พระราชบัญญัติ
บัตรประจำตัวประชาชน
พ.ศ. ๒๕๒๖
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๖
เป็นปีที่ ๓๘ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชน
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“บัตร” หมายความว่า บัตรประจำตัวประชาชน
“ผู้ถือบัตร” หมายความว่า ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัตร
“ทะเบียนบ้าน” หมายความว่า ทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
“เจ้าพนักงานออกบัตร” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“เจ้าพนักงานตรวจบัตร” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีบริบูรณ์แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ และมีชื่อในทะเบียนบ้านต้องมีบัตรตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีบัตรตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ผู้ซึ่งได้รับการยกเว้นตามกฎกระทรวงตามวรรคสอง ซึ่งมีบัตรประจำตัวตามกฎหมายอื่นให้ใช้บัตรประจำตัวนั้นแทนได้
ผู้ซึ่งมีอายุเกินเจ็ดสิบปีและผู้ซึ่งได้รับการยกเว้นตามกฎกระทรวงตามวรรคสองจะขอมีบัตรก็ได้
มาตรา ๖ ผู้ซึ่งต้องมีบัตรตามมาตรา ๕ ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่
(๑) วันที่อายุครบสิบห้าปีบริบูรณ์
(๒) วันที่ได้สัญชาติไทยหรือได้กลับคืนสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติหรือวันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ได้สัญชาติไทย
(๓) วันที่นายทะเบียนเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
(๔) วันที่พ้นสภาพจากการได้รับการยกเว้น
มาตรา ๖ ทวิ บัตรมีอายุใช้ได้หกปี
การนับอายุบัตรตามวรรคหนึ่งให้นับตั้งแต่วันออกบัตรไปจนครบหกปีบริบูรณ์ แต่หากวันที่บัตรมีอายุหกปีบริบูรณ์ไม่ตรงกับวันครบรอบวันเกิดของผู้ถือบัตร ให้นับระยะเวลาต่อไปจนถึงวันครบรอบวันเกิดของผู้ถือบัตรในปีนั้นหรือปีถัดไป แล้วแต่กรณี เป็นวันบัตรหมดอายุ
บัตรที่ยังไม่หมดอายุในวันที่ผู้ถือบัตรมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ให้ใช้ต่อไปได้ตลอดชีวิต
มาตรา ๖ ตรี เมื่อบัตรหมดอายุ ผู้ถือบัตรต้องมีบัตรใหม่ โดยยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่บัตรเดิมหมดอายุ
ผู้ถือบัตรจะขอมีบัตรใหม่ก่อนวันที่บัตรเดิมหมดอายุก็ได้ โดยยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในหกสิบวันก่อนวันที่บัตรเดิมหมดอายุ
มาตรา ๖ จัตวา ผู้ถือบัตรต้องมีบัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตร แล้วแต่กรณี โดยยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่
(๑) วันที่บัตรหายหรือถูกทำลาย
(๒) วันที่บัตรชำรุดในสาระสำคัญ
(๓) วันที่แก้ไขชื่อตัว ชื่อสกุล หรือชื่อตัวและชื่อสกุลในทะเบียนบ้าน
ผู้ถือบัตรผู้ใดย้ายที่อยู่จะขอเปลี่ยนบัตรก็ได้
มาตรา ๖ เบญจ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องขยายกำหนดเวลาตามมาตรา ๖ มาตรา ๖ ตรี หรือมาตรา ๖ จัตวา ในท้องที่ใด รัฐมนตรีอาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาขยายกำหนดเวลาได้เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๗ ขนาด สี และลักษณะของบัตร ตลอดจนรายการในบัตร และรายละเอียดของรายการในบัตร ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ในบัตรอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อตัว ชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน รูปถ่ายและเลขประจำตัวของผู้ถือบัตร และจะมีรายการศาสนา หรือนิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนาซึ่งผู้ถือบัตรนับถืออยู่ด้วยหรือไม่ก็ได้
(๒) ลายมือชื่อหรือตราลายมือชื่อ และตราประจำตำแหน่งของเจ้าพนักงานออกบัตร และวันออกบัตร
มาตรา ๘ การขอมีบัตร การขอบัตรใหม่ การขอเปลี่ยนบัตรการออกบัตร การออกใบรับ และการออกใบแทนใบรับ ให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการ ที่กำหนดในกฎกระทรวง
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำขอ และเห็นว่าคำขอนั้นมีรายการถูกต้องครบถ้วนและผู้ขอได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ถ่ายรูปผู้ขอและออกใบรับให้แก่ผู้ขอ
ในกรณีใบรับหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญให้ออกใบแทนใบรับให้แก่ผู้ขอ
ใบรับหรือใบแทนใบรับให้ใช้ได้เสมือนบัตร ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบรับ ในการใช้ใบรับหรือใบแทนใบรับ ให้ใช้ร่วมกันกับบัตรเดิม เว้นแต่ในกรณีขอมีบัตรเป็นครั้งแรก บัตรหายหรือถูกทำลายทั้งหมด
มาตรา ๙ ผู้ถือบัตรผู้ใดเสียสัญชาติไทยเมื่อใด ไม่ว่าด้วยเหตุใดผู้นั้นหมดสิทธิที่จะใช้บัตรนั้นทันที และต้องส่งมอบบัตรนั้นให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่แห่งท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เสียสัญชาติไทย
มาตรา ๑๐ ผู้มีส่วนได้เสียจะขอตรวจหลักฐานหรือคัดสำเนารายการเกี่ยวกับบัตรได้ที่สำนักงานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ที่ว่าการอำเภอหรือเขต หรือที่ว่าการกิ่งอำเภอ ในเวลาราชการก็ได้ และจะขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่คัดและรับรองสำเนาด้วยก็ได้
มาตรา ๑๑ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการขอมีบัตรตามมาตรา ๖ ผู้ซึ่งต้องมีบัตรตามมาตรา ๕ ผู้ใดไม่มีบัตร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการขอมีบัตรใหม่ตามมาตรา ๖ ตรี วรรคหนึ่ง หรือการขอมีบัตรใหม่ หรือขอเปลี่ยนบัตรตามมาตรา ๖ จัตวา วรรคหนึ่ง ผู้ถือบัตรผู้ใดไม่มีบัตรใหม่ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท
