Home พระราชบัญญัติ ต่าง พรบ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522

พรบ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522

อีเมล พิมพ์ PDF

พระราชบัญญัติ

สิทธิบัตร

พ.ศ. ๒๕๒๒

 

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒

เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์และการออกแบบผลิตภัณฑ์

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒”

 

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

หมวด ๑

บททั่วไป

 

 

มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

“สิทธิบัตร” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ตามที่กำหนดในหมวด ๒ และหมวด ๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้

“อนุสิทธิบัตร” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ตามที่กำหนดในหมวด ๓ ทวิ แห่งพระราชบัญญัตินี้

“การประดิษฐ์” หมายความว่า การคิดค้นหรือคิดทำขึ้น อันเป็นผลให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีใดขึ้นใหม่ หรือการกระทำใด ๆ ที่ทำให้ดีขึ้นซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธี

“กรรมวิธี” หมายความว่า วิธีการ กระบวนการ หรือกรรมวิธีในการผลิตหรือการเก็บรักษาให้คงสภาพหรือให้มีคุณภาพดีขึ้นหรือการปรับสภาพให้ดีขึ้นซึ่งผลิตภัณฑ์และรวมถึงการใช้กรรมวิธีนั้น ๆ ด้วย

“แบบผลิตภัณฑ์” หมายความว่า รูปร่างของผลิตภัณฑ์ หรือองค์ประกอบของลวดลาย หรือสีของผลิตภัณฑ์ อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้

“ผู้ทรงสิทธิบัตร” หมายความรวมถึงผู้รับโอนสิทธิบัตร

“ผู้ทรงอนุสิทธิบัตร” หมายความรวมถึงผู้รับโอนอนุสิทธิบัตร

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสิทธิบัตร

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามอบหมายด้วย

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวง กำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ ลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

 

หมวด ๒

สิทธิบัตรการประดิษฐ์

 

 

ส่วนที่ ๑

การขอรับสิทธิบัตร

 

 

มาตรา ๕ ภายใต้บังคับมาตรา ๙ การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้

(๑) เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่

(๒) เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น และ

(๓) เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม

 

มาตรา ๖ การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ได้แก่การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว

งานที่ปรากฏอยู่แล้ว ให้หมายความถึงการประดิษฐ์ ดังต่อไปนี้ด้วย

(๑) การประดิษฐ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร

(๒) การประดิษฐ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร และไม่ว่าการเปิดเผยนั้นจะกระทำโดยเอกสาร สิ่งพิมพ์ การนำออกแสดง หรือการเปิดเผยต่อสาธารณชนด้วยประการใด ๆ

(๓) การประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรแล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร

(๔) การประดิษฐ์ที่มีผู้ขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรไว้แล้วนอกราชอาณาจักรเป็นเวลาเกินสิบแปดเดือนก่อนวันขอรับสิทธิบัตรแต่ยังมิได้มีการออกสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรให้

(๕) การประดิษฐ์ที่มีผู้ขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรไว้แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักร และได้ประกาศโฆษณาแล้วก่อนวันขอรับสิทธิบัตรในราชอาณาจักร

การเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลมาจากการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมาย หรือการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดโดยผู้ประดิษฐ์ รวมทั้งการแสดงผลงานของผู้ประดิษฐ์ในงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ หรือในงานแสดงต่อสาธารณชนของทางราชการ และการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดดังกล่าวได้กระทำภายในสิบสองเดือนก่อนที่จะมีการขอรับสิทธิบัตรมิให้ถือว่าเป็นการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดตาม (๒)

 

มาตรา ๗ การประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ได้แก่การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทนั้น

 

มาตรา ๘ การประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรมได้แก่การประดิษฐ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตทางอุตสาหกรรม รวมทั้งหัตถกรรม เกษตรกรรม และพาณิชยกรรม

 

มาตรา ๙ การประดิษฐ์ดังต่อไปนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ

(๑) จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติสัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช

(๒) กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

(๓) ระบบข้อมูลสำหรับการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์

(๔) วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์

(๕) การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี อนามัย หรือสวัสดิภาพของประชาชน

 

มาตรา ๑๐ ผู้ประดิษฐ์เป็นผู้มีสิทธิของรับสิทธิบัตร และมีสิทธิที่จะได้รับการระบุชื่อว่าเป็นผู้ประดิษฐ์ในสิทธิบัตร

สิทธิขอรับสิทธิบัตรย่อมโอนและรับมรดกกันได้

การโอนสิทธิขอรับสิทธิบัตรต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน

 

มาตรา ๑๑ สิทธิขอรับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ซึ่งลูกจ้างได้ประดิษฐ์ขึ้นโดยการทำงานตามสัญญาจ้างหรือโดยสัญญาจ้างที่มีวัตถุประสงค์ให้ทำการประดิษฐ์ย่อมตกได้แก่นายจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างจะระบุไว้เป็นอย่างอื่น

ความในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ลูกจ้างที่ทำการประดิษฐ์สิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยการใช้ วิธีการ สถิติหรือรายงานซึ่งลูกจ้างสามารถใช้หรือล่วงรู้ได้เพราะการเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างนั้น แม้ว่าสัญญาจ้างจะมิได้เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์

 

มาตรา ๑๒ เพื่อส่งเสริมให้มีการประดิษฐ์และเพื่อความเป็นธรรมแก่ลูกจ้างในกรณีที่การประดิษฐ์ของลูกจ้างตามมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างได้รับประโยชน์จากการประดิษฐ์หรือนำสิ่งประดิษฐ์นั้นไปใช้ ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับบำเหน็จพิเศษจากนายจ้างนอกเหนือจากค่าจ้างตามปกติได้

ให้ลูกจ้างที่ทำการประดิษฐ์ตามมาตรา ๑๑ วรรคสอง มีสิทธิได้รับบำเหน็จพิเศษจากนายจ้าง

สิทธิที่จะได้รับบำเหน็จพิเศษจะถูกตัดโดยสัญญาจ้างหาได้ไม่

การขอรับสิทธิตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ยื่นต่ออธิบดีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดบำเหน็จพิเศษให้แก่ลูกจ้างตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงค่าจ้างความสำคัญในการประดิษฐ์ ประโยชน์ที่นายจ้างได้รับหรือจะได้รับจากการประดิษฐ์ดังกล่าว และเงื่อนไขอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๑๓ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการประดิษฐ์ของข้าราชการ หรือพนักงานองค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ให้ถือว่าข้าราชการ หรือพนักงานองค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างตามความในมาตรา ๑๒ เว้นแต่ระเบียบของทางราชการหรือองค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจนั้น จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

 

มาตรา ๑๔ บุคคลซึ่งจะขอรับสิทธิบัตรได้ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทย หรือเป็นนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

(๒) มีสัญชาติของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิบัตรซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย

(๓) มีสัญชาติของประเทศที่ยินยอมให้บุคคลสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทยขอรับสิทธิบัตรในประเทศนั้นได้

(๔) มีภูมิลำเนา หรืออยู่ในระหว่างการประกอบอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมอย่างแท้จริงและจริงจังในประเทศไทยหรือประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิบัตรซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย

 

มาตรา ๑๕ ถ้ามีบุคคลหลายคนทำการประดิษฐ์ร่วมกัน บุคคลเหล่านั้นมีสิทธิขอรับสิทธิบัตรร่วมกัน

ในกรณีผู้ประดิษฐ์ร่วมคนใดไม่ยอมร่วมขอรับสิทธิบัตรหรือติดต่อไม่ได้หรือไม่มีสิทธิขอรับสิทธิบัตร ผู้ประดิษฐ์คนอื่นจะขอรับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ที่ได้ทำร่วมกันนั้นในนามของตนเองก็ได้

ผู้ประดิษฐ์ร่วมซึ่งไม่ได้ร่วมขอรับสิทธิบัตรจะขอเข้าเป็นผู้ร่วมขอรับสิทธิบัตรเมื่อใดก็ได้ก่อนมีการออกสิทธิบัตร เมื่อได้รับคำขอแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งกำหนดวันสอบสวนไปยังผู้ขอรับสิทธิบัตรและผู้ร่วมขอรับสิทธิบัตร ในการนี้ให้ส่งสำเนาคำขอไปยังผู้ขอรับสิทธิบัตรและผู้ร่วมขอสิทธิบัตรคนอื่นด้วย

ในการสอบสวนตามวรรคสาม พนักงานเจ้าหน้าที่จะเรียกผู้ขอรับสิทธิบัตร และผู้ร่วมขอรับสิทธิบัตร มาให้ถ้อยคำชี้แจงหรือให้ส่งเอกสารหรือสิ่งใดเพิ่มเติมก็ได้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการสอบสวนและอธิบดีได้วินิจฉัยแล้ว ให้แจ้งคำวินิจฉัยไปยังผู้ขอรับสิทธิบัตรและผู้ร่วมขอรับสิทธิบัตร

 

มาตรา ๑๖ ในกรณีบุคคลหลายคนต่างทำการประดิษฐ์อย่างเดียวกันโดยไม่ได้ร่วมกันให้บุคคลซึ่งได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไว้ก่อนเป็นผู้มีสิทธิรับสิทธิบัตร ถ้ายื่นคำขอรับสิทธิบัตรในวันเดียวกัน ให้ทำความตกลงกันว่าจะให้บุคคลใดมีสิทธิแต่ผู้เดียวหรือให้มีสิทธิร่วมกัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้คู่กรณีนำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด ถ้าไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดดังกล่าวให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นละทิ้งคำขอรับสิทธิบัตร

 

มาตรา ๑๗ การขอรับสิทธิบัตรให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

คำขอรับสิทธิบัตรให้มีรายการดังต่อไปนี้

(๑) ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์

(๒) ลักษณะและความมุ่งหมายของการประดิษฐ์

(๓) รายละเอียดการประดิษฐ์ที่มีข้อความสมบูรณ์รัดกุมและชัดแจ้ง อันจะทำให้ผู้มีความชำนาญในระดับสามัญในศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้องสามารถทำและปฏิบัติการตามการประดิษฐ์นั้นได้ และต้องระบุวิธีการในการประดิษฐ์ที่ดีที่สุดที่ผู้ประดิษฐ์จะพึงทราบได้

