พระราชบัญญัติ
การไฟฟ้านครหลวง
พ.ศ. ๒๕๐๑
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑
เป็นปีที่ ๑๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งการไฟฟ้านครหลวง
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. ๒๕๐๑”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับแทน
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“การไฟฟ้านครหลวง” หมายความว่า การไฟฟ้านครหลวง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง
“ผู้ว่าการ” หมายความว่า ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง
“พนักงาน” หมายความว่า พนักงานของการไฟฟ้านครหลวง
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
การจัดตั้งการไฟฟ้านครหลวง ทุนและเงินสำรอง
มาตรา ๖ ให้จัดตั้งการไฟฟ้าขึ้นเรียกว่า “การไฟฟ้านครหลวง” มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) ผลิตพลังงานไฟฟ้าไปพลางก่อนในระหว่างที่ยังไม่ได้มีการโอนตามมาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้ายันฮี พ.ศ. ๒๕๐๐
(๒) จัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า และ
(๓) ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง หรือที่เป็นประโยชน์แก่การไฟฟ้านครหลวง
มาตรา ๗ การผลิต จัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าตลอดจนการคมนาคมที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นกิจการสาธารณูปโภค
มาตรา ๘ ให้การไฟฟ้านครหลวงเป็นนิติบุคคล และให้มีอำนาจดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในเขตท้องที่จังหวัดพระนคร จังหวัดธนบุรีและจังหวัดอื่นที่การไฟฟ้ากรุงเทพ กระทรวงมหาดไทย และกองไฟฟ้าหลวง กรมโยธาเทศบาล ดำเนินการอยู่แล้ว
มาตรา ๙ ให้การไฟฟ้านครหลวงตั้งสำนักงานใหญ่ในจังหวัดพระนคร และจะตั้งสำนักงานสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่อื่นใดก็ได้
มาตรา ๑๐ ให้โอนบรรดาทรัพย์สิน สินทรัพย์ หนี้สินและความรับผิดตลอดจนธุรกิจอันเป็นของกรมโยธาเทศบาลซึ่งกองไฟฟ้าหลวงดำเนินการอยู่ และของกระทรวงมหาดไทยซึ่งการไฟฟ้ากรุงเทพดำเนินการอยู่ให้แก่การไฟฟ้านครหลวง
มาตรา ๑๑ ให้โอนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๑ ของกองไฟฟ้าหลวง กรมโยธาเทศบาล และการไฟฟ้ากรุงเทพ กระทรวงมหาดไทยซึ่งเหลืออยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้แก่การไฟฟ้านครหลวง งบประมาณดังกล่าวนี้เว้นแต่จำนวนที่ได้รับในลักษณะเงินกู้ ให้เป็นทุนประเดิมของการไฟฟ้านครหลวง
นอกจากเงินงบประมาณตามวรรคแรก ให้นำทรัพย์สินและสินทรัพย์ที่รับโอนมาจากกองไฟฟ้าหลวง กรมโยธาเทศบาล และจากการไฟฟ้ากรุงเทพ กระทรวงมหาดไทยเมื่อได้หักหนี้สินออกแล้วเข้าอยู่ในทุนประเดิมด้วย
มาตรา ๑๒ ทุนของการไฟฟ้านครหลวงประกอบด้วย
(๑) เงินที่ได้จากงบประมาณแผ่นดินตามมาตรา ๑๑
(๒) ทรัพย์สินและสินทรัพย์ที่ได้รับโอนตามมาตรา ๑๐ เมื่อหักหนี้สินออกแล้ว และ
(๓) เงินที่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดินที่จ่ายให้ภายหลังเพื่อดำเนินงานหรือขยายกิจการ
มาตรา ๑๓ ให้การไฟฟ้านครหลวงมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๖ และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) สร้าง ซื้อ จัดหา จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม และดำเนินงานเกี่ยวกับเครื่องใช้ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของการไฟฟ้านครหลวง
(๒) ซื้อ จัดหา จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง โอน รับโอน แลกเปลี่ยน ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครอง หรือดำเนินงานเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(๓) สำรวจและวางแผนงานที่จัดทำใหม่หรือขยายเพิ่มเติมภายในเขตท้องที่ตามมาตรา ๘
