Home พระราชบัญญัติ ต่าง พรบ.โรงรับจำนำ พ.ศ.2505

พรบ.โรงรับจำนำ พ.ศ.2505

อีเมล พิมพ์ PDF

พระราชบัญญัติ

โรงรับจำนำ

พ.ศ. ๒๕๐๕

 

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕

เป็นปีที่ ๑๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำ

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภาดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. ๒๕๐๕”

 

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน

ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พุทธศักราช ๒๔๘๐ และพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๔

 

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

“โรงรับจำนำ” หมายความว่า สถานที่รับจำนำซึ่งประกอบการรับจำนำสิ่งของเป็นประกันหนี้เงินกู้เป็นปกติธุระแต่ละรายมีจำนวนเงินไม่เกินหนึ่งแสนบาท และหมายความรวมตลอดถึงการรับหรือซื้อสิ่งของโดยจ่ายเงินให้สำหรับสิ่งของนั้นเป็นปกติธุระ แต่ละรายมีจำนวนเงินไม่เกินหนึ่งแสนบาท โดยมีข้อตกลงหรือเข้าใจกันโดยตรงหรือโดยปริยายว่าจะได้ไถ่คืนในภายหลังด้วย

“ผู้รับจำนำ” หมายความว่า ผู้รับใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำ

“ทรัพย์จำนำ” หมายความว่า สิ่งของที่รับจำนำ

“เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต” หมายความว่า เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ออกใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำ และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕ ให้มีคณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำ ประกอบด้วยปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมตำรวจ อธิบดีกรมอัยการ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ เป็นกรรมการ และหัวหน้ากองทะเบียนกรมตำรวจ เป็นกรรมการและเลขานุการ

 

มาตรา ๖ คณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดท้องที่ที่จะอนุญาตให้ตั้งโรงรับจำนำ

(๒) กำหนดจำนวนโรงรับจำนำในท้องที่ที่เห็นสมควร

(๓) พิจารณาคำขออนุญาตตั้งโรงรับจำนำหรือคำขอย้ายสถานที่ตั้งโรงรับจำนำ

(๔) ดำเนินการอย่างอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

การกำหนดตาม (๑) และ (๒) ให้ประกาศ ณ ศาลากลางจังหวัดท้องที่

 

มาตรา ๗ การประชุมคณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม ถ้าในการประชุมคราวใด ประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก

กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

 

มาตรา ๘ ห้ามมิให้ผู้ใดตั้งโรงรับจำนำ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำ

การขออนุญาตตั้งโรงรับจำนำและการอนุญาตให้ตั้งโรงรับจำนำให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในท้องที่ใดมีการกำหนดจำนวนโรงรับจำนำ การขออนุญาตตั้งโรงรับจำนำ ให้กระทำโดยการว่าประมูลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

ความในวรรคสามไม่ใช้บังคับแก่การขออนุญาตตั้งโรงรับจำนำของเทศบาลหรือของทางราชการ

 

มาตรา ๙ ผู้ขออนุญาตตั้งโรงรับจำนำต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี

(๒) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี

(๓) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(๔) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

(๕) ไม่เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

(๖) ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำ

(๗) ไม่มีพฤติการณ์อันจะก่อกวนทำลายการเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ

ในกรณีผู้ขออนุญาตตั้งโรงรับจำนำเป็นนิติบุคคล กรรมการและผู้จัดการของนิติบุคคลนั้นต้องมีคุณสมบัติตามมาตรานี้ด้วย

 

มาตรา ๑๐ เมื่อคณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำได้พิจารณาเห็นสมควรให้ผู้ขออนุญาตตั้งโรงรับจำนำผู้ใดตั้งโรงรับจำนำจะโดยการว่าประมูลหรือไม่ก็ตาม ให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ออกใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำให้แก่ผู้นั้น

ในกรณีคณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำไม่อนุญาตให้ผู้ขออนุญาตตั้งโรงรับจำนำตั้งโรงรับจำนำ ผู้ขออนุญาตตั้งโรงรับจำนำมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีโดยยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตภายในสามสิบวัน นับแต่วันได้รับแจ้งการไม่อนุญาต คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

 

มาตรา ๑๑ ใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำให้ใช้ได้ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ของปีที่ออกใบอนุญาต

 

มาตรา ๑๒ ผู้รับจำนำต้องจัดให้มีป้ายคำว่า “โรงรับจำนำ” ตามลักษณะที่เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตกำหนด แสดงไว้ในที่เปิดเผยหน้าโรงรับจำนำ

ในกรณีเทศบาลหรือทางราชการตั้งโรงรับจำนำ เทศบาลหรือทางราชการอาจใช้คำอื่นแทนคำว่า “โรงรับจำนำ” ก็ได้ แต่ต้องเป็นคำที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำให้ใช้ได้

 

มาตรา ๑๓ ผู้รับจำนำต้องจัดให้มีที่เก็บทรัพย์จำนำอันมีค่าไว้โดยปลอดภัยในโรงรับจำนำตามที่คณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำกำหนด

 

มาตรา ๑๔ ห้ามมิให้ผู้รับจำนำย้ายสถานที่ตั้งโรงรับจำนำเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำ การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๑๕ ในกรณีผู้รับจำนำเป็นนิติบุคคล เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการหรือผู้จัดการ ผู้รับจำนำต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง

 

มาตรา ๑๖ ผู้รับจำนำต้องจัดให้มีป้ายอัตราดอกเบี้ยเป็นภาษาไทยตามลักษณะที่เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตกำหนด แสดงไว้ในที่เปิดเผยภายในโรงรับจำนำ

 

มาตรา ๑๗ ห้ามมิให้ผู้รับจำนำเรียกหรือรับดอกเบี้ยเกินอัตรา ดังต่อไปนี้

(๑) เงินต้นไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๒ ต่อเดือน

(๒) เงินต้นส่วนที่เกิน ๒,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๑.๒๕ ต่อเดือน

การคิดดอกเบี้ยสำหรับกรณีที่ไม่ครบเดือน ถ้าไม่เกินสิบห้าวัน ให้คิดเป็นครึ่งเดือน ถ้าเกินสิบห้าวัน ให้คิดเป็นหนึ่งเดือน เศษของหนึ่งสตางค์ให้ปัดทิ้ง

ในกรณีผู้รับจำนำได้รับเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดเนื่องจากการรับจำนำนอกจากดอกเบี้ย ให้ถือว่าเงินหรือทรัพย์สินนั้นเป็นดอกเบี้ยด้วย

 

มาตรา ๑๘ ห้ามมิให้ผู้รับจำนำกระทำการ ดังต่อไปนี้

(๑) รับจำนำหรือให้ไถ่ทรัพย์จำนำในระหว่างเวลาตั้งแต่ ๑๘ นาฬิกา ถึง ๘ นาฬิกา

(๒) รับจำนำสิ่งของจากภิกษุสามเณรหรือเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปี

(๓) รับจำนำสิ่งของที่เห็นได้ว่าเป็นของที่ใช้ในราชการหรือสิ่งของที่ได้รับแจ้งตามมาตรา ๒๑

(๔) นำทรัพย์จำนำออกนอกโรงรับจำนำ เว้นแต่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ หรือโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต หรือเพื่อให้พ้นภยันตรายอันร้ายแรงที่ผู้รับจำนำจะป้องกันด้วยวิธีอื่นไม่ได้

(๕) ประกอบธุรกิจซึ่งไม่เกี่ยวกับการรับจำนำหรือการขายทรัพย์จำนำที่หลุดเป็นสิทธิแล้วในบริเวณโรงรับจำนำ

 