(๔) ข้อถือสิทธิโดยชัดแจ้ง

(๕) รายการอื่นตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

ในกรณีที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีแห่งความตกลงหรือความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิบัตร หากคำขอรับสิทธิบัตรเป็นไปตามที่กำหนดในความตกลงหรือความร่วมมือระหว่างประเทศดังกล่าว ให้ถือว่าคำขอดังกล่าวเป็นคำขอรับสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๑๘ คำขอรับสิทธิบัตรแต่ละฉบับให้ขอได้เฉพาะการประดิษฐ์อย่างเดียว คำขอรับสิทธิบัตรเพื่อการประดิษฐ์หลายอย่างในคำขอฉบับเดียวกันจะกระทำได้ต่อเมื่อการประดิษฐ์หลายอย่างนั้นมีความเกี่ยวพันอันอาจถือได้ว่าเป็นการประดิษฐ์อย่างเดียวกัน

 

มาตรา ๑๙ บุคคลใดแสดงการประดิษฐ์หรือสิ่งประดิษฐ์ในงานแสดงต่อสาธารณชน ซึ่งหน่วยงานของรัฐเป็นผู้จัดหรืออนุญาตให้มีขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์นั้นภายในสิบสองเดือนนับแต่วันเปิดงานแสดงต่อสาธารณชน ให้ถือว่าได้ยื่นคำขอนั้นในวันเปิดงานแสดงนั้น

 

มาตรา ๑๙ ทวิ บุคคลตามมาตรา ๑๔ ที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ไว้นอกราชอาณาจักร ถ้ายื่นขอรับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์นั้นในราชอาณาจักรภายในสิบสองเดือนนับแต่วันที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรนอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก บุคคลนั้นจะขอให้ระบุว่าวันที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรนอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรกเป็นวันที่ได้ยื่นคำขอในราชอาณาจักรก็ได้

 

มาตรา ๒๐ ผู้ขอรับสิทธิบัตรอาจขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง แต่การแก้ไขเพิ่มเติมนั้นต้องไม่เป็นการเพิ่มเติมสาระสำคัญของการประดิษฐ์

 

มาตรา ๒๑ ห้ามมิให้เจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการขอรับสิทธิบัตรเปิดเผยรายละเอียดการประดิษฐ์ หรือยอมให้บุคคลใดตรวจหรือคัดสำเนารายละเอียดการประดิษฐ์ไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ก่อนมีการประกาศโฆษณาตามมาตรา ๒๘ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ขอรับสิทธิบัตร

 

มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้บุคคลใดซึ่งรู้อยู่ว่าการประดิษฐ์นั้นได้มีผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไว้แล้วเปิดเผยรายละเอียดการประดิษฐ์ไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ หรือกระทำโดยประการอื่นที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ขอรับสิทธิบัตรก่อนมีการประกาศโฆษณาตามมาตรา ๒๘ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ขอรับสิทธิบัตร

 

มาตรา ๒๓ ในกรณีอธิบดีเห็นว่าการประดิษฐ์ตามคำขอรับสิทธิบัตรใดเป็นการประดิษฐ์ที่ต้องรักษาไว้เป็นความลับเพื่อประโยชน์แก่ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ปกปิดสาระสำคัญและรายละเอียดการประดิษฐ์นั้นไว้เป็นความลับจนกว่าจะสั่งเป็นอย่างอื่น

ห้ามมิให้บุคคลใดรวมทั้งผู้ขอรับสิทธิบัตรเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดการประดิษฐ์โดยรู้อยู่ว่าอธิบดีได้สั่งให้ปกปิดไว้เป็นความลับตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะมีอำนาจทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ส่วนที่ ๒

การออกสิทธิบัตร

 

 

มาตรา ๒๔ ในการออกสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบดังนี้

(๑) ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรให้ถูกต้องตามมาตรา ๑๗

(๒) ตรวจสอบการประดิษฐ์ว่าเป็นการประดิษฐ์ตามมาตรา ๕

ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

 

มาตรา ๒๕ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาออกสิทธิบัตร อธิบดีอาจขอให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์การของรัฐ หรือสำนักงานหรือองค์การสิทธิบัตรของรัฐต่างประเทศ หรือระหว่างประเทศตรวจสอบการประดิษฐ์ตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ และมาตรา ๙ หรือรายละเอียดการประดิษฐ์ตามมาตรา ๑๗ (๓) ตามคำขอรับสิทธิบัตรได้ และอธิบดีอาจให้ถือว่าการปฏิบัติงานในการตรวจสอบนั้นเป็นการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ได้

 

มาตรา ๒๖ ในการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าคำขอรับสิทธิบัตรใดมีการประดิษฐ์หลายอย่างที่ไม่มีความเกี่ยวพันกันจนอาจถือได้ว่าเป็นการประดิษฐ์อย่างเดียวกัน ให้แจ้งให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรแยกคำขอสำหรับการประดิษฐ์แต่ละอย่าง

ถ้าผู้ขอรับสิทธิบัตรได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์อย่างหนึ่งอย่างใดที่ได้แยกตามวรรคหนึ่งภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถือว่าได้ยื่นคำขอนั้นในวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตรครั้งแรก

การแยกคำขอให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

ในกรณีที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรจะต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่ออธิบดีภายในระยะเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน เมื่ออธิบดีได้วินิจฉัยและมีคำสั่งแล้ว ให้คำสั่งของอธิบดีเป็นที่สุด

 

มาตรา ๒๗ ในการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร พนักงานเจ้าหน้าที่จะเรียกผู้ขอรับสิทธิบัตรมาให้ถ้อยคำชี้แจง หรือให้ส่งเอกสาร หรือสิ่งใดเพิ่มเติมก็ได้

ในกรณีที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไว้แล้วนอกราชอาณาจักร ให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรส่งผลการตรวจสอบการประดิษฐ์หรือรายละเอียดการประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรนั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

ในกรณีที่จะต้องส่งเอกสารเป็นภาษาต่างประเทศ ให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรส่งเอกสารพร้อมด้วยคำแปลเป็นภาษาไทย

ถ้าผู้ขอรับสิทธิบัตรไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง หรือไม่ส่งเอกสารตามวรรคสองภายในกำหนดเวลาเก้าสิบวันให้ถือว่าละทิ้งคำขอรับสิทธิบัตร เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอธิบดีอาจขยายกำหนดเวลาดังกล่าวให้ตามที่เห็นสมควร

 

มาตรา ๒๘ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่เสนอรายงานการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรต่ออธิบดีแล้ว

(๑) ถ้าอธิบดีพิจารณาเห็นว่าคำขอรับสิทธิบัตรไม่ถูกต้องตามมาตรา ๑๗ หรือการประดิษฐ์นั้นไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๙ ให้อธิบดีสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตรนั้น และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งคำสั่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังผู้ขอรับสิทธิบัตรหรือโดยวิธีการอื่นที่อธิบดีกำหนดภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่อธิบดีมีคำสั่ง

(๒) ถ้าอธิบดีพิจารณาเห็นว่าคำขอรับสิทธิบัตรถูกต้องตามมาตรา ๑๗ และการประดิษฐ์นั้นได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๙ ให้อธิบดีมีคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง และก่อนการประกาศโฆษณา ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งผู้ขอรับสิทธิบัตรโดยวิธีการที่อธิบดีกำหนดหรือโดยมีหนังสือแจ้งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเพื่อให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรชำระค่าธรรมเนียมการประกาศโฆษณา หากผู้ขอรับสิทธิบัตรไม่ชำระค่าธรรมเนียมการประกาศโฆษณาภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือได้รับหนังสือแจ้งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับดังกล่าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งผู้ขอรับสิทธิบัตรโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับอีกครั้งหนึ่ง และหากผู้ขอรับสิทธิบัตรยังไม่ชำระค่าธรรมเนียมการประกาศโฆษณาภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าวอีก ให้ถือว่าผู้ขอรับสิทธิบัตรละทิ้งคำขอรับสิทธิบัตร

 

มาตรา ๒๙ เมื่อได้ประกาศโฆษณาตามมาตรา ๒๘ แล้ว ผู้ขอรับสิทธิบัตรต้องยื่นคำขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการประดิษฐ์ว่าเป็นการประดิษฐ์ตามมาตรา ๕ ภายในห้าปีนับแต่วันประกาศโฆษณา ในกรณีที่มีการคัดค้านและมีการอุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีตามมาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๔ ให้ยื่นคำขอภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่คำวินิจฉัยชี้ขาดถึงที่สุด แล้วแต่ระยะเวลาใดจะสิ้นสุดลงทีหลัง ถ้าผู้ขอรับสิทธิบัตรไม่ยื่นคำขอภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าละทิ้งคำขอรับสิทธิบัตร

ในกรณีที่อธิบดีขอให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์การของรัฐ หรือสำนักงานหรือองค์การสิทธิบัตรของรัฐต่างประเทศหรือระหว่างประเทศ ตรวจสอบการประดิษฐ์ตามมาตรา ๒๕ ถ้ามีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบการประดิษฐ์นั้น ให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรชำระค่าใช้จ่ายนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ทราบ ถ้าผู้ขอรับสิทธิบัตรไม่ชำระภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ให้ถือว่าละทิ้งคำขอรับสิทธิบัตร

 

มาตรา ๓๐ เมื่อได้ประกาศโฆษณาตามมาตรา ๒๘ แล้ว ถ้าปรากฏว่าคำขอรับสิทธิบัตรไม่ชอบด้วยมาตรา ๕ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ หรือมาตรา ๑๔ ให้อธิบดีสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตรและให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งคำสั่งไปยังผู้ขอรับสิทธิบัตรรวมทั้งผู้คัดค้าน ในกรณีที่มีการคัดค้านตามมาตรา ๓๑ และให้ประกาศโฆษณาคำสั่งนั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

 

มาตรา ๓๑ เมื่อได้ประกาศโฆษณาตามมาตรา ๒๘ แล้ว บุคคลใดเห็นว่าตนมีสิทธิรับสิทธิบัตรดีกว่าผู้ขอรับสิทธิบัตรหรือเห็นว่าคำขอรับสิทธิบัตรใดไม่ชอบด้วยมาตรา ๕ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ หรือมาตรา ๑๔ จะยื่นคำคัดค้านต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้ แต่ต้องยื่นภายในเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศโฆษณาตามมาตรา ๒๘

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งสำเนาคำคัดค้านไปยังผู้ขอรับสิทธิบัตรให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรยื่นคำโต้แย้งภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรได้รับสำเนาคำคัดค้าน ถ้าผู้ขอรับสิทธิบัตรไม่ยื่นคำโต้แย้ง ให้ถือว่าละทิ้งคำขอรับสิทธิบัตร

คำคัดค้านและคำโต้แย้งให้ยื่นพร้อมทั้งแสดงหลักฐาน

 