มาตรา ๑๒ (ยกเลิก)
มาตรา ๑๓ ผู้ถือบัตรซึ่งเสียสัญชาติไทยผู้ใด
(๑) ไม่ส่งมอบบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับตามมาตรา ๙ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๒) ใช้หรือแสดงบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับ ซึ่งตนหมดสิทธิใช้ตามมาตรา ๙ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
มาตรา ๑๔ ผู้ใด
(๑) แจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตรตามมาตรา ๕ วรรคสี่ หรือมาตรา ๖ หรือการขอมีบัตรใหม่ตามมาตรา ๖ ตรี หรือการขอมีบัตรใหม่หรือขอเปลี่ยนบัตรตามมาตรา ๖ จัตวา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๒) ปลอมบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีหรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๓) ใช้หรือแสดงบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับ อันเกิดจากการกระทำความผิดตาม (๑) หรือ (๒) ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
ถ้าผู้กระทำความผิดตาม (๓) เป็นผู้กระทำความผิดตาม (๑) หรือ (๒) ด้วย ให้ลงโทษตาม (๓) แต่กระทงเดียว
ถ้าผู้กระทำความผิดหรือผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม (๑) หรือ (๒) หรือ (๓) เป็นเจ้าพนักงาน ไม่ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
ถ้าผู้กระทำความผิดหรือผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม (๑) หรือ (๒) หรือ (๓) เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสามแสนบาท
มาตรา ๑๕ ผู้ใดนำบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับของผู้อื่นไปใช้แสดงว่าตนเป็นเจ้าของบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๑๕ ทวิ ผู้ใดเอาไปเสียหรือยึดไว้ซึ่งบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับของผู้อื่น เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
มาตรา ๑๖ ผู้ใดยินยอมให้ผู้อื่นนำบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับของตนไปใช้ในทางทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๗ ผู้ถือบัตรผู้ใดไม่อาจแสดงบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับ เมื่อเจ้าพนักงานตรวจบัตรขอตรวจ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท
มาตรา ๑๘ บรรดาคำขอที่ยื่นตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือเป็นคำขอที่ได้ยื่นตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๙ บรรดาบัตรและใบรับที่ออกตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕ ให้ถือว่าเป็นบัตรหรือใบรับที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ สำหรับบัตรที่หมดอายุแล้วให้ยังคงใช้ได้ต่อไปจนถึงวันครบรอบวันเกิดของผู้ถือบัตร และให้ผู้ถือบัตรขอมีบัตรตามพระราชบัญญัตินี้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันครบรอบวันเกิด และให้นำมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับ
มาตรา ๒๐ ให้บรรดากฎกระทรวงและประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยังคงใช้ได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะได้มีกฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๒๑ ผู้ใดมีอายุครบสิบห้าปีบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเป็นบุคคลซึ่งต้องขอมีบัตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕ ให้ยื่นคำขอมีบัตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
การกำหนดตามวรรคหนึ่งรัฐมนตรีจะกำหนดโดยคำนึงถึงอายุของผู้ขอจากมากไปหาน้อย และท้องที่ที่จะให้บุคคลมายื่นคำขอด้วยก็ได้
มาตรา ๒๒ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งมีโทษปรับสถานเดียว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๒๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานออกบัตร เจ้าพนักงานตรวจบัตร และพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียมและกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ป. ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี
อัตราค่าธรรมเนียม
(๑) การออกบัตรตามมาตรา ๕ วรรคสี่ ฉบับละ ๒๐ บาท
(๒) การออกบัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตร
ตามมาตรา ๖ จัตวา ฉบับละ ๒๐ บาท
(๓) การออกใบแทนใบรับ ฉบับละ ๒๐ บาท
(๔) การขอตรวจหลักฐานหรือคัดสำเนาหรือคัดและ
รับรองสำเนารายการเกี่ยวกับบัตร ฉบับละ ๒๐ บาท
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชน ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว และมีบทบัญญัติ ต่าง ๆ ที่ไม่ทันสมัยและไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อกำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทยต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนไว้ใช้แสดงตนเพื่อประโยชน์ของผู้ถือบัตรและทางราชการ โดยกำหนดระยะเวลาการขอมีบัตร ขอมีบัตรใหม่หรือขอเปลี่ยนบัตรภายในกำหนดหกสิบวันในทุกกรณี เพื่อให้ประชาชนมีบัตรเร็วขึ้นและเกิดความสะดวกในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ นอกจากนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษในความผิดที่เกี่ยวกับบัตรให้สูงขึ้น เพราะในสภาวการณ์ปัจจุบันความผิดที่เกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชนมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในของประเทศ และแก้ไขเพิ่มเติมรายการของอัตราค่าธรรมเนียมเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติต่าง ๆ ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้