มาตรา ๑๘ ทวิ ในการรับจำนำ ให้ผู้รับจำนำจดแจ้งรายการเกี่ยวกับบัตรประชาชนของผู้จำนำไว้ให้ชัดแจ้งในต้นขั้วของตั๋วรับจำนำด้วย

ในกรณีที่ผู้จำนำไม่ต้องมีบัตรประชาชนตามกฎหมาย ให้จดแจ้งรายการเกี่ยวกับเอกสารแสดงชื่อที่อยู่ของผู้จำนำแทนบัตรประชาชน

 

มาตรา ๑๙ ในกรณีมีเหตุควรสงสัยว่าสิ่งของที่มีผู้นำมาจำนำเป็นสิ่งของที่มีผู้ได้มาโดยการกระทำความผิด ให้ผู้รับจำนำแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจท้องที่ทันที

 

มาตรา ๒๐ เมื่อมีการรับจำนำ ให้ผู้รับจำนำออกตั๋วรับจำนำให้แก่ผู้จำนำ และติดเลขหมายที่ทรัพย์จำนำให้ตรงกับเลขหมายตั๋วรับจำนำ

ตั๋วรับจำนำให้ทำตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

การออกตั๋วรับจำนำให้ทำตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๒๑  เมื่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ออกประกาศตำหนิรูปพรรณของหาย ได้แจ้งเรื่องของหายต่อผู้รับจำนำ ผู้รับจำนำมีหน้าที่ตรวจทรัพย์จำนำหรือสิ่งของที่จะรับจำนำ ถ้าปรากฏว่ามีตำหนิรูปพรรณตรงหรือคล้ายกับตำหนิรูปพรรณของหาย ให้ผู้รับจำนำส่งมอบต่อเจ้าพนักงานผู้ซึ่งแจ้งเรื่องของหายนั้นโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่มีการรับจำนำไว้แล้วให้ส่งสำเนาตั๋วรับจำนำไปด้วย

 

มาตรา ๒๒ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๓ ผู้รับจำนำต้องให้ไถ่ทรัพย์จำนำเมื่อมีผู้จำนำนำตั๋วรับจำนำมาขอไถ่ ให้ผู้รับจำนำจดแจ้งรายการตามมาตรา ๑๘ ทวิ และเมื่อให้ไถ่แล้ว ให้นำตั๋วรับจำนำติดไว้ที่ต้นขั้วตั๋วรับจำนำและบันทึกวันเดือนปีที่ไถ่ไว้ในต้นขั้วตั๋วรับจำนำนั้น และจัดให้ผู้ไถ่ทรัพย์คืนลงลายมือชื่อในต้นขั้วตั๋วรับจำนำด้วย

 

มาตรา ๒๓ ผู้รับจำนำต้องไม่ยอมให้ไถ่ทรัพย์จำนำเมื่อมีกรณี ดังต่อไปนี้

(๑) ผู้รับจำนำได้รับแจ้งจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจว่า ทรัพย์จำนำหรือตั๋วรับจำนำเป็นของได้มาโดยการกระทำความผิด หรือ

(๒) ผู้รับจำนำมีเหตุควรสงสัยว่าทรัพย์จำนำหรือตั๋วรับจำนำเป็นของได้มาโดยการกระทำความผิด

เมื่อผู้รับจำนำไม่ยอมให้ไถ่ทรัพย์จำนำ ผู้รับจำนำต้องแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจท้องที่ทันที และต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตโดยไม่ชักช้า

 

มาตรา ๒๔ ผู้รับจำนำต้องคืนทรัพย์จำนำให้แก่เจ้าของโดยจะเรียกให้เจ้าของชำระหนี้ที่เกิดจากการรับจำนำทรัพย์นั้นมิได้ ในกรณีต่อไปนี้

(๑) ได้รับจำนำสิ่งของที่เห็นได้ว่าเป็นของที่ใช้ในราชการ

(๒) ได้รับจำนำทรัพย์หรือสิ่งของที่ได้รับแจ้งตามมาตรา ๒๑

(๓) ได้รับจำนำทรัพย์ไว้โดยรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าทรัพย์จำนำนั้นได้มาโดยการกระทำความผิด