มาตรา ๓๒ ในการพิจารณาคำคัดค้านและคำโต้แย้ง ผู้คัดค้านหรือผู้โต้แย้งจะนำพยานหลักฐานมาแสดงหรือแถลงเพิ่มเติมก็ได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

เมื่ออธิบดีได้วินิจฉัยและมีคำสั่งตามมาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ แล้ว ให้แจ้งคำวินิจฉัยและคำสั่งไปยังผู้คัดค้านและผู้โต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผล

 

มาตรา ๓๓ เมื่อผู้ขอรับสิทธิบัตรยื่นคำขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการประดิษฐ์ตามมาตรา ๒๙ และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบตามมาตรา ๒๔ แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำรายงานการตรวจสอบเสนออธิบดี

เมื่ออธิบดีพิจารณารายงานการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่งแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุขัดข้องในการออกสิทธิบัตร และเป็นกรณีที่ไม่มีการคัดค้านตามมาตร ๓๑ หรือในกรณีที่มีการคัดค้านตามมาตรา ๓๑ แต่อธิบดีได้วินิจฉัยว่าผู้ขอรับสิทธิบัตรเป็นผู้มีสิทธิ ให้อธิบดีสั่งให้รับจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกสิทธิบัตรให้แก่ผู้ขอรับสิทธิบัตรและให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรชำระค่าธรรมเนียมการออกสิทธิบัตรภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

เมื่อผู้ขอรับสิทธิบัตรได้ชำระค่าธรรมเนียมตามวรรคสองแล้ว ให้จดทะเบียนการประดิษฐ์และออกสิทธิบัตรให้แก่ผู้ขอรับสิทธิบัตรภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ชำระค่าธรรมเนียมแต่ต้องไม่ก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ตามมาตรา ๗๒ ถ้าผู้ขอรับสิทธิบัตรไม่ชำระค่าธรรมเนียมภายในระยะเวลาตามวรรคสอง ให้ถือว่าละทิ้งคำขอรับสิทธิบัตร

สิทธิบัตรให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

 

มาตรา ๓๔ ในกรณีที่มีผู้คัดค้านตามมาตรา ๓๑ และอธิบดีได้วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีสิทธิรับสิทธิบัตร ให้อธิบดีสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตร

ในกรณีที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรมิได้อุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีหรือได้อุทธรณ์คำสั่งของอธิบดี และคณะกรรมการหรือศาลได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ถ้าผู้คัดค้านได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์นั้นภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันมีคำสั่งของอธิบดีหรือนับแต่วันที่คณะกรรมการหรือศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วแต่กรณี ให้ถือว่าผู้คัดค้านได้ยื่นคำขอนั้นในวันเดียวกับวันที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรยื่นคำขอรับสิทธิบัตร และให้ถือว่าการประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรของผู้ถูกคัดค้านตามมาตรา ๒๘ เป็นประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรของผู้คัดค้านด้วย ในกรณีเช่นนี้ ผู้ใดจะยื่นคำคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรของผู้คัดค้านเพราะเหตุตนมีสิทธิดีกว่านั้นไม่ได้

ในการออกสิทธิบัตรให้แก่ผู้คัดค้านนั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรและตรวจสอบการประดิษฐ์ของผู้คัดค้านตามมาตรา ๒๔ และให้นำมาตรา ๒๙ มาใช้บังคับแก่ผู้คัดค้านด้วย

 

ส่วนที่ ๓

สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร

 

 

มาตรา ๓๕ สิทธิบัตรการประดิษฐ์ให้มีอายุยี่สิบปีนับแต่วันขอรับสิทธิบัตรในราชอาณาจักร ในกรณีที่มีการดำเนินคดีทางศาลตามมาตรา ๑๖ มาตรา ๗๔ หรือมาตรา ๗๗ ฉ มิให้นับระยะเวลาในระหว่างการดำเนินคดีดังกล่าวเป็นอายุของสิทธิบัตรนั้น

 

มาตรา ๓๕ ทวิ การกระทำที่ขัดต่อมาตรา ๓๖ ก่อนวันออกสิทธิบัตรมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร เว้นแต่จะเป็นการกระทำต่อการประดิษฐ์ ที่ขอรับสิทธิบัตร และได้มีการประกาศโฆษณาคำขอดังกล่าวตามมาตรา ๒๘ แล้ว โดยบุคคลผู้กระทำรู้ว่าการประดิษฐ์นั้นได้มีการยื่นขอรับสิทธิบัตรไว้แล้วหรือได้รับคำบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรว่าการประดิษฐ์นั้นได้มีการยื่นขอรับสิทธิบัตรไว้แล้ว ในกรณีเช่นนี้ ผู้ขอรับสิทธิบัตรมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากบุคคลผู้ฝ่าฝืนสิทธินั้น การเรียกค่าเสียหายดังกล่าวให้ยื่นฟ้องต่อศาลหลังจากที่ได้มีการออกสิทธิบัตรให้แก่ผู้ขอรับสิทธิบัตรแล้ว

 

มาตรา ๓๖ ผู้ทรงสิทธิบัตรเท่านั้นมีสิทธิดังต่อไปนี้

(๑) ในกรณีสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ สิทธิในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร

(๒) ในกรณีสิทธิบัตรกรรมวิธี สิทธิในการใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร

ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่

(๑) การกระทำใด ๆ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง หรือวิจัย ทั้งนี้ ต้องไม่ขัดต่อการใช้ประโยชน์ตามปกติของผู้ทรงสิทธิบัตร และไม่ทำให้เสื่อมเสียต่อประโยชน์อันชอบธรรมของผู้ทรงสิทธิบัตรเกินสมควร

(๒) การผลิตผลิตภัณฑ์หรือใช้กรรมวิธีดังที่ผู้ทรงสิทธิบัตรได้จดทะเบียนไว้ ซึ่งผู้ผลิตผลิตภัณฑ์หรือผู้ใช้กรรมวิธีดังกล่าวได้ประกอบกิจการหรือมีเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อประกอบกิจการดังกล่าวโดยสุจริตก่อนวันยื่นขอรับสิทธิบัตรในราชอาณาจักร โดยผู้ผลิตหรือผู้ใช้กรรมวิธีไม่รู้หรือไม่มีเหตุอันควรรู้ถึงการจดทะเบียนนั้น ทั้งนี้ โดยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๙ ทวิ

(๓) การเตรียมยาเฉพาะรายตามใบสั่งแพทย์ โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบโรคศิลปะ รวมทั้งการกระทำต่อผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าว

(๔) การกระทำใด ๆ เกี่ยวกับการขอขึ้นทะเบียนยา โดยผู้ขอมีวัตถุประสงค์ที่จะผลิต จำหน่าย หรือนำเข้าซึ่งผลิตภัณฑ์ยาตามสิทธิบัตรหลังจากสิทธิบัตรดังกล่าวสิ้นอายุลง

(๕) การใช้อุปกรณ์ซึ่งเป็นการประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับตัวเรือ เครื่องจักร หรืออุปกรณ์อื่นของเรือของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิบัตรซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ในกรณีที่เรือดังกล่าวได้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวหรือโดยอุบัติเหตุ และจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าวกับเรือนั้น

(๖) การใช้อุปกรณ์ซึ่งเป็นการประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับการสร้างการทำงาน หรืออุปกรณ์อื่นของอากาศยาน หรือยานพาหนะของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิบัตรซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ในกรณีที่อากาศยานหรือยานพาหนะดังกล่าวได้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวหรือโดยอุบัติเหตุ

(๗) การใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร หากผู้ทรงสิทธิบัตรได้อนุญาต หรือยินยอมให้ผลิต หรือขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว

 

๓๖ ทวิ สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรตามมาตรา ๓๖ ในการประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรมีขอบเขตดังระบุในข้อถือสิทธิ ในการวินิจฉัยขอบเขตของการประดิษฐ์ตามข้อถือสิทธิ ให้พิจารณาลักษณะของการประดิษฐ์ที่ระบุในรายละเอียดการประดิษฐ์และรูปเขียนประกอบด้วย

ขอบเขตของการประดิษฐ์ที่ได้รับความคุ้มครองย่อมคลุมถึงลักษณะของการประดิษฐ์ที่แม้จะมิได้ระบุในข้อถือสิทธิโดยเฉพาะเจาะจง แต่เป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติประโยชน์ใช้สอย และทำให้เกิดผลทำนองเดียวกับลักษณะของการประดิษฐ์ที่ระบุไว้ในข้อถือสิทธิตามความเห็นของบุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญในศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์นั้น

 

มาตรา ๓๗ ผู้ทรงสิทธิบัตรมีสิทธิใช้คำว่า”สิทธิบัตรไทย”หรือ อักษร สบท. หรืออักษรต่างประเทศที่มีความหมายเช่นเดียวกัน ให้ปรากฏที่ผลิตภัณฑ์ ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อของผลิตภัณฑ์ หรือในการโฆษณาการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตร

การใช้คำหรืออักษรตามวรรคหนึ่งต้องระบุหมายเลขสิทธิบัตรไว้ด้วย

 

มาตรา ๓๘ ผู้ทรงสิทธิบัตรจะอนุญาตให้บุคคลใดใช้สิทธิตามสิทธิบัตรของตนตามมาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ หรือจะโอนสิทธิบัตรให้แก่บุคคลอื่นก็ได้

 

มาตรา ๓๙ การอนุญาตให้ใช้สิทธิตามมาตรา ๓๘ นั้น

(๑) ผู้ทรงสิทธิบัตรจะกำหนดเงื่อนไข ข้อจำกัดสิทธิหรือค่าตอบแทนในลักษณะที่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่ชอบธรรมไม่ได้

เงื่อนไข ข้อจำกัดสิทธิ หรือค่าตอบแทนในลักษณะที่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่ชอบธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๒) ผู้ทรงสิทธิบัตรจะกำหนดให้ผู้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรชำระค่าตอบแทนสำหรับการใช้การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรหลังจากสิทธิบัตรหมดอายุตามมาตรา ๓๕ ไม่ได้

การกำหนดเงื่อนไข ข้อจำกัดสิทธิ หรือค่าตอบแทนที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรานี้เป็นโมฆะ

 

มาตรา ๔๐ ภายใต้บังคับมาตรา ๔๒ ในกรณีที่มีผู้ทรงสิทธิบัตรร่วมกันถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ผู้ทรงสิทธิบัตรร่วมแต่ละคนมีสิทธิใช้สิทธิตามมาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ทรงสิทธิบัตรร่วมคนอื่น แต่การอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรือการโอนสิทธิบัตรตามมาตรา ๓๘ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ทรงสิทธิบัตรร่วมทุกคน

