่เป็นปกติธุระ ถ้าไม่มีกฎหมายลงโทษบุคคลที่คอยรับซื้อหรือช่วยเหลือ การป้องกันปราบปรามการลักลอบก็ย่อมไม่ได้ผล ด้วยเหตุนี้จึงสมควรลงโทษบุคคลดังกล่าว เชื่อว่าจะได้ผลในทางป้องกันปราบปรามการหลีกเลี่ยงอากรอันจะเป็นผลเพิ่มพูนรายได้ของรัฐยิ่งขึ้น
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๒๙
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ พ.ศ. ๒๕๒๘
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างพิกัดอัตราศุลกากรโดยออกเป็นพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ ๔๕) พ.ศ. ๒๕๒๘ ในการนี้เห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากรเพื่อให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากรในทำนองเดียวกับคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร เพื่อให้การพิจารณาดำเนินการจัดเก็บภาษีอากรมีประสิทธิภาพและเกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้น และโดยที่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ ๔๕) พ.ศ. ๒๕๒๘ ดังกล่าว ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๔
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันได้มีการนำสินค้าจำพวกเคมีภัณฑ์ สิ่งมีพิษ หรือสิ่งที่เป็นอันตรายอย่างอื่นเข้ามาในราชอาณาจักร และนำมาเก็บรักษาไว้ในเขตศุลกากรเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเกิดอันตรายหรือความเสียหายต่อบุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สินหรือสิ่งแวดล้อมขึ้นได้ สมควรกำหนดวิธีการเก็บภาษีอากรสำหรับสินค้าอันตราย ตลอดจนเงื่อนไขในการขนถ่าย การเก็บรักษาสินค้า และการนำสินค้าออกไปจากเขตศุลกากรขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อให้มีการนำสินค้าเหล่านั้นออกไปจากเขตศุลกากรได้โดยรวดเร็วและเหมาะสมกับสถานที่เก็บรักษาสินค้าดังกล่าว นอกจากนี้ สมควรกำหนดมาตรการดำเนินการกับของตกค้างที่เป็นสินค้าอันตรายและของเสียและเรือที่นำของดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ.๒๕๔๐
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดการสอบสวนความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรที่เกิดในทะเลอาณาเขต และเนื่องจากได้มีประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พระพุทธศักราช ๒๔๖๙ เพื่อกำหนดการใช้อำนาจทางศุลกากรในเขตต่อเนื่องให้ชัดเจนด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๔๒
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรเพิ่มมาตรการบางประการเพื่อให้การปราบปรามการหลีกเลี่ยงภาษีตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรบรรลุผลยิ่งขึ้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พระพุทธศักราช ๒๔๖๙ เพื่อกำหนดความผิดสำหรับการขนถ่ายสิ่งของใด ๆ ในทะเลนอกเขตท่าและเพิ่มอำนาจของศาลในการริบเรือที่มีขนาดเกินสองร้อยห้าสิบตันและของที่มิได้เป็นของผู้กระทำความผิดในบางกรณี จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๔๓
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นต้นไป
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก จึงมีพันธกรณีที่จะต้องนำความในมาตรา ๗ ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า ๑๙๙๔ มาถือปฏิบัติ และโดยที่ความตกลงดังกล่าวได้กำหนดให้ใช้ราคาศุลกากรเป็นเกณฑ์ในการประเมินอากรสำหรับของนำเข้า ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายว่าด้วยศุลกากรที่ให้ใช้ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเป็นเกณฑ์ประเมินเงินอากรสำหรับของนำเข้า ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา ๗ ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า ๑๙๙๔ จึงต้องยกเลิกการใช้ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเป็นเกณฑ์ประเมินเงินอากรสำหรับของนำเข้าโดยให้ใช้ราคาศุลกากรแทน นอกจากนั้น สมควรกำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และกระบวนการในการพิจารณาอุทธรณ์เพื่อให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกที่ไม่พอใจการประเมินอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แทนการอุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาอุทธรณ์เป็นไปอย่างถูกต้องและโปร่งใสมากขึ้น และสมควรกำหนดให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการนำของเข้าหรือส่งของออกมีหน้าที่เก็บรักษาบัญชี เอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการนำของเข้าหรือส่งของออกเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและกำหนดให้อธิบดี ผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยศุลกากร หรือมีการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการไต่สวนการกระทำความผิดนั้น รวมทั้งกำหนดความรับผิดของกรรมการผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลได้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถลงโทษผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลได้อย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ. ๒๕๔๓
หมายเหตุ : - เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการค้าขายระหว่างประเทศได้มีการแข่งขันกันอย่างมาก การสนับสนุนและส่งเสริมการส่งออกจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้จึงสมควรกำหนดให้มีการจัดตั้งเขตปลอดอากรขึ้นในประเทศไทย เพื่อผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการอื่นใดกับสินค้านั้นเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร อันเป็นการส่งเสริมการส่งออกอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งการจัดตั้งเขตปลอดอากรสามารถกระทำได้โดยขออนุมัติต่ออธิบดีกรมศุลกากรเท่านั้น จึงมีความสะดวก รวดเร็ว และเป็นหลักการที่มีความสอดคล้องกับหลักสากลดังที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญาเกียวโตขององค์การศุลกากรโลก จึงเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกที่สามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับกิจการของตนได้และสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อให้มีขอบเขตการดำเนินงานได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่นให้มีความยืดหยุ่นและเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๘
พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๔๘
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรร่วมเพื่อแสวงประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเลในบริเวณที่กำหนดของไหล่ทวีปของประเทศทั้งสองในอ่าวไทย ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๒ และในความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งมาเลเซียว่าด้วยธรรมนูญและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้วเพื่อให้การปฏิบัติการเป็นไปตามบันทึกความเข้าใจและความตกลงดังกล่าวในเรื่องเกี่ยวกับอำนาจทางศุลกากร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้