พระราชบัญญัติ
วิทยุคมนาคม
พ.ศ. ๒๔๙๘
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๘
เป็นปีที่ ๑๐ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยวิทยุสื่อสาร
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติวิทยุสื่อสาร พุทธศักราช ๒๔๗๘
(๒) พระราชบัญญัติวิทยุสื่อสาร (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๑
(๓) พระราชบัญญัติวิทยุสื่อสาร (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๓
(๔) พระราชบัญญัติวิทยุสื่อสาร (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๔๘๕
(๕) พระราชบัญญัติวิทยุสื่อสาร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๑
(๖) พระราชบัญญัติวิทยุสื่อสาร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๙๗
(๗) บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“คลื่นแฮรตเซียน” หมายความว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่ระหว่าง ๑๐ กิโลไซเกิลต่อวินาที และ ๓,๐๐๐,๐๐๐ เมกกาไซเกิลต่อวินาที
“วิทยุคมนาคม” หมายความว่า การส่ง หรือการรับเครื่องหมาย สัญญาณ ตัวหนังสือ ภาพ และเสียงหรือการอื่นใดซึ่งสามารถเข้าใจความหมายได้ด้วยคลื่นแฮรตเซียน
“เครื่องวิทยุคมนาคม” หมายความว่า เครื่องส่งวิทยุคมนาคม เครื่องรับวิทยุคมนาคม หรือเครื่องรับและส่งวิทยุคมนาคม แต่ไม่รวมตลอดถึงเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ และเครื่องส่ง เครื่องรับหรือเครื่องรับและส่งวิทยุคมนาคมด้วยคลื่นแฮรตเซียน ตามลักษณะหรือประเภทที่กำหนดในกฎกระทรวง
เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ให้ถือว่าอุปกรณ์ใด ๆ ของเครื่องวิทยุคมนาคมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมด้วย
“พนักงานวิทยุคมนาคม” หมายความว่า ผู้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม
“สถานีวิทยุคมนาคม” หมายความว่า ที่ส่งวิทยุคมนาคม ที่รับวิทยุคมนาคม หรือที่ส่งและรับวิทยุคมนาคม
“ทำ” หมายความรวมตลอดถึงการประกอบขึ้น การแปรสภาพหรือการกลับสร้างใหม่
“นำเข้า” หมายความว่า นำเข้าในราชอาณาจักร
“นำออก” หมายความว่า นำออกนอกราชอาณาจักร
“ค้า” หมายความรวมถึง การมีไว้ในครอบครองเพื่อขายหรือซ่อมแซมด้วย
“เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต” หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ พระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ ไม่ใช้บังคับแก่
(๑) กระทรวงทบวงกรม
(๒) นิติบุคคลตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๖ ห้ามมิให้ผู้ใด ทำ มี ใช้ นำเข้า นำออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต
ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้เครื่องวิทยุคมนาคมบางลักษณะหรือเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในกิจการบางประเภทได้รับยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งทั้งหมดหรือเฉพาะแต่บางกรณีได้
มาตรา ๗ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำหน้าที่พนักงานวิทยุคมนาคมในตำแหน่งที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต
มาตรา ๘ ห้ามมิให้ผู้ใดรับข่าววิทยุคมนาคมต่างประเทศเพื่อการโฆษณา เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต
มาตรา ๙ ใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ มีดังนี้
(๑) ใบอนุญาตให้ทำ ให้มีอายุหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันออก
(๒) ใบอนุญาตให้มี ให้มีอายุหนึ่งปีนับแต่วันออก
(๓) ใบอนุญาตให้ใช้ ให้มีอายุตลอดอายุของเครื่องวิทยุคมนาคม
(๔) ใบอนุญาตให้นำเข้า ให้มีอายุหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันออก
(๕) ใบอนุญาตให้นำออก ให้มีอายุสามสิบวันนับแต่วันออก
(๖) ใบอนุญาตให้ค้า ให้มีอายุหนึ่งปีนับแต่วันออก เว้นแต่ใบอนุญาตที่ออกให้เพื่อการซ่อมแซมโดยเฉพาะ ให้มีอายุห้าปีนับแต่วันออก
(๗) ใบอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม ให้มีอายุตลอดระยะเวลาที่ผู้รับใบอนุญาตใช้สถานีตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเป็นสถานีวิทยุคมนาคม
(๘) ใบอนุญาตพนักงานวิทยุคมนาคม ให้มีอายุห้าปีนับแต่วันออก
(๙) ใบอนุญาตให้รับข่าววิทยุคมนาคมต่างประเทศเพื่อการโฆษณา ให้มีอายุหนึ่งปีนับแต่วันออก
ผู้ได้รับใบอนุญาตตาม (๑) (๓) (๔) (๕) (๖) หรือ (๗) ให้ถือว่าได้รับอนุญาตให้มีเครื่องวิทยุคมนาคมด้วย
มาตรา ๑๐ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกใบอนุญาตพิเศษให้บุคคลตั้งสถานีวิทยุการบินเพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัยของการเดินอากาศพลเรือนโดยเฉพาะได้ ในการออกใบอนุญาตพิเศษนี้ รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้
ผู้รับอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๑๑ ห้ามมิให้ผู้ใดตั้งสถานีวิทยุคมนาคม เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต
สถานีวิทยุคมนาคมต้องใช้ความถี่คลื่นให้ถูกต้องตามข้อบังคับว่าด้วยวิทยุคมนาคมตามภาคผนวกต่อท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยโทรคมนาคม
เพื่อให้การเป็นไปตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขการตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และให้อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจควบคุมและกำหนดการใช้ความถี่คลื่นของสถานีวิทยุคมนาคมต่าง ๆ
ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้สถานีวิทยุคมนาคมที่ใช้ในกิจการบางประเภทได้รับยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๑๑ ทวิ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดให้ผู้ใช้ความถี่คลื่นเพื่อกิจการใดหรือในลักษณะใดต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่คลื่นนั้นให้แก่รัฐบาลได้ตามอัตราที่เห็นสมควร
ประกาศตามวรรคหนึ่งให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๒ ห้ามมิให้สถานีวิทยุคมนาคมดำเนินบริการวิทยุคมนาคมเพื่อประโยชน์อื่นใด นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตหรือนอกเหนือจากราชการของกระทรวงทบวงกรมหรือกิจการของนิติบุคคลตามมาตรา ๕
มาตรา ๑๓ ห้ามมิให้ยานพาหนะใด ๆ ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม นอกจากจะใช้ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง หรือได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีเป็นพิเศษชั่วครั้งคราว
มาตรา ๑๔ เพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเพื่อป้องกันราชอาณาจักร รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งเฉพาะกาลให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดไว้เอาไปใช้ ห้ามการใช้หรือห้ามการยักย้ายซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม หรือส่วนใด ๆ แห่งเครื่องวิทยุคมนาคมในระหว่างเวลาและภายในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในคำสั่งนั้น
มาตรา ๑๕ ผู้ใดกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมโดยมิได้เจตนา เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นระงับการกระทำนั้นหรือให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ใช้ในการกระทำนั้นเสีย หรือให้ย้ายสิ่งดังกล่าวนั้นออกไปให้พ้นเขตรบกวนได้
มาตรา ๑๖ ห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือจัดให้ส่งข้อความใด ๆ โดยวิทยุคมนาคมอันตนรู้อยู่ว่าเป็นเท็จ หรือข้อความอื่นใดที่มิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติหรือประชาชน
มาตรา ๑๗ ห้ามมิให้ผู้ใดดักรับไว้ ใช้ประโยชน์ หรือเปิดเผยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งข่าววิทยุคมนาคมที่มิได้มุ่งหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติหรือประชาชน
มาตรา ๑๘ เพื่อตรวจเครื่องวิทยุคมนาคม ส่วนแห่งเครื่องวิทยุคมนาคม สถานีวิทยุคมนาคม สิ่งที่ก่อให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม หรือใบอนุญาต เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจเข้าไปในอาคารสถานที่ หรือยานพาหนะของบุคคลใด ๆ ได้ในเวลาอันสมควร
เมื่อปรากฏว่าผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำการเช่นว่านั้น ให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายตามความในวรรคหนึ่ง มีอำนาจจับกุมผู้นั้นพร้อมด้วยของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
มาตรา ๑๙ ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือพักใช้ใบอนุญาตของผู้นั้นเสียได้
ผู้รับใบอนุญาตอาจอุทธรณ์ไปยังอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขภายในสามสิบวัน นับแต่วันถูกเพิกถอนหรือพักใช้ คำชี้ขาดของอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขให้เป็นที่สุด
มาตรา ๒๐ รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบในกรณีสูญหายหรือเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะเหตุที่เครื่องวิทยุคมนาคมของรัฐบาลใช้การไม่สะดวกและไม่ต้องรับผิดชอบในการรับ การส่ง หรือการส่งมอบข่าวสารวิทยุคมนาคมใด ๆ
ในกรณีดังกล่าวในวรรคก่อน พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบเช่นเดียวกันเว้นแต่พนักงานเจ้าหน้าที่นั้นจะก่อให้เกิดขึ้นโดยจงใจ ฉ้อฉล หรือประมาทเลินเล่อ
มาตรา ๒๑ ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตมีอำนาจทำการเปรียบเทียบได้
มาตรา ๒๒ เมื่อมีคำพิพากษาว่า ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ศาลจะสั่งริบสิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิดนั้น เพื่อให้ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขด้วยก็ได้
มาตรา ๒๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖ มาตรา ๑๑ หรือมาตรา ๑๖ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