(๔) กำหนดประเภท ขนาด และมาตรฐานของสายส่งศักย์สูงย่อย หรือสายส่งศักย์ต่ำ และเครื่องอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อให้ถูกต้องตามหลักวิชา
(๕) กำหนดอัตราค่าบริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของการไฟฟ้านครหลวงและจัดระเบียบเกี่ยวกับวิธีชำระราคาและค่าบริการ
(๖) จัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้และรักษาทรัพย์สินของการไฟฟ้านครหลวง
(๗) กู้ยืมเงินหรือลงทุน
(๘) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน
(๙) จัดตั้งบริษัทจำกัดเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่กิจการของการไฟฟ้านครหลวง
(๑๐) เข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประโยชน์แก่กิจการของการไฟฟ้านครหลวง
(๑๑) กระทำการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการไฟฟ้านครหลวง
มาตรา ๑๔ ทรัพย์สินของการไฟฟ้านครหลวงย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
มาตรา ๑๕ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ และผู้ว่าการของการไฟฟ้านครหลวง และพนักงานผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการตามมาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๖ ทวิ หรือมาตรา ๓๗ เป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๖ เงินสำรองของการไฟฟ้านครหลวง ให้ประกอบด้วยเงินสำรองเผื่อขาดและเงินสำรองอื่น ๆ ตามแต่คณะกรรมการจะเห็นสมควร
มาตรา ๑๗ ให้การไฟฟ้านครหลวงเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารตามระเบียบของคณะกรรมการซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
หมวด ๒
การกำกับ การควบคุมและการบริหาร
มาตรา ๑๘ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของการไฟฟ้านครหลวง และเพื่อประโยชน์ในการนี้จะสั่งให้การไฟฟ้านครหลวงชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือทำรายงานยื่นก็ได้
มาตรา ๑๙ ในกรณีที่การไฟฟ้านครหลวงจะต้องเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีตามความในพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการนำเรื่องเสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๒๐ ให้มีคณะกรรมการของการไฟฟ้านครหลวงคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง” ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคน ผู้ว่าการเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินเก้าคน
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีกรรมการเกินจำนวนตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นได้ แต่ทั้งนี้จำนวนกรรมการรวมประธานกรรมการต้องไม่เกินสิบห้าคน
ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ
มาตรา ๒๑ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการ จะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และต้องมีความรู้และมีความจัดเจนเพียงพอเกี่ยวกับการจัดการธุรกิจ การไฟฟ้า วิศวกรรม การเศรษฐกิจ การเงินหรือกฎหมาย
มาตรา ๒๒ ผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการ
(๑) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับการไฟฟ้านครหลวงหรือในกิจการที่กระทำให้แก่การไฟฟ้านครหลวง หรือในกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับกิจการของการไฟฟ้านครหลวง ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เว้นแต่เป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิดในกิจการเช่นว่านั้น หรือเป็นประธานกรรมการ กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้ดำเนินกิจการ โดยการมอบหมายของการไฟฟ้านครหลวงในกิจการตามมาตรา ๑๓ (๑๐) หรือ
(๒) เป็นพนักงานนอกจากผู้ว่าการ
มาตรา ๒๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๔๑ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการของการไฟฟ้านครหลวง อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) วางข้อบังคับเกี่ยวกับการต่าง ๆ ตามความในมาตรา ๑๓