 

มาตรา ๔๑ การอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรและการโอนสิทธิบัตรตามมาตรา ๓๘ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

ในกรณีที่อธิบดีเห็นว่าข้อความใดในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๙ ให้อธิบดีเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ถ้าคณะกรรมการวินิจฉัยว่าสัญญานั้นขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๙ ให้อธิบดีสั่งไม่รับจดทะเบียนสัญญานั้น เว้นแต่คู่สัญญาจะมีเจตนาให้ส่วนที่สมบูรณ์แห่งสัญญานั้นแยกจากส่วนที่ไม่สมบูรณ์ได้ ในกรณีนั้นอธิบดีจะสั่งรับจดทะเบียนสัญญาบางส่วนก็ได้

(ยกเลิก)

 

มาตรา ๔๒ การขอจดทะเบียนการรับโอนสิทธิบัตรโดยทางมรดกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

 

ส่วนที่ ๔

การชำระค่าธรรมเนียมรายปี

 

 

มาตรา ๔๓ ผู้ทรงสิทธิบัตรต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เริ่มแต่ปีที่ห้า ของอายุสิทธิบัตร และต้องชำระภายในหกสิบวันนับแต่วันเริ่มต้นระยะเวลาของปีที่ห้านั้นและของทุก ๆ ปีต่อไป

ถ้าสิทธิบัตรออกภายหลังวันเริ่มต้นระยะเวลาของปีที่ห้าแห่งอายุของสิทธิบัตร การชำระค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับปีที่ห้าถึงปีที่ออกสิทธิบัตร ให้ชำระภายในหกสิบวันนับแต่วันออกสิทธิบัตร

ถ้าผู้ทรงสิทธิบัตรไม่ชำระค่าธรรมเนียมรายปีภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มร้อยละสามสิบของเงินค่าธรรมเนียมรายปี โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีพร้อมทั้งค่าธรรมเนียมเพิ่มภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นกำหนดเวลาชำระค่าธรรมเนียมรายปีตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง

เมื่อครบกำหนดเวลาตามวรรคสามแล้ว ถ้าผู้ทรงสิทธิบัตรยังไม่ชำระค่าธรรมเนียมรายปีและค่าธรรมเนียมเพิ่ม ให้อธิบดีทำรายงานต่อคณะกรรมการเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรนั้น

ในกรณีที่ผู้ทรงสิทธิบัตรร้องขอต่อคณะกรรมการภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรว่ามีเหตุจำเป็นไม่อาจชำระค่าธรรมเนียมรายปีและค่าธรรมเนียมเพิ่มภายในกำหนดเวลาตามวรรคสามได้ คณะกรรมการอาจขยายกำหนดเวลาหรือเพิกถอนคำสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรนั้นตามที่เห็นสมควรก็ได้

 

มาตรา ๔๔ ผู้ทรงสิทธิบัตรจะขอชำระค่าธรรมเนียมรายปีล่วงหน้า โดยชำระทั้งหมดในคราวเดียวแทนการชำระค่าธรรมเนียมเป็นรายปีก็ได้

ในกรณีที่ผู้ทรงสิทธิบัตรได้ชำระค่าธรรมเนียมรายปีล่วงหน้าไปแล้ว แต่ได้มีการแก้ไขอัตราค่าธรรมเนียมรายปี หรือผู้ทรงสิทธิบัตรขอคืนสิทธิบัตร หรือมีการเพิกถอนสิทธิบัตรนั้นผู้ทรงสิทธิบัตรไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีเพิ่มเติม หรือไม่มีสิทธิได้รับคืนค่าธรรมเนียมรายปีที่ได้จ่ายล่วงหน้าไปแล้วนั้น

 

ส่วนที่ ๕

การใช้สิทธิตามสิทธิบัตร

 

 

มาตรา ๔๕ ผู้ทรงสิทธิบัตรจะขอให้บันทึกคำยินยอมให้บุคคลอื่นใช้สิทธิตามสิทธิบัตรของตนลงในทะเบียนสิทธิบัตรตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงก็ได้

เมื่อได้บันทึกคำยินยอมลงในทะเบียนสิทธิบัตรแล้วและมีผู้มาขอใช้สิทธิบัตรนั้น ให้อธิบดีอนุญาตให้บุคคลซึ่งขอใช้สิทธิตามสิทธิบัตรนั้นใช้สิทธิตามสิทธิบัตรได้ ตามเงื่อนไขข้อจำกัดสิทธิและค่าตอบแทนในการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร ที่ผู้ทรงสิทธิบัตรและผู้ขอใช้สิทธิตามสิทธิบัตรตกลงกัน หากทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ภายในระยะเวลาที่อธิบดีกำหนดให้อธิบดีกำหนดเงื่อนไข ข้อจำกัดสิทธิและค่าตอบแทนตามที่อธิบดีพิจารณาเห็นสมควร

คำวินิจฉัยของอธิบดีตามวรรคสอง คู่กรณีอาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้น คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

การขอใช้สิทธิและการอนุญาตตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

เมื่อได้มีการบันทึกคำยินยอมตามวรรคหนึ่ง ให้ลดค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับสิทธิบัตรนั้นลงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมรายปี

 

มาตรา ๔๖ เมื่อพ้นกำหนดสามปีนับแต่วันออกสิทธิบัตรหรือสี่ปีนับแต่วันยื่นขอรับสิทธิบัตรแล้วแต่ระยะเวลาใดจะสิ้นสุดลงทีหลัง บุคคลอื่นจะยื่นคำขอใช้สิทธิตามสิทธิบัตรนั้นต่ออธิบดีก็ได้ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ยื่นคำขอมีพฤติการณ์แสดงว่าผู้ทรงสิทธิบัตรไม่ใช้สิทธิโดยชอบดังต่อไปนี้

(๑) ไม่มีการผลิตผลิตภัณฑ์หรือไม่มีการใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรภายในราชอาณาจักรโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือ

(๒) ไม่มีการขายผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร หรือมีการขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในราคาสูงเกินควรหรือไม่พอสนองความต้องการของประชาชนภายในราชอาณาจักรโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีตาม (๑) หรือ (๒) ผู้ขอใช้สิทธิจะต้องแสดงว่าผู้ขอได้พยายามขออนุญาตใช้สิทธิตามสิทธิบัตรจากผู้ทรงสิทธิบัตรโดยได้เสนอเงื่อนไขและค่าตอบแทนที่เพียงพอตามพฤติการณ์แห่งกรณีแล้ว แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ภายในระยะเวลาอันสมควร

การขอใช้สิทธิตามสิทธิบัตรให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

 

มาตรา ๔๖ ทวิ (ยกเลิก

 

มาตรา ๔๗ ถ้าการใช้สิทธิตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรใดอาจมีผลเป็นการละเมิดข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรอื่น ผู้ทรงสิทธิบัตรซึ่งประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าวจะยื่นคำขอใช้สิทธิตามสิทธิบัตรอื่นต่ออธิบดีก็ได้ ภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(๑) การประดิษฐ์ของผู้ขอใช้สิทธิเป็นการประดิษฐ์ที่มีความก้าวหน้าอย่างสำคัญทางเทคโนโลยีซึ่งเป็นผลดีทางด้านเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับการประดิษฐ์ของสิทธิบัตรที่ขอใช้

(๒) ผู้ทรงสิทธิบัตรมีสิทธิที่จะใช้สิทธิตามสิทธิบัตรของผู้ขอใช้สิทธิภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสมในการขอใช้สิทธินั้น

(๓) ผู้ขอใช้สิทธิไม่อาจโอนการใช้สิทธิดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่จะเป็นการโอนไปพร้อมกับสิทธิบัตรของตน

ทั้งนี้ ผู้ขอใช้สิทธิจะต้องแสดงว่าได้พยายามขออนุญาตใช้สิทธิตามสิทธิบัตรจากผู้ทรงสิทธิบัตรนั้นโดยได้เสนอเงื่อนไขและค่าตอบแทนที่เพียงพอตามพฤติการณ์แห่งกรณีแล้ว แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ภายในระยะเวลาอันสมควร

การขอใช้สิทธิตามสิทธิบัตรให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

 

มาตรา ๔๗ ทวิ ถ้าการใช้สิทธิตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ตามมาตรา ๔๖ อาจมีผลเป็นการละเมิดข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรของบุคคลอื่นอีก ผู้ขอใช้สิทธิตามมาตรา ๔๖ จะยื่นคำขอใช้สิทธิตามสิทธิบัตรอื่นนั้นต่ออธิบดีก็ได้ ภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(๑) การประดิษฐ์ของผู้ขอใช้สิทธิเป็นการประดิษฐ์ที่มีความก้าวหน้าอย่างสำคัญทางเทคโนโลยีซึ่งเป็นผลดีทางด้านเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับการประดิษฐ์ของสิทธิบัตรที่ขอใช้

(๒) ผู้ขอใช้สิทธิไม่อาจโอนการใช้สิทธิดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น

ทั้งนี้ ผู้ขอใช้สิทธิจะต้องแสดงว่าได้พยายามขออนุญาตใช้สิทธิตามสิทธิบัตรจากผู้ทรงสิทธิบัตรนั้น โดยได้เสนอเงื่อนไขและค่าตอบแทนที่เพียงพอตามพฤติการณ์แห่งกรณีแล้วแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ภายในระยะเวลาอันสมควร

การขอใช้สิทธิตามสิทธิบัตรให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

 

มาตรา ๔๘ ผู้ทรงสิทธิบัตรมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนในการขอใช้สิทธิตามมาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ และมาตรา ๔๗ ทวิ

สำหรับผู้ได้รับอนุญาตแต่เพียงผู้เดียวให้ใช้สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรตามมาตรา ๓๘ มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนในการขอใช้สิทธิตามมาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ หรือมาตรา ๔๗ ทวิ ได้ ในกรณีนี้ผู้ทรงสิทธิบัตรไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน

 

มาตรา ๔๙ ในการยื่นคำขอใช้สิทธิตามมาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ หรือมาตรา ๔๗ ทวิ ผู้ขอใช้สิทธิต้องเสนอค่าตอบแทน เงื่อนไขในการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรและข้อจำกัดสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรและผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรตามมาตรา ๔๘ วรรคสอง พร้อมกับคำขอใช้สิทธิ สำหรับกรณีการขอใช้สิทธิตามมาตรา ๔๗ ผู้ขอใช้สิทธิต้องยินยอมอนุญาตให้ผู้ทรงสิทธิบัตรที่ตนขอใช้สิทธิเป็นผู้มีสิทธิใช้สิทธิตามสิทธิบัตรของตนเป็นการตอบแทนด้วย

