พระราชบัญญัติ
สภาความมั่นคงแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๐๒
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๒
เป็นปีที่ ๑๔ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรให้มีสภาความมั่นคงแห่งชาติ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภาดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๒”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๔๙๙
(๒) พระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๐
มาตรา ๔ ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นสมาชิก เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นสมาชิกและเลขานุการ
ประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ จะเชิญบุคคลใดมาร่วมการประชุมของสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือให้มาชี้แจงแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมก็ได้
มาตรา ๕ สภาความมั่นคงแห่งชาติ มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณาเสนอแนะคณะรัฐมนตรี ในเรื่องนโยบายภายใน นโยบายต่างประเทศ และนโยบายการทหารกับการเศรษฐกิจ และอื่นๆ อันเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติให้สอดคล้องต้องกัน เพื่อให้กิจการทหารและกระทรวง ทบวง กรม และองค์การอื่นๆ ของรัฐ สามารถประสานกันได้อย่างใกล้ชิดเป็นผลดีต่อความมั่นคงแห่งชาติ
(๒) พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
มาตรา ๖ สภาความมั่นคงแห่งชาติ อาจตั้งคณะกรรมการให้พิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติจะมอบหมายก็ได้
คณะกรรมการที่สภาความมั่นคงแห่งชาติแต่งตั้งตามความในวรรคก่อนอาจเชิญบุคคลใดๆ มาสอบถามหรือให้ชี้แจงแสดงความเห็นในกิจการใดๆ อันเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติได้
มาตรา ๗ ให้มีสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีหน้าที่ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามมติของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และให้มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ และจะให้มีรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้ช่วยปฏิบัติราชการก็ได้
มาตรา ๘ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ส. ธนะรัชต์
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกิจการที่เกี่ยวแก่ความมั่นคงแห่งชาติเสียใหม่ ให้เป็นผลดียิ่งขึ้น จึงต้องยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสภาป้องกันราชอาณาจักร และตั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติขึ้น เพื่อให้มีหน้าที่เกี่ยวแก่การรักษาความมั่นคงแห่งชาติ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวแก่การนี้เสียใหม่ให้เป็นไปตามความประสงค์ดังกล่าวนี้
พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๗
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ได้จัดตั้งกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติขึ้นใหม่ และกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติมีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับสภาความมั่นคงแห่งชาติแต่ตามกฎหมายว่าด้วยสภาความมั่นคงแห่งชาติในปัจจุบันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติมิได้ร่วมเป็นสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติด้วย จึงเป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติเป็นสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติเพิ่มขึ้น