(๒) วางข้อบังคับการประชุมและการดำเนินกิจการของคณะกรรมการ
(๓) วางข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้งและการถอดถอนพนักงาน
(๔) วางข้อบังคับว่าด้วยระเบียบปฏิบัติงานและข้อบังคับว่าด้วยระเบียบวินัยและการลงโทษพนักงาน
(๕) กำหนดอัตราราคาขายพลังงานไฟฟ้า ค่าบริการและความสะดวกต่าง ๆ และ
(๖) กำหนดอัตราเงินเดือนพนักงาน
(๗) จำหน่ายทรัพย์สินและหนี้สูญออกจากบัญชี
อัตราราคาขายดังกล่าวใน (๕) ให้กำหนดในอัตราอันสมควรเพื่อให้มีรายได้เพียงพอ
(ก) สำหรับรายจ่ายที่จำเป็นในการดำเนินงาน รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา กองทุนสงเคราะห์ หรือการสงเคราะห์อื่น ๆ เพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานและครอบครัว และโบนัส
(ข) สำหรับการชำระหนี้สินเท่าที่จำนวนเงินเพื่อการชำระนั้นเกินกว่าจำนวนที่จัดสรรไว้เป็นค่าเสื่อมราคา และสำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการจัดหาสินทรัพย์ใหม่แทนสินทรัพย์เดิม และ
(ค) ที่จะจัดให้มีเงินสำรองเพียงพอสำหรับเป็นเงินสำรองเผื่อขาดและเป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่อันจำเป็นในการขยายกิจการและลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบตามความในมาตรา ๔๒
ข้อบังคับว่าด้วยระเบียบปฏิบัติงานที่คณะกรรมการวางไว้ตามความใน (๔) นั้น ถ้ามีข้อความจำกัดอำนาจผู้ว่าการในการทำนิติกรรมไว้ประการใด ให้รัฐมนตรีประกาศข้อความเช่นว่านั้นในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๒๔ ให้ประธานกรรมการและกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งหกปี แต่สำหรับกรรมการนั้นในวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนดสามปี ให้ออกจากตำแหน่งกึ่งหนึ่งโดยวิธีจับสลาก
ประธานกรรมการ และกรรมการ ที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ จะแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการและกรรมการอีกก็ได้
มาตรา ๒๕ ประธานกรรมการและกรรมการย่อมพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระตามความในมาตรา ๒๔ เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ หรือหย่อนสมรรถภาพ หรือ
(๔) ตกเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒
ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้วนั้น
มาตรา ๒๖ ประธานกรรมการและกรรมการย่อมได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๒๗ ให้คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งผู้ว่าการ ซึ่งต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และต้องเป็นผู้มีความรู้และมีความจัดเจนเกี่ยวกับการไฟฟ้าหรือธุรกิจในการไฟฟ้า
ให้ผู้ว่าการได้รับเงินเดือนตามที่คณะกรรมการกำหนดและอยู่ในตำแหน่งได้จนกว่าคณะกรรมการจะให้ออกจากตำแหน่งเพราะบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่หรือหย่อนสมรรถภาพ มติให้ผู้ว่าการออกจากตำแหน่ง ต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งจำนวนของจำนวนกรรมการทั้งหมด นอกจากผู้ว่าการ
การแต่งตั้ง การกำหนดเงินเดือนและการให้ออกจากตำแหน่งตามมาตรานี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๒๘ ผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้แต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ หรือถ้าเป็นผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่แล้วก็ให้พ้นจากตำแหน่งไป
(๑) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับการไฟฟ้านครหลวงหรือในกิจการที่กระทำให้แก่การไฟฟ้านครหลวง หรือในกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับกิจการของการไฟฟ้านครหลวง ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เว้นแต่เป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิดในกิจการเช่นว่านั้น หรือเป็นประธานกรรมการ กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้ดำเนินกิจการ โดยการมอบหมายของการไฟฟ้านครหลวงในกิจการตามมาตรา ๑๓ (๑๐)