เมื่อได้รับคำขอใช้สิทธิตามมาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ หรือมาตรา ๔๗ ทวิ แล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งกำหนดวันสอบสวนคำขอไปยังผู้ขอใช้สิทธิ ผู้ทรงสิทธิบัตรและผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรตามมาตรา ๔๘ วรรคสอง ในการนี้ ให้ส่งสำเนาคำขอไปยังผู้ทรงสิทธิบัตรและผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรตามมาตรา ๔๘ วรรคสองด้วย

ในการสอบสวนตามวรรคสอง พนักงานเจ้าหน้าที่จะเรียกผู้ขอใช้สิทธิผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรตามมาตรา ๔๘ วรรคสอง มาให้ถ้อยคำชี้แจง ให้ส่งเอกสาร หรือสิ่งใดเพิ่มเติมก็ได้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการสอบสวนและอธิบดีได้วินิจฉัยแล้ว ให้แจ้งคำวินิจฉัยไปยังผู้ขอใช้สิทธิผู้ทรงสิทธิบัตรและผู้รับได้อนุญาตให้ใช้สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรตามมาตรา ๔๘ วรรคสอง

คำวินิจฉัยของอธิบดีตามวรรคสาม คู่กรณีอาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้น

 

มาตรา ๕๐ เมื่ออธิบดีวินิจฉัยว่าผู้ขอใช้สิทธิตามมาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ หรือมาตรา ๔๗ ทวิ เป็นผู้สมควรได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรได้ ให้อธิบดีกำหนดค่าตอบแทนเงื่อนไขในการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร และข้อจำกัดสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรและผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรตามมาตรา ๔๘ วรรคสอง ตามที่ผู้ทรงสิทธิบัตรและผู้ได้รับอนุญาตได้ตกลงกัน และในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ภายในระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด ให้อธิบดีกำหนดค่าตอบแทน เงื่อนไขในการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร และข้อจำกัดสิทธิดังกล่าวตามที่อธิบดีพิจารณาเห็นสมควร ภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(๑) ขอบเขตและระยะเวลาที่อนุญาตต้องไม่เกินกว่าพฤติการณ์อันจำเป็น

(๒) ผู้ทรงสิทธิบัตรมีสิทธิที่จะอนุญาตให้ผู้รับอนุญาตรายอื่นใช้สิทธิตามสิทธิบัตรของตนด้วยก็ได้

(๓) ผู้รับอนุญาตไม่มีสิทธิโอนใบอนุญาตให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่จะโอนกิจการหรือชื่อเสียงในทางการค้า โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้สิทธินั้นด้วย

(๔) การอนุญาตจะต้องมุ่งสนองความต้องการของประชาชนภายในราชอาณาจักรเป็นสำคัญ

(๕) ค่าตอบแทนที่กำหนดจะต้องเพียงพอต่อพฤติการณ์แห่งกรณี

เมื่ออธิบดีได้กำหนดค่าตอบแทน เงื่อนไขในการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรและข้อจำกัดสิทธิดังกล่าวแล้ว ให้อธิบดีสั่งให้ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรนั้น

คำสั่งของอธิบดีตามวรรคหนึ่ง คู่กรณีอาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้น

การออกใบอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

 

มาตรา ๕๐ ทวิ ใบอนุญาตให้ใช้สิทธิที่ออกให้ด้วยเหตุตามมาตรา ๔๖ อาจยกเลิกได้หากปรากฏว่าเหตุแห่งการอนุญาตได้หมดสิ้นไปและไม่อาจเกิดขึ้นได้อีก และการยกเลิกดังกล่าวจะไม่กระทบกระเทือนสิทธิหรือผลประโยชน์ที่ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิได้รับตามใบอนุญาตให้ใช้สิทธินั้น

การขอให้ยกเลิกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๙ วรรคสองและวรรคสาม และมาตรา ๕๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๕๑ เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการอันเป็นสาธารณูปโภคหรือการอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ หรือการสงวนรักษาหรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม หรือป้องกันหรือบรรเทาการขาดแคลนอาหาร ยาหรือสิ่งอุปโภคบริโภคอย่างอื่นอย่างรุนแรง หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น กระทรวง ทบวง กรม อาจใช้สิทธิตามสิทธิบัตรอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๓๖ โดยกระทำการดังกล่าวเองหรือให้บุคคลอื่นกระทำแทน ในการใช้สิทธิดังกล่าว กระทรวง ทบวง กรม จะต้องเสียค่าตอบแทนแก่ผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรตามมาตรา ๔๘ วรรคสอง และจะต้องแจ้งให้ผู้ทรงสิทธิบัตรทราบเป็นหนังสือโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ โดยไม่อยู่ภายใต้บังคับเงื่อนไขในมาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ และมาตรา ๔๗ ทวิ

ในการนี้ให้ยื่นคำขอเสนอค่าตอบแทนและเงื่อนไขในการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรต่ออธิบดี การกำหนดค่าตอบแทนให้เป็นไปตามความตกลงระหว่างกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งประสงค์ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรกับผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร และให้นำมาตรา ๕๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๕๒ ในภาวะสงครามหรือในภาวะฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งใช้สิทธิตามสิทธิบัตรใด ๆ ก็ได้เพื่อการอันจำเป็นในการป้องกันประเทศและรักษาความมั่นคงแห่งชาติ โดยเสียค่าตอบแทนที่เป็นธรรมแก่ผู้ทรงสิทธิบัตร และต้องแจ้งให้ผู้ทรงสิทธิบัตรทราบเป็นหนังสือโดยไม่ชักช้า

ผู้ทรงสิทธิบัตรมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวหรือจำนวนค่าตอบแทนต่อศาลภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้น

 

ส่วนที่ ๖

การคืนสิทธิบัตร การเลิกข้อถือสิทธิ และการเพิกถอนสิทธิบัตร

 

 

มาตรา ๕๓ ผู้ทรงสิทธิบัตรจะขอคืนสิทธิบัตรหรือเลิกข้อถือสิทธิบางข้อก็ได้ โดยทำตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

การขอคืนสิทธิบัตรหรือเลิกข้อถือสิทธิบางข้อตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีผู้ทรงสิทธิบัตรร่วม ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ทรงสิทธิบัตรร่วมทุกคน หรือถ้ามีการอนุญาตให้บุคคลใดใช้สิทธิตามสิทธิบัตรตามมาตรา ๓๘ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ หรือมาตรา ๔๗ ทวิ ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้นด้วย

 

มาตรา ๕๔ สิทธิบัตรใดได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยมาตรา ๕ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ หรือมาตรา ๑๔ ให้ถือว่าสิทธิบัตรนั้นไม่สมบูรณ์

ความไม่สมบูรณ์ตามวรรคหนึ่ง บุคคลใดจะกล่าวอ้างขึ้นก็ได้ หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการจะฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรนั้นก็ได้

 

มาตรา ๕๕ อธิบดีอาจขอให้คณะกรรมการสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) ในกรณีที่มีการออกใบอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรใด ตามมาตรา ๕๐ แล้ว ปรากฏว่าเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาตดังกล่าว ผู้ทรงสิทธิบัตรผู้รับอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิบัตร หรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตร มิได้ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์หรือไม่มีการใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรนั้นในราชอาณาจักรโดยไม่มีเหตุผลอันควร หรือในขณะนั้นไม่มีผู้ใดขายหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรนั้น หรือมีการขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในราคาสูงเกินควร และอธิบดีเห็นว่ามีเหตุอันควรที่จะเพิกถอนสิทธิบัตรดังกล่าว

(๒) ผู้ทรงสิทธิบัตรได้อนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยฝ่าฝืนมาตรา ๔๑

ก่อนการขอให้คณะกรรมการสั่งเพิกถอนสิทธิบัตร ให้อธิบดีมีคำสั่งให้ทำการสอบสวนข้อเท็จจริง และแจ้งคำสั่งให้ผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรทราบเพื่อยื่นคำแถลงแสดงเหตุผลของตน การยื่นคำแถลงดังกล่าวต้องยื่นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งอธิบดีจะเรียกให้บุคคลใดมาให้ถ้อยคำชี้แจงหรือให้ส่งเอกสารหรือสิ่งใดเพิ่มเติมก็ได้

เมื่ออธิบดีได้ทำการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่ามีเหตุผลสมควรให้เพิกถอนสิทธิบัตร ให้อธิบดีทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิบัตร

 

ส่วนที่ ๗

มาตรการสำหรับสิทธิบัตรยา

 

 

มาตรา ๕๕ ทวิ (ยกเลิก)

 

มาตรา ๕๕ ตรี (ยกเลิก)

 

มาตรา ๕๕ จัตวา (ยกเลิก)

 

มาตรา ๕๕ เบญจ (ยกเลิก)

 

มาตรา ๕๕ ฉ (ยกเลิก)

 

มาตรา ๕๕ สัตต (ยกเลิก)

 

หมวด ๓

สิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์

 

 

มาตรา ๕๖ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัตินี้ได้ ต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรม

 

มาตรา ๕๗ การออกแบบผลิตภัณฑ์ดังต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่

(๑) แบบผลิตภัณฑ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร

(๒) แบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญ หรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร

(๓) แบบผลิตภัณฑ์ที่เคยมีประกาศโฆษณาตามมาตรา ๖๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๘ มาแล้วก่อนวันขอรับสิทธิบัตร

(๔) แบบผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวใน (๑) (๒) หรือ (๓) จนเห็นได้ว่าเป็นการเลียนแบบ

 

มาตรา ๕๘ การออกแบบผลิตภัณฑ์ดังต่อไปนี้ขอรับสิทธิบัตรไม่ได้

(๑) แบบผลิตภัณฑ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

(๒) แบบผลิตภัณฑ์ที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

 

มาตรา ๕๙ การขอรับสิทธิบัตร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

คำขอรับสิทธิบัตรให้มีรายการดังต่อไปนี้

(๑) ภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์

(๒) ข้อความระบุผลิตภัณฑ์ที่จะใช้กับแบบผลิตภัณฑ์ที่ขอรับสิทธิบัตร

(๓) ข้อถือสิทธิโดยชัดแจ้ง

(๔) รายการอื่นตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

 