(๔) ได้รับจำนำทรัพย์ไว้โดยมิได้จดแจ้งรายการตามมาตรา ๑๘ ทวิ

ความในวรรคหนึ่งไม่ตัดสิทธิของผู้รับจำนำที่จะเรียกชำระหนี้ที่เกิดจากการรับจำนำเอาจากผู้จำนำ

 

มาตรา ๒๕ ให้ผู้รับจำนำทำบัญชีทรัพย์จำนำที่ผู้จำนำขาดส่งดอกเบี้ยเป็นเวลากว่าสี่เดือนยื่นต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต และปิดประกาศบัญชีนั้นไว้ ณ ที่เปิดเผย ที่โรงรับจำนำนั้นตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

เมื่อผู้รับจำนำได้ปฏิบัติการถูกต้องครบถ้วนตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้บรรดาทรัพย์จำนำที่ปรากฏตามบัญชีที่ผู้รับจำนำทำขึ้นและประกาศไว้ ซึ่งเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตมิได้สั่งอายัดไว้ หรือผู้รับจำนำมิได้ขอไถ่ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันประกาศ หลุดเป็นสิทธิแก่ผู้รับจำนำ

 

มาตรา ๒๖ เมื่อทรัพย์จำนำหลุดเป็นสิทธิแล้ว ให้ผู้รับจำนำบันทึกวันเดือนปีที่หลุดเป็นสิทธิไว้ในต้นขั้วตั๋วรับจำนำ และถ้าผู้รับจำนำได้จำหน่ายหรือเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์จำนำที่หลุดเป็นสิทธิแล้ว ก็ให้บันทึกวันเดือนปีที่ได้จำหน่ายหรือเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์จำนำนั้นไว้ในต้นขั้วตั๋วรับจำนำด้วย

 

มาตรา ๒๗ ให้ผู้รับจำนำทำบัญชีงบเดือนยื่นต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ภายในระยะเวลาไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นเดือนปฏิทิน

 

มาตรา ๒๘ เจ้าพนักงานตรวจโรงรับจำนำซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง มีอำนาจเข้าไปในโรงรับจำนำเพื่อตรวจทรัพย์จำนำและเอกสารที่เกี่ยวกับการรับจำนำ และผู้รับจำนำต้องให้ความสะดวกตามสมควร

เจ้าพนักงานตรวจโรงรับจำนำต้องมีบัตรประจำตัวตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง และต้องแสดงบัตรประจำตัวเมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องร้องขอ

 

มาตรา ๒๙ คณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำมีกำหนดไม่เกินสามเดือน หรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำเมื่อปรากฏว่า

(๑) ผู้รับจำนำหรือกรรมการ ผู้จัดการหรือพนักงานของผู้รับจำนำฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ หรือ

(๒) ผู้รับจำนำหรือกรรมการหรือผู้จัดการของผู้รับจำนำซึ่งเป็นนิติบุคคลขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๙

ในกรณีสั่งพักใช้ใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำหรือเพิกถอนใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำ เมื่อคณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำเห็นสมควร จะมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตเข้าควบคุมโรงรับจำนำที่ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำหรือถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำนั้นด้วยก็ได้

 

มาตรา ๓๐ ผู้รับจำนำมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำหรือคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำที่คณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำได้สั่งตามมาตรา ๒๙ ต่อรัฐมนตรีได้ โดยยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง

คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

 

มาตรา ๓๑ ผู้รับจำนำจะรับจำนำในระหว่างเวลาพักใช้ใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำ หรือภายหลังเวลาที่ได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำไม่ได้ แต่ผู้นั้นยังคงมีหน้าที่ต่อผู้จำนำและต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้และกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ถือว่าผู้นั้นยังเป็นผู้รับจำนำตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้เท่าที่เกี่ยวกับการรับจำนำที่ได้กระทำไว้ก่อนแล้ว