(๒) เป็นข้าราชการประจำหรือผู้มีตำแหน่งทางการเมือง หรือ
(๓) เป็นผู้ไม่อาจทำงานได้เต็มเวลาให้แก่การไฟฟ้านครหลวง
มาตรา ๒๙ ผู้ว่าการเป็นผู้บริหารกิจการของการไฟฟ้านครหลวงให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานทุกตำแหน่ง
ผู้ว่าการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการจัดการและดำเนินงานของการไฟฟ้านครหลวง
มาตรา ๓๐ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้ว่าการเป็นผู้กระทำการในนามของการไฟฟ้านครหลวง และเป็นผู้กระทำการแทนของการไฟฟ้านครหลวง และเพื่อการนี้ ผู้ว่าการจะมอบอำนาจให้ตัวแทนของการไฟฟ้านครหลวงที่ได้ตั้งขึ้นตามมาตรา ๙ หรือบุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้
ในกรณีที่มีข้อบังคับซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา ๒๓ วรรคท้าย กำหนดว่านิติกรรมใดผู้ว่าการจะทำได้ก็แต่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการก่อน บรรดานิติกรรมที่ผู้ว่าการทำขึ้นโดยมิได้รับความเห็นชอบดังกล่าว ย่อมไม่ผูกพันการไฟฟ้านครหลวง เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน
มาตรา ๓๑ ผู้ว่าการมีอำนาจ
(๑) แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนขั้น ลดขั้นเงินเดือน หรือตัดเงินเดือน และกำหนดเงื่อนไขในการทำงานของพนักงาน ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้ แต่ถ้าพนักงานเช่นว่านั้นเป็นพนักงานชั้นที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้อำนวยการฝ่ายต่าง ๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน และ
(๒) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของการไฟฟ้านครหลวง โดยไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้
มาตรา ๓๒ เมื่อผู้ว่าการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งขึ้นเป็นผู้ทำการแทนผู้ว่าการชั่วคราว และให้นำมาตรา ๒๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้ผู้ทำการแทนผู้ว่าการมีอำนาจและหน้าที่อย่างเดียวกับผู้ว่าการ เว้นแต่อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการในฐานะกรรมการของการไฟฟ้านครหลวง
มาตรา ๓๓ ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้ว่าการ และพนักงาน ของการไฟฟ้านครหลวงอาจได้รับโบนัสตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
หมวด ๓
การสร้าง และบำรุงรักษาซึ่งระบบการส่งพลังงานไฟฟ้า
มาตรา ๓๔ เพื่อประโยชน์ในการสร้างและบำรุงรักษาซึ่งระบบการส่งพลังงานไฟฟ้า เช่นสายส่งศักย์สูงย่อย หรือสายส่งศักย์ต่ำ เสา สับสเตชั่น และอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พนักงานมีอำนาจที่จะใช้สอยหรือเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในความครอบครองของบุคคลใด ๆ ซึ่งมิใช่เคหสถานของเอกชนเป็นการชั่วคราวภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
(๑) การใช้สอยนั้นเป็นการจำเป็นสำหรับการสำรวจระบบการส่งพลังงานไฟฟ้า และการป้องกันอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดแก่ระบบการส่งพลังงานไฟฟ้า และ
(๒) ได้แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทราบล่วงหน้าภายในเวลาอันสมควร
ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่เจ้าของ หรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ หรือผู้ทรงสิทธิอื่นเนื่องจากการกระทำของพนักงานดังกล่าวในวรรคหนึ่ง บุคคลเช่นว่านั้นย่อมเรียกค่าทดแทนจากการไฟฟ้านครหลวงได้ และถ้าไม่สามารถตกลงกันในจำนวนค่าทดแทน ให้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย โดยให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ
มาตรา ๓๕ ให้การไฟฟ้านครหลวงมีอำนาจเดินสายส่งศักย์สูงย่อยหรือสายส่งศักย์ต่ำไปใต้ เหนือ ตาม หรือข้ามพื้นดินของบุคคลใด ๆ หรือปัก หรือตั้งเสา สับสเตชั่นหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ลงในหรือบนพื้นดินของบุคคลใด ๆ ในเมื่อพื้นดินนั้นไม่ใช่พื้นดินอันเป็นที่ตั้งโรงเรือน
ในกรณีที่ต้องใช้ที่ดินตอนใดตอนหนึ่ง เพื่อกระทำการดังกล่าวในวรรคก่อน ให้การไฟฟ้านครหลวงจ่ายค่าตอบแทนในการใช้ที่ดินนั้นแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยจำนวนเงินอันเป็นธรรม เว้นแต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองเป็นผู้ได้รับประโยชน์คุ้มค่าในการกระทำนั้นอยู่ด้วย
ก่อนที่จะดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ให้การไฟฟ้านครหลวงแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องทราบ เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นอาจยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ไม่สมควรทำเช่นนั้นไปยังคณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
มาตรา ๓๕ ทวิ เมื่อการไฟฟ้านครหลวงมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เพื่อใช้ในระบบการส่งหรือการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า หรือตั้งสับสเตชั่นถ้ามิได้ตกลงในเรื่องการโอนเป็นอย่างอื่น ให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
มาตรา ๓๖ เพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัยในการส่งพลังงานไฟฟ้า ให้การไฟฟ้านครหลวงมีอำนาจตัดต้น กิ่ง หรือรากของต้นไม้ซึ่งอยู่ใกล้สายส่งศักย์สูงย่อยหรือสายส่งศักย์ต่ำ เสา สับสเตชั่น หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ แต่ต้องแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้นไม้ได้ทราบล่วงหน้าภายในเวลาอันสมควร
ในกรณีที่ต้นไม้นั้นมีอยู่ก่อนเวลาเดินสายส่งศักย์สูงย่อยหรือสายส่งศักย์ต่ำ หรือปัก ตั้งเสา สับสเตชั่น หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ให้การไฟฟ้านครหลวงใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในต้นไม้เท่าที่ต้องเสียหายเพราะการกระทำนั้น
มาตรา ๓๖ ทวิ เพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัยในการส่งพลังงานไฟฟ้าให้การไฟฟ้านครหลวงมีอำนาจทำการรื้อถอนเท่าที่จำเป็น ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) การรื้อถอนป้าย โครงสร้างสำหรับติดตั้งป้าย หรือสิ่งอำนวยความสะดวก หรือป้องกันอันตรายในการก่อสร้างที่ติดหรือตั้งยื่นล้ำเข้ามาอยู่ใกล้สายส่งศักย์สูงย่อย หรือสายส่งศักย์ต่ำ เสา หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ
(๒) การรื้อถอนป้าย โครงป้าย หรือสิ่งอื่นใดที่ปิดหุ้มคลุมทับสายส่งศักย์ต่ำหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ใต้หรือบนกันสาดอาคารชั้นล่างหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคาร
ทั้งนี้ โดยไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารทราบล่วงหน้าในเวลาอันสมควร
กรณีที่สิ่งใด ๆ ตามวรรคหนึ่งมีอยู่ก่อนเวลาเดินสายส่งศักย์สูงย่อย หรือสายส่งศักย์ต่ำ หรือปักตั้งเสา หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ให้การไฟฟ้านครหลวงใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียเท่าที่ต้องเสียหายเพราะการกระทำนั้น
มาตรา ๓๗ พนักงานอาจเข้าไปในสถานที่ของบุคคลใด ๆ เพื่อตรวจ ซ่อมแซม หรือแก้ไขระบบการส่งพลังงานไฟฟ้า ในกรณีจำเป็นเพื่อป้องกันภยันตรายเป็นการด่วนในเวลาหนึ่งเวลาใดก็ได้ เมื่อได้แจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทราบแล้ว
มาตรา ๓๘ ในการกระทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามความในมาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๖ ทวิ หรือมาตรา ๓๗ พนักงานจะต้องพยายามมิให้เกิดความเสียหาย แต่ถ้าเกิดความเสียหายขึ้น การไฟฟ้านครหลวงจะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายนั้น