มาตรา ๖๐ คำขอรับสิทธิบัตรแต่ละฉบับ ให้ขอได้เฉพาะแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับผลิตภัณฑ์อย่างเดียว

การกำหนดผลิตภัณฑ์ตามวรรคหนึ่งให้รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๖๐ ทวิ บุคคลตามมาตรา ๑๔ ที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้นอกราชอาณาจักร ถ้ายื่นขอรับสิทธิบัตรสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นในราชอาณาจักรภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรนอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก บุคคลนั้นจะขอให้ระบุว่าวันที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรนอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรกเป็นวันที่ได้ยื่นคำขอในราชอาณาจักรก็ได้

 

มาตรา ๖๑ เมื่อได้ประกาศโฆษณาตามมาตรา ๖๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๘ แล้ว แต่ก่อนที่อธิบดีสั่งให้รับจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์และออกสิทธิบัตร ถ้าปรากฏว่าคำขอรับสิทธิบัตรไม่ชอบด้วยมาตรา ๕๖ มาตรา ๕๘ หรือมาตรา ๖๕ ประกอบด้วยมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๔ ให้อธิบดีสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตร และให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งคำสั่งไปยังผู้ขอรับสิทธิบัตรและผู้คัดค้านตามมาตรา ๖๕ ประกอบด้วยมาตรา ๓๑ พร้อมทั้งปิดสำเนาคำสั่งไว้ ณ สถานที่รับคำขอรับสิทธิบัตรด้วย

ในกรณีอธิบดีมีคำสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตรตามวรรคหนึ่งและมีผู้คัดค้านตามมาตรา ๖๕ ประกอบด้วยมาตรา ๓๑ ให้อธิบดีพิจารณาคำคัดค้านของผู้คัดค้านต่อไป ตามมาตรา ๖๕ ประกอบด้วยมาตรา ๓๒

 

มาตรา ๖๒ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุสิบปีนับแต่วันขอรับสิทธิบัตรในราชอาณาจักร ในกรณีที่มีการดำเนินคดีทางศาลตามมาตรา ๖๕ ประกอบด้วยมาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๗๔ มิให้นับระยะเวลาในระหว่างการดำเนินคดีดังกล่าวเป็นอายุของสิทธิบัตรนั้น

 

มาตรา ๖๒ ทวิ การกระทำที่ขัดต่อมาตรา ๖๓ ก่อนวันออกสิทธิบัตรมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร เว้นแต่จะเป็นการกระทำต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ขอรับสิทธิบัตรและได้มีการประกาศโฆษณาคำขอดังกล่าวตามมาตรา ๖๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๘ แล้ว โดยบุคคลผู้กระทำรู้ว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นได้มีการยื่นขอรับสิทธิบัตรไว้แล้วหรือได้รับคำบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นได้มีการยื่นขอรับสิทธิบัตรไว้แล้ว ในกรณีเช่นนี้ ผู้ขอรับสิทธิบัตรมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากบุคคลผู้ฝ่าฝืนสิทธินั้น การเรียกค่าเสียหายดังกล่าวให้ยื่นฟ้องต่อศาลหลังจากที่ได้มีการออกสิทธิบัตรให้แก่ผู้ขอรับสิทธิบัตรแล้ว

 

มาตรา ๖๓ ผู้ทรงสิทธิบัตรเท่านั้นมีสิทธิใช้แบบผลิตภัณฑ์กับผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร หรือขาย หรือมีไว้เพื่อขาย หรือเสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ใช้แบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เว้นแต่การใช้แบบผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์ในการศึกษาหรือวิจัย

 

มาตรา ๖๔ สิทธิบัตรใดได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยมาตรา ๕๖ มาตรา ๕๘ หรือมาตรา ๖๕ ประกอบด้วยมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๔ ให้ถือว่าสิทธิบัตรนั้นไม่สมบูรณ์

ความไม่สมบูรณ์ตามวรรคหนึ่ง บุคคลใดจะกล่าวอ้างขึ้นก็ได้ หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรนั้นก็ได้

 

มาตรา ๖๕ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๗ มาตรา ๓๘ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๔ และมาตรา ๕๓ ในหมวด ๒ ว่าด้วยสิทธิบัตรการประดิษฐ์มาใช้บังคับในหมวด ๓ ว่าด้วยสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยอนุโลม

 

 

หมวด ๓ ทวิ

อนุสิทธิบัตร

 

 

มาตรา ๖๕ ทวิ การประดิษฐ์ที่ขอรับอนุสิทธิบัตรได้ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้

(๑) เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่

(๒) เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม

 

มาตรา ๖๕ ตรี บุคคลใดจะขอรับทั้งอนุสิทธิบัตรและสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์อย่างเดียวกันไม่ได้

 

มาตรา ๖๕ จัตวา ผู้ขอรับอนุสิทธิบัตรหรือผู้ขอรับสิทธิบัตรมีสิทธิขอเปลี่ยนแปลงประเภทของสิทธิที่จะขอรับจากอนุสิทธิบัตรเป็นสิทธิบัตร หรือจากสิทธิบัตรเป็นอนุสิทธิบัตรได้ก่อนการจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกอนุสิทธิบัตร หรือก่อนการประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรตามมาตรา ๒๘ แล้วแต่กรณี และผู้ขอมีสิทธิให้ถือว่าเอาวันยื่นคำขอเดิมเป็นวันยื่นคำขอ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

 

มาตรา ๖๕ เบญจ ในการจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกอนุสิทธิบัตรให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำขอรับอนุสิทธิบัตรให้ถูกต้องตามมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๑๗ และตรวจสอบว่าการประดิษฐ์นั้นได้รับการคุ้มครองตามมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๙ หรือไม่ และทำรายงานการตรวจสอบเสนอต่ออธิบดี

(๑) ถ้าอธิบดีพิจารณาเห็นว่า คำขอรับอนุสิทธิบัตรไม่ถูกต้องตามมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๑๗ หรือการประดิษฐ์นั้นไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๙ ให้อธิบดีสั่งยกคำขอรับอนุสิทธิบัตรนั้นและให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งคำสั่งโดยทางไปรษณีย์ ลงทะเบียนตอบรับไปยังผู้ขอรับอนุสิทธิบัตรหรือโดยวิธีการอื่นที่อธิบดีกำหนดภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่อธิบดีมีคำสั่ง

(๒) ถ้าอธิบดีพิจารณาเห็นว่า คำขอรับอนุสิทธิบัตรถูกต้องตามมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๑๗ และการประดิษฐ์นั้นได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๙ ให้อธิบดีมีคำสั่งให้จดทะเบียนการประดิษฐ์และออกอนุสิทธิบัตรและก่อนการจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกอนุสิทธิบัตร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งผู้ขอรับอนุสิทธิบัตรเพื่อให้ผู้ขอรับอนุสิทธิบัตรชำระค่าธรรมเนียมการออกอนุสิทธิบัตรและค่าธรรมเนียมการประกาศโฆษณา ตามวิธีการและระยะเวลาที่กำหนดในมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๒๘ (๒)

อนุสิทธิบัตรให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

 

มาตรา ๖๕ ฉ ภายในหนึ่งปีนับจากวันประกาศโฆษณาการจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกอนุสิทธิบัตร บุคคลผู้มีส่วนได้เสียอาจขอให้ตรวจสอบว่าการประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรมีลักษณะตามที่กำหนดในมาตรา ๖๕ ทวิ หรือไม่ก็ได้

เมื่อได้รับคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการประดิษฐ์ และทำรายงานการตรวจสอบเสนอต่ออธิบดี

เมื่ออธิบดีพิจารณารายงานการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคสองแล้ว เห็นว่าการประดิษฐ์นั้นมีลักษณะตามที่กำหนดในมาตรา ๖๕ ทวิ ให้อธิบดีแจ้งให้ผู้ขอให้ตรวจสอบและผู้ทรงอนุสิทธิบัตรทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่อธิบดีมีคำวินิจฉัย

ในกรณีที่อธิบดีเห็นว่าการประดิษฐ์นั้นไม่มีลักษณะตามที่กำหนดในมาตรา ๖๕ ทวิ ให้อธิบดีมีคำสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริง และแจ้งคำสั่งให้ผู้ทรงอนุสิทธิบัตรทราบ เพื่อยื่นคำแถลงแสดงเหตุผลของตนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง และอธิบดีจะเรียกให้บุคคลใดมาให้ถ้อยคำ ชี้แจงหรือให้ส่งเอกสารหรือสิ่งใดเพิ่มเติมก็ได้ และเมื่อได้สอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จแล้ว ถ้าอธิบดีพิจารณาเห็นว่าการประดิษฐ์นั้นไม่มีลักษณะตามที่กำหนดในมาตรา ๖๕ ทวิ ให้อธิบดีทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้น และแจ้งให้ผู้ขอให้ตรวจสอบและผู้ทรงอนุสิทธิบัตรทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่คณะกรรมการมีคำสั่ง

 

มาตรา ๖๕ สัตต อนุสิทธิบัตรให้มีอายุหกปีนับแต่วันขอรับอนุสิทธิบัตรในราชอาณาจักรในกรณีที่มีการดำเนินคดีทางศาลตามมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๑๖ มาตรา ๗๔ หรือมาตรา ๗๗ ฉ มิให้นับระยะเวลาในระหว่างการดำเนินคดีดังกล่าวเป็นอายุของอนุสิทธิบัตรนั้น

ผู้ทรงอนุสิทธิบัตรอาจขอต่ออายุอนุสิทธิบัตรได้สองคราวมีกำหนดคราวละสองปีโดยให้ยื่นคำขอต่ออายุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันก่อนวันสิ้นอายุเมื่อได้ยื่นคำขอต่ออายุภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าอนุสิทธิบัตรนั้นยังคงจดทะเบียนอยู่จนกว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

การขอต่ออายุอนุสิทธิบัตร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด

 

มาตรา ๖๕ อัฏฐ ผู้ทรงอนุสิทธิบัตรมีสิทธิใช้คำว่า “อนุสิทธิบัตรไทย” หรืออักษร อสบท. หรืออักษรต่างประเทศที่มีความหมายเช่นเดียวกันให้ปรากฏที่ผลิตภัณฑ์ภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อของผลิตภัณฑ์ หรือในการโฆษณาการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตร

การใช้คำหรืออักษรตามวรรคหนึ่งต้องระบุหมายเลขอนุสิทธิบัตรไว้ด้วย

 

มาตรา ๖๕ นว อนุสิทธิบัตรใดได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยมาตรา ๖๕ ทวิ มาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ หรือมาตรา ๑๔ ให้ถือว่าอนุสิทธิบัตรนั้นไม่สมบูรณ์