 

มาตรา ๓๒ ผู้รับจำนำผู้ใดประสงค์จะเลิกกิจการรับจำนำก็ให้กระทำได้ แต่จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตทราบก่อนเลิกกิจการโรงรับจำนำไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

ผู้ซึ่งเลิกกิจการรับจำนำจะรับจำนำภายหลังที่เลิกกิจการรับจำนำแล้วไม่ได้ แต่ผู้นั้นยังคงมีหน้าที่ต่อผู้จำนำและต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้และกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ถือว่าผู้นั้นยังเป็นผู้รับจำนำตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้เท่าที่เกี่ยวกับการรับจำนำที่ได้กระทำไว้ก่อนแล้ว

 

มาตรา ๓๓ ผู้รับจำนำผู้ใดต้องเลิกกิจการรับจำนำเพราะใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำสิ้นอายุและไม่ได้รับใบอนุญาตให้ตั้งโรงรับจำนำใหม่ ผู้นั้นยังคงมีหน้าที่ต่อผู้จำนำและต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้และกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ถือว่าผู้นั้นยังเป็นผู้รับจำนำตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้เท่าที่เกี่ยวกับการรับจำนำที่ได้กระทำไว้ก่อนแล้ว

 

มาตรา ๓๔ ในกรณีตามมาตรา ๓๒ และมาตรา ๓๓ เมื่อคณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำเห็นสมควรจะมีคำสั่งให้ควบคุมโรงรับจำนำนั้นๆ ก็ได้

 

มาตรา ๓๕ ในกรณีผู้รับจำนำตาย ทายาทของผู้รับจำนำที่ตายอาจยื่นคำขอเข้าเป็นผู้รับจำนำแทนผู้รับจำนำที่ตาย ถ้าคณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำเห็นว่าทายาทผู้นั้นเป็นผู้สมควรและมีคุณสมบัติตามมาตรา ๙ คณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำจะออกหนังสืออนุญาตให้ทายาทผู้นั้นเป็นผู้รับจำนำแทนผู้รับจำนำที่ตายก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่าทายาทผู้นั้นเป็นผู้รับจำนำตามใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำที่ได้ออกให้แก่ผู้ตายนั้น

 

มาตรา ๓๖ ในกรณีไม่มีผู้ขอเป็นผู้รับจำนำแทนผู้รับจำนำที่ตายจนล่วงเลยกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้รับจำนำตาย หรือมีผู้ขอเป็นผู้รับจำนำแทน แต่ไม่ได้รับอนุญาต หรือมีทายาทอื่นคัดค้านและไม่อาจตกลงกันได้ ให้เลิกกิจการโรงรับจำนำ และให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตเข้าควบคุมโรงรับจำนำ

 

มาตรา ๓๗ เมื่อได้มีคำสั่งคณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำให้ควบคุมโรงรับจำนำใด ให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้รับจำนำแห่งโรงรับจำนำนั้นทราบและเข้าควบคุมโรงรับจำนำนั้นทันที การควบคุมจะกระทำโดยเข้าดำเนินกิจการโรงรับจำนำนั้นเสียเองแทนผู้รับจำนำ หรือจะเข้าตรวจตราดูแลให้ผู้รับจำนำดำเนินกิจการโรงรับจำนำให้ถูกต้องเรียบร้อยก็ได้

การควบคุมโรงรับจำนำจะกระทำโดยกำหนดระยะเวลาควบคุมหรือไม่ก็ได้ และเมื่อได้เข้าควบคุมแล้ว จะเลิกการควบคุมเมื่อใดก็ได้ ทั้งนี้ตามที่คณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำจะเห็นสมควร

เมื่อได้มีคำสั่งคณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำให้เลิกควบคุมโรงรับจำนำ ให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้รับจำนำทราบและเลิกการควบคุมตามคำสั่งนั้น

 