มาตรา ๓๙ ผู้ใดขัดขวางการกระทำของการไฟฟ้านครหลวงหรือพนักงานตามความในมาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๖ ทวิ หรือมาตรา ๓๗ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมวด ๔
ความสัมพันธ์กับรัฐบาล
มาตรา ๔๐ ในการดำเนินกิจการของการไฟฟ้านครหลวงให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชนและความปลอดภัย
มาตรา ๔๑ การไฟฟ้านครหลวงต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะดำเนินการต่อไปนี้ได้
(๑) เพิ่มหรือลดทุน
(๒) กู้ยืมเงินเป็นจำนวนเกินคราวละสี่สิบล้านบาท
(๓) จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์อันมีราคาเกินสิบล้านบาท
(๔) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน
(๕) จัดตั้งบริษัทจำกัด
(๖) เข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่นหรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด
มาตรา ๔๒ ให้การไฟฟ้านครหลวงจัดทำงบประมาณประจำปี แยกเป็นงบลงทุนและงบทำการ สำหรับงบลงทุนให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ส่วนงบทำการให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
มาตรา ๔๓ รายได้ที่การไฟฟ้านครหลวงได้รับจากการดำเนินงานให้ตกเป็นของการไฟฟ้านครหลวงสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๓
รายได้ที่ได้รับในปีหนึ่ง ๆ เมื่อได้หักรายจ่ายดังกล่าวแล้วเหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ
แต่ถ้ารายได้มีจำนวนไม่พอสำหรับรายจ่ายดังกล่าว นอกจากเงินสำรองที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๓ และการไฟฟ้านครหลวงไม่สามารถหาเงินจากทางอื่น รัฐพึงจ่ายเงินให้แก่การไฟฟ้านครหลวงเท่าจำนวนที่ขาด
มาตรา ๔๔ ให้การไฟฟ้านครหลวงทำรายงานปีละครั้งเสนอรัฐมนตรี กล่าวถึงผลงานในปีที่ล่วงแล้วของการไฟฟ้านครหลวง และคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการ โครงการ และแผนงานที่จะจัดทำในภายหน้า
หมวด ๕
การร้องทุกข์และการสงเคราะห์
มาตรา ๔๕ ให้พนักงานมีสิทธิร้องทุกข์เกี่ยวกับการลงโทษได้ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้
มาตรา ๔๖ ให้การไฟฟ้านครหลวงจัดให้มีกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่น ๆ เพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานในการไฟฟ้านครหลวงและครอบครัวในกรณีพ้นจากตำแหน่ง ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย หรือกรณีอื่นอันควรแก่การสงเคราะห์
การจัดให้มีกองทุนดังกล่าวในวรรคก่อน การกำหนดประเภทของผู้ที่พึงได้รับการสงเคราะห์จากกองทุน และหลักเกณฑ์การสงเคราะห์ ตลอดจนการจัดการเกี่ยวกับกองทุน ให้เป็นไปตามข้อบังคับซึ่งคณะกรรมการวางไว้
ข้อบังคับดังกล่าวในวรรคก่อน ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด ๖
การบัญชี การสอบและการตรวจ
มาตรา ๔๗ ให้การไฟฟ้านครหลวงวางและรักษาไว้ซึ่งระบบการบัญชีอันถูกต้อง แยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีการสอบบัญชีภายในเป็นประจำ และมีสมุดบัญชีลงรายการ
(๑) การรับและจ่ายเงิน และ
(๒) สินทรัพย์และหนี้สิน
ซึ่งแสดงการงานที่เป็นอยู่ตามจริงและตามที่ควรตามประเภทงาน พร้อมด้วยข้อความอันเป็นเหตุที่มาของรายการนั้น ๆ
มาตรา ๔๘ ทุกปีให้คณะกรรมการตั้งผู้สอบบัญชีคนหนึ่งหรือหลายคนเพื่อสอบและรับรองบัญชีของการไฟฟ้านครหลวงเป็นปี ๆ ไป
ห้ามมิให้ตั้งประธานกรรมการ กรรมการ ผู้ว่าการ ผู้อื่นซึ่งเป็นผู้แทนของการไฟฟ้านครหลวง พนักงาน หรือผู้มีส่วนได้เสียในการงานที่การไฟฟ้านครหลวงจัดทำเป็นผู้สอบบัญชี
มาตรา ๔๙ ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานของการไฟฟ้านครหลวงในเวลาอันสมควรได้ทุกเมื่อ และเพื่อการสอบบัญชี ให้มีอำนาจไต่ถาม หรือสอบถามประธานกรรมการ กรรมการ ผู้ว่าการ ผู้อื่นซึ่งเป็นผู้แทนของการไฟฟ้านครหลวง หรือพนักงาน