ความไม่สมบูรณ์ตามวรรคหนึ่งบุคคลใดจะกล่าวอ้างขึ้นก็ได้ หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการจะฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้นก็ได้

 

มาตรา ๖๕ ทศ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๖ มาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๑๙ ทวิ มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๕ ทวิ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๖ ทวิ มาตรา ๓๘ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๔ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ มาตรา ๔๗ ทวิ มาตรา ๔๘ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๐ ทวิ มาตรา ๕๑ มาตรา ๕๒ มาตรา ๕๓ และมาตรา ๕๕ ในหมวด ๒ ว่าด้วยสิทธิบัตรการประดิษฐ์ มาใช้บังคับในหมวด ๓ ทวิ ว่าด้วยอนุสิทธิบัตรโดยอนุโลม

 

หมวด ๔

คณะกรรมการสิทธิบัตร

 

 

มาตรา ๖๖ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการสิทธิบัตร” ประกอบด้วยปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ อุตสาหกรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตรศาสตร์ เภสัชศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และนิติศาสตร์อีกไม่เกินสิบสองคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยในจำนวนนี้ให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชนไม่น้อยกว่าหกคน

คณะกรรมการจะแต่งตั้งบุคคลใดเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการก็ได้

 

มาตรา ๖๗ กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี

ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งหรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่งให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้

 

มาตรา ๖๘ กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก

(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือ

(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

 

มาตรา ๖๙ การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุมถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก

กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

 

มาตรา ๗๐ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

(๑) ให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้

(๒) วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีเกี่ยวกับสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรตามมาตรา ๔๑ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๕ มาตรา ๖๕ ฉ หรือมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๔๕ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๗๒

(๓) ปฏิบัติการอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

(๔) พิจารณาเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย

 

มาตรา ๗๑ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ และให้นำความในมาตรา ๖๙ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

 

มาตรา ๗๒ ในกรณีที่มีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีตามมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๕ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๖๑ หรือมาตรา ๖๕ ประกอบด้วยมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๕ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ หรือมาตรา ๖๕ เบญจ หรือมาตรา ๖๕ ฉ หรือมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๕ มาตรา ๔๙ หรือมาตรา ๕๐ ผู้มีส่วนได้เสียตามมาตราดังกล่าวมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดี ถ้าไม่อุทธรณ์ภายในระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีเป็นที่สุด

การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้ามีคู่กรณีให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งสำเนาอุทธรณ์ไปยังคู่กรณีด้วย

 

มาตรา ๗๓ ในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยของอธิบดี หรือพิจารณารายงานการสอบสวนของอธิบดีตามมาตรา ๕๕ หรือมาตรา ๖๕ ฉ หรือรายงานของอธิบดีตามมาตรา ๔๓ หรือมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๔๓ เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร คณะกรรมการจะให้ผู้คัดค้าน หรือผู้โต้แย้ง หรือผู้ทรงสิทธิบัตร หรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตร หรือผู้ขอให้ตรวจสอบอนุสิทธิบัตร หรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรหรือตามอนุสิทธิบัตร แล้วแต่กรณีนำพยานหลักฐานมาแสดงหรือแถลงเพิ่มเติมก็ได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

 

มาตรา ๗๔ เมื่อคณะกรรมการได้วินิจฉัยหรือมีคำสั่งตามมาตรา ๔๑ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๕ หรือมาตรา ๖๕ ฉ หรือมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๔๑ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๕ หรือมาตรา ๗๒ แล้ว ให้แจ้งคำวินิจฉัยหรือคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลไปยังผู้อุทธรณ์และคู่กรณี หรือผู้ทรงสิทธิบัตร หรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตร หรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรือตามอนุสิทธิบัตร แล้วแต่กรณี คู่กรณีฝ่ายใดไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยหรือคำสั่งนั้น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง ถ้าไม่ดำเนินคดีภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการเป็นที่สุด

ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามพระราชบัญญัตินี้ ห้ามมิให้ศาลสั่งให้คณะกรรมการหรืออธิบดีเสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนฝ่ายอื่น

 

หมวด ๕

เบ็ดเตล็ด

 

 

มาตรา ๗๕ ห้ามมิให้บุคคลใดซึ่งไม่มีสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้ใช้คำว่า “สิทธิบัตรไทย” “อนุสิทธิบัตรไทย” หรืออักษร สบท. หรือ อสบท. หรืออักษรต่างประเทศที่มีความหมายเช่นเดียวกัน หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกันให้ปรากฏที่ผลิตภัณฑ์ภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อของผลิตภัณฑ์ หรือในการโฆษณา การประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ใด ๆ

 

มาตรา ๗๖ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้คำว่า “รอรับสิทธิบัตร” หรือ “รอรับอนุสิทธิบัตร” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน ให้ปรากฏที่ผลิตภัณฑ์ ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อของผลิตภัณฑ์ หรือในการโฆษณา การประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ใด ๆ เว้นแต่เป็นผู้ขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรและยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคำขอนั้น

 

มาตรา ๗๗ ในกรณีที่ผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรในกรรมวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์ฟ้องผู้ฝ่าฝืนสิทธิตามสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรของตนเป็นคดีแพ่ง หากผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรพิสูจน์ได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่จำเลยผลิตมีลักษณะเช่นเดียวกันหรือคล้ายกันกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีของผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยได้ใช้กรรมวิธีของผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตร เว้นแต่จำเลยจะพิสูจน์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น

 

มาตรา ๗๗ ทวิ ในกรณีที่มีหลักฐานโดยชัดแจ้งว่ามีผู้กระทำหรือกำลังจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นการฝ่าฝืนสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรตามมาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๖๓ หรือมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๓๖ ผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรอาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวระงับหรือละเว้นการกระทำดังกล่าวนั้นได้ การที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าวไม่ตัดสิทธิผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรที่จะเรียกค่าเสียหายตามมาตรา ๗๗ ตรี

 

มาตรา ๗๗ ตรี ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรตามมาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๖๓ หรือมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๓๖ ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของความเสียหายรวมทั้งการสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรด้วย

 

มาตรา ๗๗ จัตวา บรรดาสินค้าที่อยู่ในครอบครองของผู้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรตามมาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๖๓ หรือมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๓๖ ให้ริบเสียทั้งสิ้น ในกรณีที่ศาลเห็นสมควรอาจมีคำสั่งให้ทำลายสินค้าดังกล่าวหรือดำเนินการอย่างอื่นเพื่อป้องกันมิให้มีการนำเอาสินค้าดังกล่าวออกจำหน่ายอีกก็ได้

 

มาตรา ๗๗ เบญจ บุคคลใดขอรับหรือร่วมขอรับทั้งสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์อย่างเดียวกันโดยไม่ชอบด้วยมาตรา ๖๕ ตรี ให้ถือว่าบุคคลนั้นขอรับอนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์นั้น

 

มาตรา ๗๗ ฉ ในกรณีบุคคลหลายคนต่างทำการประดิษฐ์อย่างเดียวกันโดยไม่ได้ร่วมกันและมีบุคคลฝ่ายหนึ่งได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร แต่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งได้ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตร

(๑) ให้บุคคลซึ่งได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรหรือคำขอรับอนุสิทธิบัตรไว้ก่อนเป็นผู้มีสิทธิรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์นั้น

(๒) ถ้ามีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรในวันเดียวกันกับการยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรและผู้ขอรับอนุสิทธิบัตรทราบเพื่อให้ทำความตกลงกันว่าจะให้บุคคลใดมีสิทธิแต่ผู้เดียวหรือให้มีสิทธิร่วมกัน และจะให้คำขอรับสิทธิบัตรหรือคำขอรับอนุสิทธิบัตรเป็นคำขอสำหรับการประดิษฐ์นั้น ถ้าตกลงกันไม่ได้ภายในเวลาที่อธิบดีกำหนด ให้คู่กรณีนำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด ถ้าไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นละทิ้งคำขอรับสิทธิบัตรและละทิ้งคำขอรับอนุสิทธิบัตร

 

มาตรา ๗๗ สัตต ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศโฆษณาตามมาตรา ๒๘ หรือวันประกาศโฆษณาการจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกอนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ใดผู้ขอรับอนุสิทธิบัตร ผู้ทรงอนุสิทธิบัตร ผู้ขอรับสิทธิบัตร หรือผู้ทรงสิทธิบัตรผู้ใดเห็นว่าการจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์นั้นอาจไม่ชอบด้วยมาตรา ๖๕ ตรี เพราะการประดิษฐ์นั้นเป็นการประดิษฐ์อย่างเดียวกันกับของตนและตนได้ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรหรือยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไว้ในวันเดียวกันกับการยืนคำขอรับสิทธิบัตรหรือการยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรดังกล่าวผู้นั้นมีสิทธิขอให้ตรวจสอบว่าการประดิษฐ์นั้นได้ยื่นขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรโดยไม่ชอบด้วยมาตรา ๖๕ ตรี หรือไม่

เมื่อได้รับคำขอให้ตรวจสอบตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและทำรายงานการตรวจสอบเสนออธิบดี

เมื่ออธิบดีพิจารณารายงานการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคสองแล้ว เห็นว่าการจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์นั้นจะไม่ชอบด้วยมาตรา ๖๕ ตรี เพราะการประดิษฐ์นั้นเป็นการประดิษฐ์อย่างเดียวกัน และวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตรหรือวันยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรเป็นวันเดียวกันกับวันยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรหรือวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตรของผู้ขอให้ตรวจสอบ ให้อธิบดีแจ้งให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตร และผู้ขอให้ตรวจสอบทราบเพื่อให้ทำความตกลงกันว่าจะให้บุคคลใดมีสิทธิแต่ผู้เดียวหรือให้มีสิทธิร่วมกัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ภายในเวลาที่อธิบดีกำหนด ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นมีสิทธิร่วมกันในการประดิษฐ์นั้น

 

มาตรา ๗๗ อัฏฐ สิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรใดได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยมาตรา ๖๕ ตรี ให้ถือว่าสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรนั้นไม่สมบูรณ์