มาตรา ๓๘ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำและเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตมีอำนาจสั่งให้ผู้รับจำนำหรือกรรมการ ผู้จัดการ และพนักงานของผู้รับจำนำซึ่งเป็นนิติบุคคลมาให้ถ้อยคำหรือแสดงสมุดบัญชีเอกสาร และสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับกิจการโรงรับจำนำ

 

มาตรา ๓๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๓๑ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

 

มาตรา ๔๐ ผู้รับจำนำผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๗ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

 

มาตรา ๔๑ ผู้รับจำนำผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ มาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ หรือฝ่าฝืนกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

 

มาตรา ๔๒ ในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติว่า การกระทำใดของผู้รับจำนำเป็นความผิด ถ้ากรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงานของผู้รับจำนำเป็นผู้กระทำหรือร่วมกระทำด้วย ผู้นั้นต้องระวางโทษเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้สำหรับผู้รับจำนำ

 

มาตรา ๔๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต เจ้าพนักงานตรวจโรงรับจำนำ และออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ส. ธนะรัชต์

นายกรัฐมนตรี

 

 

อัตราค่าธรรมเนียม

 

 

(๑) ใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำ

ในจังหวัดพระนครและ

จังหวัดธนบุรี                                 ฉบับละ          ๒๐,๐๐๐     บาท

(๒) ใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำ

ในจังหวัดอื่นนอกจาก

จังหวัดพระนครและ

จังหวัดธนบุรี                                 ฉบับละ          ๑๐,๐๐๐     บาท

(๓) ใบแทนใบอนุญาต                      ฉบับละ                 ๕๐     บาท

 

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พุทธศักราช ๒๔๘๐ ได้ออกใช้เป็นเวลานานมาแล้ว การกำหนดจำนวนเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย การอนุญาต คุณสมบัติของผู้รับอนุญาต และบทกำหนดโทษยังไม่เหมาะสมแก่กาลสมัยในขณะนี้ จึงสมควรปรับปรุงแก้ไขให้เป็นการเหมาะสม

 

พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๗

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. ๒๕๐๕ มีบทบัญญัติที่ไม่รัดกุม ทำให้โรงรับจำนำมีช่องทางหาประโยชน์โดยไม่ชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อบกพร่องของบทบัญญัติที่ไม่บังคับให้โรงรับจำนำลงรายการหลักฐานเกี่ยวกับตัวผู้มาจำนำประกอบกับบทบัญญัติที่คุ้มครองโรงรับจำนำให้มีสิทธิเรียกค่าไถ่คืนทรัพย์จำนำจากเจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงได้ในเมื่อต่อมาปรากฏว่าเป็นทรัพย์ที่ผู้จำนำได้มาโดยการกระทำความผิด

กรณีปรากฏบ่อยครั้งว่า โรงรับจำนำได้ร่วมมือกับผู้จำนำที่ได้ทรัพย์มาโดยทุจริตโดยรับจำนำทรัพย์นั้นไว้โดยไม่ลงรายการหลักฐานเกี่ยวกับตัวผู้มาจำนำให้ตรงตามความเป็นจริงและให้มีรายละเอียดพอสมควร และนอกจากนั้นในบางครั้งก็ปรากฏว่าโรงรับจำนำลงจำนวนเงินรับจำนำในตั๋วรับจำนำไว้สูงเกินกว่าความจริงด้วยเจตนาที่จะแสวงหาผลกำไรโดยไม่สุจริต เช่น ได้รับดอกเบี้ยจากจำนวนเงินต้นที่สูงกว่าความจริง หรือเพื่อให้ทรัพย์ที่จำนำนั้นหลุดเป็นสิทธิของตน นอกจากนั้นเมื่อมีเจ้าของที่แท้จริงมาขอไถ่ทรัพย์จำนำคืน โรงรับจำนำก็จะเรียกร้องค่าไถ่ทรัพย์นั้นได้ตามราคาที่ปรากฏในตั๋วรับจำนำ โดยที่เจ้าของที่แท้จริงไม่มีหนทางที่จะติดตามเรียกร้องเอาจากผู้ที่ได้ทรัพย์จำนำนั้นมาโดยทุจริตได้