มาตรา ๕๐ ผู้สอบบัญชีต้องทำรายงานว่าด้วยข้อความคำชี้แจงอันควรแก่การสอบบัญชีที่ได้รับ ตลอดจนความสมบูรณ์ของสมุดบัญชีที่การไฟฟ้านครหลวงรักษาอยู่ และต้องแถลงด้วยว่า
(๑) งบดุลและบัญชีซึ่งตรวจสอบนั้นถูกต้องตรงกับสมุดบัญชีเพียงไรหรือไม่ และ
(๒) งบดุลและบัญชีซึ่งตรวจสอบนั้นแสดงการงานของการไฟฟ้านครหลวงที่เป็นอยู่ตามจริงและตามที่ควร ตามข้อความคำชี้แจงและความรู้ของผู้สอบบัญชีเพียงไรหรือไม่
มาตรา ๕๑ ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจบัญชีของการไฟฟ้านครหลวง ในเมื่อรัฐมนตรีร้องขอ
มาตรา ๕๒ ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันหลังจากวันสิ้นปีบัญชีของการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้านครหลวงจะต้องโฆษณารายงานประจำปี แสดงบัญชีงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุน เพียงสิ้นปีบัญชีพร้อมกับรายงานของผู้สอบบัญชีที่คณะกรรมการตั้งขึ้นตามความในมาตรา ๔๘
บทเฉพาะกาล
มาตรา ๕๓ นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป ให้ข้าราชการและลูกจ้างของกองไฟฟ้าหลวง กรมโยธาเทศบาล ซึ่งต้องออกจากราชการเพราะการยุบเลิกกองไฟฟ้าหลวง กรมโยธาเทศบาล และลูกจ้างของการไฟฟ้ากรุงเทพ กระทรวงมหาดไทยมีฐานะเป็นพนักงาน โดยได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างรวมทั้งเงินเพิ่มเท่าที่ได้รับอยู่เดิมไปพลางก่อน และให้คณะกรรมการกำหนดอัตราเงินเดือนพนักงานดังกล่าว ซึ่งจำเป็นจะต้องบรรจุโดยให้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่น้อยกว่าที่ได้รับอยู่เดิม ทั้งนี้ให้เสร็จภายในหกสิบวัน
มาตรา ๕๔ การโอนโรงผลิตพลังงานไฟฟ้า สวิตช์ยาร์ด และอุปกรณ์ของสิ่งดังกล่าวตามมาตรา ๑๔ วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้ายันฮี พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกองไฟฟ้าหลวง กรมโยธาเทศบาล และการไฟฟ้ากรุงเทพ กระทรวงมหาดไทยนั้น ให้ตกมาเป็นหน้าที่ของการไฟฟ้านครหลวงที่จะดำเนินการโอนภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการไฟฟ้ายันฮี พ.ศ. ๒๕๐๐
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ถ. กิตติขจร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การดำเนินการไฟฟ้าในเขตจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีในปัจจุบันได้แยกดำเนินการเป็นสองแห่ง คือ กองไฟฟ้าหลวง กรมโยธาเทศบาลแห่งหนึ่ง และการไฟฟ้ากรุงเทพ กระทรวงมหาดไทยอีกแห่งหนึ่ง และเพื่อจะปรับปรุงการไฟฟ้าให้กว้างขวางและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนยิ่งขึ้น สมควรที่จะได้รวมการดำเนินการไฟฟ้าทั้งสองแห่งนี้มารวมเป็นการไฟฟ้านครหลวงเสียแห่งเดียว โดยตราเป็นพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๐
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. ๒๕๐๑ มีบทบัญญัติให้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย และให้นำกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวได้ยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยอนุญาโตตุลาการไปแล้ว สมควรแก้ไขพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. ๒๕๐๑ ให้สอดคล้องกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๕
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. ๒๕๐๑ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางมาตราที่ไม่เหมาะสมแก่การบริหารกิจการของการไฟฟ้านครหลวงให้เจริญก้าวหน้าและมีความคล่องตัวในการบริหารงาน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของการไฟฟ้านครหลวง รวมทั้งจำนวนกรรมการอำนาจหน้าที่และคุณสมบัติของคณะกรรมการและผู้ว่าการ และอัตราโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้