ความไม่สมบูรณ์ตามวรรคหนึ่ง บุคคลใดจะกล่าวอ้างขึ้นก็ได้

ในกรณีการจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรโดยไม่ชอบด้วยมาตรา ๖๕ ตรี และได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์นั้นในวันเดียวกันผู้ทรงสิทธิบัตรและผู้ทรงอนุสิทธิบัตร หรือผู้มีส่วนได้เสียอื่นหรือพนักงานอัยการอาจขอให้อธิบดีเรียกให้ผู้ทรงสิทธิบัตรและผู้ทรงอนุสิทธิบัตรนั้นทำความตกลงกันว่าจะให้บุคคลใดมีสิทธิแต่ผู้เดียวหรือให้มีสิทธิร่วมกัน และต้องทำความตกลงกันว่าจะเลือกให้การประดิษฐ์นั้นเป็นการประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว ถ้าตกลงกันไม่ได้ภายในเวลาที่อธิบดีกำหนด ให้ถือว่าผู้ทรงสิทธิบัตรและผู้ทรงอนุสิทธิบัตรมีสิทธิร่วมกันและให้ถือว่าการประดิษฐ์นั้นเป็นการประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตร

 

มาตรา ๗๘ สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร หรือใบอนุญาตให้ใช้สิทธิของผู้ใดสูญหายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้เจ้าของขอรับใบแทนสิทธิบัตร ใบแทนอนุสิทธิบัตร หรือใบแทนใบอนุญาตให้ใช้สิทธินั้นได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

 

มาตรา ๗๙ บรรดาคำขอ คำคัดค้าน คำโต้แย้ง และคำอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้แบบพิมพ์และมีสำเนาตามที่อธิบดีกำหนด

 

มาตรา ๘๐ บรรดาคำขอรับสิทธิบัตร คำขอรับอนุสิทธิบัตร การประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตร คำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ คำคัดค้านการขอรับสิทธิบัตรคำขอจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร คำขอจดทะเบียนรับโอนสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร คำขอเปลี่ยนแปลงสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร คำขอต่ออายุอนุสิทธิบัตร คำขอบันทึกคำยินยอมให้บุคคลอื่นใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร คำขอใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร ใบอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร คำอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดี ใบแทนสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร ใบแทนใบอนุญาตให้ใช้สิทธิ คำขออื่น ๆ การคัดสำเนาเอกสารและการรับรองสำเนาเอกสารให้เสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

 

หมวด ๖

ความผิดและกำหนดโทษ

 

 

มาตรา ๘๑ เจ้าพนักงานผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๒๓ วรรคสอง หรือมาตรา ๖๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๒๓ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๘๒ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๒ หรือมาตรา ๖๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒ หรือมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๘๓ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๓ วรรคสอง หรือมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๒๓ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๘๓ ทวิ (ยกเลิก)

 

มาตรา ๘๓ ตรี (ยกเลิก)

 

มาตรา ๘๓ จัตวา (ยกเลิก)

 

มาตรา ๘๔ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๕ หรือมาตรา ๗๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๘๕ บุคคลใดกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๖๓ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิบัตร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๘๖ บุคคลใดกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๓๖ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ทรงอนุสิทธิบัตร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๘๗ บุคคลใดยื่นขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์หรืออนุสิทธิบัตร โดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้ไปซึ่งสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๘๘ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ผู้ดำเนินกิจการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ส. โหตระกิตย์

รองนายกรัฐมนตรี

 

 

บัญชีอัตราค่าธรรมเนียม

 

 

๑. คำขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร                             ฉบับละ         ๑,๐๐๐       บาท

๒. คำขอรับสิทธิบัตรสำหรับแบบผลิตภัณฑ์อย่างเดียวกัน

และยื่นขอในคราวเดียวกันตั้งแต่ ๑๐ คำขอขึ้นไป                            ๑๐,๐๐๐       บาท

๓. การประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตร                                             ๕๐๐       บาท

๔. คำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์                                ฉบับละ           ๕๐๐       บาท

๕. คำคัดค้านการขอรับสิทธิบัตร                                   ฉบับละ         ๑,๐๐๐       บาท

๖. สิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร                                      ฉบับละ         ๑,๐๐๐       บาท

๗. ค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์

ปีที่ ๕                                                                          ๒,๐๐๐       บาท

ปีที่ ๖                                                                          ๔,๐๐๐       บาท

ปีที่ ๗                                                                          ๖,๐๐๐       บาท

ปีที่ ๘                                                                          ๘,๐๐๐       บาท

ปีที่ ๙                                                                        ๑๐,๐๐๐       บาท

ปีที่ ๑๐                                                                      ๑๒,๐๐๐       บาท

ปีที่ ๑๑                                                                      ๑๔,๐๐๐       บาท

ปีที่ ๑๒                                                                      ๑๖,๐๐๐       บาท

ปีที่ ๑๓                                                                      ๑๘,๐๐๐       บาท

ปีที่ ๑๔                                                                      ๒๐,๐๐๐       บาท

ปีที่ ๑๕                                                                      ๓๐,๐๐๐       บาท

ปีที่ ๑๖                                                                       ๔๐,๐๐๐       บาท

ปีที่ ๑๗                                                                      ๕๐,๐๐๐       บาท

ปีที่ ๑๘                                                                      ๖๐,๐๐๐       บาท

ปีที่ ๑๙                                                                      ๗๐,๐๐๐       บาท

ปีที่ ๒๐                                                                      ๘๐,๐๐๐       บาท

หรือชำระทั้งหมดในคราวเดียว                                           ๔๐๐,๐๐๐       บาท

๘. ค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์

ปีที่ ๕                                                                          ๑,๐๐๐       บาท

ปีที่ ๖                                                                          ๒,๐๐๐       บาท

ปีที่ ๗                                                                          ๓,๐๐๐       บาท

ปีที่ ๘                                                                          ๔,๐๐๐       บาท

ปีที่ ๙                                                                          ๕,๐๐๐       บาท

ปีที่ ๑๐                                                                        ๖,๐๐๐       บาท

หรือชำระทั้งหมดในคราวเดียว                                             ๒๐,๐๐๐       บาท

๙. ค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับอนุสิทธิบัตร

ปีที่ ๕                                                                          ๒,๐๐๐       บาท

ปีที่ ๖                                                                          ๔,๐๐๐       บาท

หรือชำระทั้งหมดในคราวเดียว                                               ๖,๐๐๐       บาท

๑๐. ค่าธรรมเนียมการต่ออายุอนุสิทธิบัตร

ปีที่ ๑                                                                        ๑๔,๐๐๐       บาท

ปีที่ ๒                                                                        ๒๒,๐๐๐       บาท

๑๑. คำขอจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ

ตามสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร                               ฉบับละ           ๕๐๐       บาท

๑๒. คำขอจดทะเบียนรับโอนสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร         ฉบับละ           ๕๐๐       บาท

๑๓. คำขอเปลี่ยนแปลงคำขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร      ฉบับละ           ๕๐๐       บาท

๑๔. ใบอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร         ฉบับละ         ๑,๐๐๐       บาท

๑๕. ใบแทนสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรหรือใบแทนใบ

อนุญาตให้ใช้สิทธิ                                             ฉบับละ           ๑๐๐       บาท

๑๖. คำอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดี                   ฉบับละ         ๑,๐๐๐       บาท

๑๗. การคัดสำเนาเอกสาร                                         หน้าละ             ๑๐       บาท

๑๘. การรับรองสำเนาเอกสาร

เอกสารเกิน ๑๐ หน้า                                         ฉบับละ           ๑๐๐       บาท

เอกสารไม่เกิน ๑๐ หน้า                                      ฉบับละ             ๑๐       บาท

๑๙. คำขออื่น ๆ                                                    ฉบับละ           ๑๐๐       บาท

 

 

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อส่งเสริมให้มีการค้นคว้า วิจัย และประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีใดขึ้นใหม่และการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์และเป็นการก้าวหน้าทางเทคนิคในเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชย์กรรมในประเทศ และเพื่อให้ผู้ประดิษฐ์และผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ได้รับการคุ้มครองการประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยห้ามมิให้บุคคลอื่นลอกหรือเลียนการประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์นี้โดยมิให้ค่าตอบแทน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น

 

 

 

พระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕

 

มาตรา ๓๘ สิทธิบัตรที่ออกให้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ใช้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ บังคับ

 

มาตรา ๓๙ คำขอรับสิทธิบัตรที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและอธิบดียังไม่มีคำสั่งตามมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ หรือมาตรา ๖๕ ประกอบด้วยมาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้ถือว่าเป็นคำขอตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ใช้บังคับมาจนถึงบัดนี้เป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว สถานการณ์ทั้งภายในและนอกประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปมากโดยเฉพาะการพัฒนาและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของประเทศ สมควรที่จะได้มีการปรับปรุงมาตรฐานการคุ้มครองด้านสิทธิบัตรให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวและเพื่อส่งเสริมให้มีการค้นคว้าวิจัยที่เป็นประโยชน์และเป็นการก้าวหน้าทางเทคนิคในเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

 

พระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒

 

มาตรา ๔๓ สิทธิบัตรที่ออกให้ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือที่ออกให้ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้ถือว่าเป็นสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ แต่ให้สิทธิบัตรมีอายุต่อไปได้เพียงเท่าที่มีเหลืออยู่ตามสิทธิบัตรนั้น

 

มาตรา ๔๔ คำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ และอธิบดียังไม่มีคำสั่งตามมาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ ผู้ขอมีสิทธิเปลี่ยนแปลงเป็นคำขอรับอนุสิทธิบัตรได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัยที่นานาประเทศได้ทำความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและจัดตั้งองค์การการค้าโลกได้เสร็จสิ้นลงและมีผลใช้บังคับแล้ว ทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นภาคีสมาชิกองค์การการค้าโลก มีพันธกรณีที่จะต้องออกกฎหมายอนุวัติการให้สอดคล้องกับความตกลงดังกล่าว เพื่อให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและโดยที่การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้นักประดิษฐ์ได้รับผลตอบแทนความมานะอุตสาหะอย่างเหมาะสม อันจะทำให้นักประดิษฐ์มีกำลังใจที่จะประดิษฐ์คิดค้นเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้มีบทบัญญัติว่าด้วยอนุสิทธิบัตร ซึ่งให้การคุ้มครองการประดิษฐ์ที่มีเทคโนโลยีไม่ถึงขนาดที่จะได้รับสิทธิบัตรนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สูงขึ้นและแพร่หลายยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 
ป้ายโฆษณา

รับต่อเติมบ้าน

รับติดตั้งจานดาวเที่ยม กล้องวงจรปิด

รับว่าความทั่วราชอาณาจักร

เนื้อโคขุนโพนยางคำ

Login Form


Polls

ปกติใช้คอมพิวเตอร์ for ?
 

Who's Online

เรามี 4 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

Counter

จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 2550169

RSS