ต่างประเทศเป็นจำนวนมากได้ออกใบอนุญาตการดำเนินกิจการโรงรับจำนำให้แต่เฉพาะองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่เนื่องจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของเรายังไม่พร้อมที่จะดำเนินการเช่นนี้ จึงสมควรแก้ไขพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. ๒๕๐๕ ให้รัดกุมยิ่งขึ้นไปพลางก่อน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น

 

พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๖

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยภาวะในทางเศรษฐกิจและการเงินในปัจจุบัน ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอันมาก ทำให้การครองชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนต้องตกอยู่ในภาวะแร้นแค้นและขาดแคลนโดยทั่วๆ ไป โรงรับจำนำเป็นสถาบันการเงินที่ได้ช่วยอนุเคราะห์แก่ความเป็นอยู่ของประชาชนผู้เดือดร้อนต่อการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากปัญหาการครองชีพและความจำเป็นนานาประการอันอาจเกิดมีขึ้นได้ในหลายๆ กรณี ทำให้ผู้จำนำพลั้งเผลอหลงลืมหรือติดขัดเพราะความจำเป็น เป็นเหตุให้ขาดส่งดอกเบี้ยได้โดยง่าย และอาจล่วงเลยพ้นกำหนดตามที่ได้กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติและสิ่งของต้องหลุดเป็นสิทธิแก่โรงจำนำ ทำให้ต้องสูญเสียสิ่งของเป็นการเพิ่มความเดือดร้อนแก่ผู้มีฐานะลำบากยากจนยิ่งขึ้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวควรได้ให้โอกาสและเวลาแก่เจ้าของทรัพย์ให้มากขึ้นกว่าเดิม และทั้งเพื่อให้โรงรับจำนำได้มีส่วนช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวด้วยความเป็นอยู่ของประชาชนร่วมกับรัฐบาลให้บังเกิดผลตามวัตถุประสงค์ของการตั้งโรงรับจำนำ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทนิยามของคำว่า “โรงรับจำนำ” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. ๒๕๐๕ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้กำหนดวงเงินให้โรงรับจำนำรับจำนำสิ่งของเป็นประกันหนี้เงินกู้เป็นปกติธุระแต่ละรายมีจำนวนเงินไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทและรับหรือซื้อสิ่งของโดยจ่ายเงินให้สำหรับสิ่งของนั้นเป็นปกติธุระแต่ละรายมีจำนวนเงินไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท โดยมีข้อตกลงหรือเข้าใจกันโดยตรงหรือโดยปริยายว่าจะได้ไถ่คืนในภายหลังด้วย ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพของประชาชนในปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีความจำเป็นหรือได้รับความเดือดร้อนทางการเงินให้ได้รับเงินจากการจำนำหรือขายสิ่งของดังกล่าวเพิ่มขึ้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามของคำว่า “โรงรับจำนำ” ตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. ๒๕๐๕ เสียใหม่ โดยเพิ่มจำนวนเงินให้โรงรับจำนำรับจำนำสิ่งของเป็นประกันหนี้เงินกู้เป็นไม่เกินหนึ่งแสนบาทและรับหรือซื้อสิ่งของโดยจ่ายเงินให้สำหรับสิ่งของนั้นเป็นไม่เกินหนึ่งแสนบาท จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 
ป้ายโฆษณา

รับต่อเติมบ้าน

รับติดตั้งจานดาวเที่ยม กล้องวงจรปิด

รับว่าความทั่วราชอาณาจักร

เนื้อโคขุนโพนยางคำ

Login Form


Polls

ปกติใช้คอมพิวเตอร์ for ?
 

Who's Online

เรามี 5 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

Counter

จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 2550222

RSS