มาตรา ๒๔ ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา ๑๒ หรือมาตรา ๑๓ ผู้ควบคุมสถานีวิทยุคมนาคม หรือผู้ควบคุมเครื่องวิทยุคมนาคม และผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้นมีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
มาตรา ๒๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗ มาตรา ๘ หรือมาตรา ๑๗ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
มาตรา ๒๖ ผู้ใดจงใจกระทำให้เกิดการรบกวน หรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมมีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
มาตรา ๒๗ ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายตามความในมาตรา ๑๕ มีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
มาตรา ๒๘ บรรดาใบอนุญาตและประกาศนียบัตรที่ได้ออกไว้ตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุสื่อสารก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ใช้ได้จนถึงวันสิ้นกำหนดอายุใบอนุญาต หรือประกาศนียบัตรนั้น ๆ
มาตรา ๒๙ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร*รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตและออกกฎกระทรวง
(๑) วางระเบียบการขอและการออกใบอนุญาต
(๒) กำหนดวิธีการเพิกถอนและพักใช้ใบอนุญาต
(๓) กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้
(๔) กำหนดคุณลักษณะของเครื่องวิทยุคมนาคม และคุณวุฒิสำหรับพนักงานวิทยุคมนาคม
(๕) กำหนดกิจการอื่นใดเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
[เอกสารแนบท้าย]
๑.อัตราค่าธรรมเนียม (ยกเลิก)
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลมีความมุ่งหวังจะให้การวิทยุคมนาคมเจริญวิวัฒนาการไปตามกาลสมัย อันกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคมได้บัญญัติรวมกันอยู่ในกฎหมายว่าด้วยวิทยุสื่อสาร ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมมาแล้วถึง ๖ ครั้ง เห็นสมควรจะได้ปรับปรุงไว้เป็นฉบับเดียว และแยกเรื่องวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ออกเป็นพระราชบัญญัติอีกฉบับหนึ่งต่างหากจากกัน
พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม ได้บัญญัติให้ออกกฎกระทรวงยกเว้นให้กระทรวงทบวงกรมมีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมได้ ซึ่งทำให้ล่าช้าและไม่เหมาะสม จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคมเพื่อยกเว้นให้กระทรวงทบวงกรมมีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมได้โดยไม่ต้องออกเป็นกฎกระทรวง
พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๕
มาตรา ๑๓ บรรดาใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงมีผลใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุใบอนุญาต
มาตรา ๑๔ ผู้ใดประกอบการค้าเครื่องวิทยุคมนาคมอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากประสงค์จะประกอบกิจการดังกล่าวต่อไป ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตแล้วให้ประกอบกิจการได้ต่อไปอีกจนกว่าจะได้รับแจ้งว่าไม่ได้รับอนุญาต
ผู้ไม่ได้รับอนุญาตอาจอุทธรณ์ไปยังอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งว่าไม่ได้รับอนุญาต คำชี้ขาดของอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขให้เป็นที่สุด
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคมได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว ประกอบกับเทคโนโลยีด้านวิทยุคมนาคมของโลกได้ก้าวหน้าไปโดยรวดเร็ว บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการควบคุมเครื่องวิทยุคมนาคมหรือส่วนใด ๆ แห่งเครื่องวิทยุคมนาคมและการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมที่ใช้บังคับอยู่บางส่วนยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมากและอย่างรวดเร็ว และยังไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการเก็บค่าใช้ความถี่คลื่นซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ตลอดจนการกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน ทำให้การบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายไม่สามารถดำเนินการไปตามความมุ่งหมาย และบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการกำหนดอายุของใบอนุญาต และการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและบทบัญญัติเกี่ยวกับอัตราโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวที่ใช้บังคับอยู่ไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ดังนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
*พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕
มาตรา ๙๗ ในพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ให้แก้ไขคำว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม” เป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร”
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่างๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้